ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนไร้บัตรประชาชนอาจเรียกได้ว่าเป็นคนชายขอบในชายขอบ เพราะนอกจากไม่มีสิทธิในการรับบริการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานแล้ว สิทธิในด้านอื่นๆ ก็แทบไม่มีเลย ขณะที่กลุ่มชายขอบอื่นๆ แม้อาจมีปัญหาในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็ยังมีตัวตนมีสถานะในทางทะเบียน หรือแม้แต่กลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่มาขึ้นทะเบียนในภายหลังก็ยังได้รับการดูแลจากรัฐมากกว่าเสียอีก

น.ส.โสภา คำมาสาร

น.ส.โสภา คำมาสาร ก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่มีบัตรประชาชนและต้องประสบปัญหาในการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ แม้ที่ผ่านมาเธอจะพยายามดิ้นรนขอทำบัตรประชาชนอยู่หลายครั้งแต่ก็ล้มเหลวทุกครั้งจนในที่สุดก็ได้แต่ยอมรับชะตา ปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามเวรตามกรรมกันไป

ปัจจุบันโสภามีอายุ 40 ปี เช่าบ้านอยู่กินกับสามีและลูกอีก 2 คนในหมู่บ้านจิตภาวรรณ 1 แขวงคลองถนน เขตสายไหม กทม. สองสามีภรรยาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างเย็บผ้า รายได้เดือนละไม่ถึง 10,000 บาท เธอเล่าว่า พื้นเพเดิมเป็นคน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ในตอนแรกนั้นพ่อแม่ของเธอรับจ้างเผาถ่านให้กับแม่บุญธรรม แต่ตอนเธออายุ 5-6 ขวบ พ่อและแม่มีปัญหาจึงได้แยกย้ายกันไปแล้วฝากเธอไว้กับนายจ้างโดยบอกว่าจะกลับมารับในภายหลัง แต่หลังจากนั้นก็ขาดการติดต่อไปเลย นับแต่นั้นนายจ้างที่รับฝากเธอไว้จึงกลายมาเป็นแม่บุญธรรมและให้การเลี้ยงดูเธอเรื่อยมา

นับเป็นความโชคร้ายของเธอเพราะตอนที่พ่อแม่แยกทางกันไปนั้นก็ได้ทิ้งเอกสารแจ้งเกิดไว้กับแม่บุญธรรม แต่หลังจากนั้นเกิดเพลิงไหม้บ้าน เอกสารต่างๆ จึงถูกเผาไปหมด เธอจึงไม่เหลือเอกสารทางกฎหมายใดๆเหลืออยู่เลย

กระทั่งอายุได้ 13 ขวบ เธอเดินทางเข้า กทม.เพื่อทำงานรับจ้างดูแลผู้สูงอายุและพักอาศัยใน กทม.เรื่อยมาจนกระทั่งพบกับสามีและมีลูกด้วยกันทุกวันนี้ ซึ่งนับตั้งแต่ออกจาก จ.แม่ฮ่องสอนเป็นต้นมา น้อยครั้งที่เธอจะกลับไปเยี่ยมบ้านเพราะมักมีปัญหาในการเดินทาง ต้องเจอตำรวจเรียกตรวจบัตรประชาชนทำให้ไม่อยากกลับ ใช้วิธีพูดคุยทางโทรศัพท์และส่งเงินกลับไปให้ที่บ้านแทน

“ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ก็คิดจะทำบัตรมาตลอดเพราะจะได้เดินทางไปไหนมาไหนได้ อย่างเรามาทำงานในกรุงเทพฯ พอกลับบ้านไปแต่ละครั้งก็จะโดนตรวจบัตร ถ้าไม่มีบัตรตำรวจก็จะเรียกลงจากรถทัวร์ ถามต่างๆ นานา เช่น อยู่กรุงเทพฯ นานหรือยัง ทำงานอะไร เป็นคนไทยหรือเปล่า เป็นคนไทยทำไมไม่มีบัตร แม่มีบัตรทำไมเราไม่มี เราก็ตอบไปว่าแม่ไม่ได้ทำบัตรประชาชนให้ ซักถามกันเป็นชั่วโมง บางครั้งเขาก็ให้เราเขียนชื่อนามสกุลเป็นภาษาไทยให้ดู พอเราเขียนได้เขาก็ปล่อยตัว เอาไปฝากขึ้นรถทัวร์คันถัดไป บางครั้งแม่โทรมาบอกว่าไม่สบายกลับมาหาแม่บ้างนะ เราก็ได้แต่บอกว่าหนูเดินทางลำบาก หนูไปหาไม่ได้นะ เดี๋ยวจะส่งเงินไปแล้วให้ญาติพาไปหาหมอแทนก็แล้วกัน ก็ทำได้แค่นั้น” โสภา กล่าว

จุดสำคัญที่ทำให้เธอต้องการทำบัตรประชาชนเกิดขึ้นเมื่อตอนอายุ 20 ปี ซึ่งขณะนั้นเธออยากมีลูกแต่เพราะความที่ตัวเองไม่มีบัตรประชาชนเลยกลัวว่าโรงพยาบาลจะไม่รับคลอด จึงเดินทางกลับ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อไปขอทำบัตรประชาชน

“พอไปถึงอำเภอแม่ก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าเอาลูกมาทำบัตร เขาก็ถามว่าลูกอายุเท่าไหร่ พอตอบไปว่าตอนนี้อายุ 20 แล้ว เขาก็บอกว่า โอ้ย! ยาย ทำไมไม่เอามาทำตั้งแต่แรก ทำไมไม่มาแจ้ง มาพูดลอยๆ แบบนี้ไม่ได้ ถ้ายายแจ้งความเท็จยายจะติดคุกนะ พอเจ้าหน้าที่พูดขู่แบบนี้แม่ก็เลยกลัว เลยบอกไปว่าเป็นลูกเลี้ยง เอามาเลี้ยงตั้งแต่ 5-6 ขวบ เขาก็ว่าเอาลูกมาเลี้ยงมันต้องมีหลักฐาน มีใบแจ้งเกิด ต้องตรวจ DNA ฯลฯ ถ้าพูดลอยๆ แบบนี้หลักฐานไม่แน่นหนา ไม่สามารถทำบัตรประชาชนให้ได้เพราะเขาก็กลัวตกงานเหมือนกัน สุดท้ายหนูก็ไม่ได้ทำบัตร เลยกลับ กทม.มาทำงานเหมือนเดิม” โสภา กล่าว

แม้จะถูกปฏิเสธ แต่เธอก็ไม่ละความพยายาม ผ่านไปอีก 1 ปี เพื่อนซึ่งเป็นคนสงขลาก็แนะนำว่าให้ลองไปทำบัตรที่ จ.สงขลาดู แต่เมื่อเดินทางไปคุยกับเจ้าหน้าที่แล้วก็ได้คำตอบว่าทำให้ไม่ได้ ถ้าพูดภาษาใต้ได้ก็อาจจะทำให้ง่ายหน่อย แต่ถ้าพูดไม่ได้ก็ยาก สุดท้ายก็ทำบัตรไม่ได้อีก

จากสงขลากลับมา กทม.ได้ไม่นาน เธอก็พยายามเป็นครั้งที่ 3 ที่สำนักงานเขตสายไหม โดยขณะนั้นมีเพื่อนบ้านแนะนำว่าให้ลองแจ้งว่าเป็นเด็กเร่ร่อนอาจจะช่วยให้เดินเรื่องได้ง่ายกว่าเดิม นอกจากนี้เธอยังเตรียมพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้สูงอายุคนหนึ่งที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเข้ามาทำงานใน กทม.เมื่ออายุ 13 ขวบ มาช่วยรับรองกับทางเจ้าหน้าที่ด้วย

“ไปติดต่อตั้ง 5-6 ครั้งก็ไม่ได้ ยังไงก็ไม่ได้ ทางเขตเขาบอกว่าถ้าเป็นเด็กเร่ร่อนมันก็ต้องมีที่มาที่ไป ต้องมีคนเอามาเลี้ยง ต้องมีหลักฐาน มีใบเกิด พยานแค่นี้ยังไม่พอ แบบนี้ทำให้ไม่ได้หรอก สุดท้ายก็ไม่ผ่าน ป้าที่มาช่วยรับรองก็บอกว่ามาตั้งหลายแล้วก็คงไม่ได้แล้วล่ะ ปล่อยไปตามเวรตามกรรมเถอะ” โสภา กล่าว

แม้จะถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เธอก็ยังพยายามอีกรอบ โดยครั้งที่ 4 มีคนมาแนะนำว่าให้ลองไปทำที่ภาคอีสาน แต่ต้องมีเงินใต้โต๊ะประมาณแสนกว่าบาทเป็นค่าเดินเรื่องให้เจ้าหน้าที่ เมื่อได้ยินเช่นนี้เธอจึงรู้สึกหมดหวังและตอบไปว่าถ้าเงินเป็นแสนก็คงจนปัญญา คงหาให้ไม่ได้

“หลังจากนั้นมาก็หยุด ไม่ไปแล้ว ช่างมันเถอะ เราวิ่งเต้นแล้ว แต่กำลังและความรู้เรามีแค่นี้ มันจนปัญญาแล้ว แม้แต่หมอดูเราก็ไป หมอที่ไหนที่เขาว่าดูแม่น ที่ไหนที่ว่าดีเราก็ไปหมด บอกเขาว่าไปทำบัตรที่ไหนก็ไม่ได้เลยมาหาหมอดูเพราะไม่รู้จะหาทางไหนแล้ว ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเสียเยอะ ใช้เงินไปเกือบแสนบาท ไปแม่ฮ่องสอนครั้งหนึ่งค่ารถค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เป็นหมื่น ไปสงขลาก็เป็นหมื่น ไปเขตสายไหมก็มีค่าเสียเวลา ค่าข้าวค่าน้ำให้คนที่มารับรอง ก็หมดเป็นหมื่น ก็ได้แต่ปล่อยไปตามเวรตามกรรม” โสภา กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนของปัญหาที่พบเจอในการรับบริการด้านสุขภาพนั้น โสภาเล่าว่าเธอยังไม่เคยป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล เวลาเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น เป็นไข้หวัด ก็จะซื้อยามาทานเองหรือไม่ก็ไปใช้บริการที่คลินิก ไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะรู้อยู่แล้วว่าถึงไปโรงพยาบาลก็ไม่รับ

อย่างไรก็ตาม แม้จะหลีกเลี่ยงไม่ไปโรงพยาบาลมาโดยตลอด แต่ก็มี 2 ครั้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือตอนคลอดลูกนั่นเอง โดย 11 ปีก่อนตอนคลอดลูกคนโตนั้นเธอไปที่โรงพยาบาลภูมิพล แต่โรงพยาบาลก็ไม่รับฝากครรภ์

“ตอนนั้นเพิ่งมีระบบบัตรทอง แต่ถ้าไม่มีบัตรประชาชนโรงพยาบาลไม่รับนะ ตอนท้องลูกคนโต ไปโรงพยาบาลภูมิพลเขายังไม่รับเลย เขาบอกว่าถ้าปวดท้องที่ไหนก็คลอดที่นั่นก็อาจจะได้ฉุกเฉิน แต่ให้รับฝากท้องแบบนี้เขารับไม่ได้ สุดท้ายก็เลยไปฝากท้องที่บ้านเกิดแฟนที่โรงพยาบาลขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร เอาทะเบียนบ้านของแฟนค้ำ ลูกที่คลอดออกมาก็ให้เข้าทะเบียนบ้านแฟน ดีที่โรงพยาบาลนี้รับฝาก แต่เราก็ต้องจ่ายเงินเอง ช่วงนั้นก็หมดไปเป็นหมื่นกว่าซึ่งถ้าเรามีบัตรทองก็คงไม่ต้องเสียเงิน ส่วนลูกคนที่ 2 คลอดปี 2558 ก็ไปโรงพยาบาลภูมิพลอีก แต่คราวนี้เขารับฝากท้องแล้วเพราะหลังๆ มานี้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยเยอะและหนูก็ไปทำบัตรคนไร้สถานะมาแล้วในปี 2556 แต่เราก็ต้องจ่ายเงินทั้งหมดเองอยู่ดี ตอนนั้นก็หมดไปอีก 22,000 บาท ทุกวันนี้ยังค้างหนี้โรงพยาบาลอีก 3,000 บาทอยู่เลย” โสภา กล่าว

แม้ว่าเธอจะโชคดีที่ไม่เคยป่วยหนัก แต่เธอยอมรับว่าในอนาคตถ้าแก่ตัวขึ้นมาหรือเจ็บป่วยร้ายแรงกะทันหันก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะฐานะครอบครัวยากจน เงินเก็บไม่มี ลูกก็ยังเล็ก ทำงานเย็บผ้ากับแฟนรายได้เดือนหนึ่งยังไม่ถึงหมื่น พอแค่จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารเท่านั้น

“ทุกวันนี้ห่วงอนาคตเพราะไม่มีเงินเหลือเก็บเลย ไปคลินิกครั้งหนึ่งก็ 500-600 บาท หรือถ้าซื้อยามากินเองก็ 200-300 บาท แล้วก็พยายามออกกำลังกายบ้าง ที่เหลือก็ได้แต่ภาวนาสวดมนต์ขอคุณพระคุณเจ้าช่วยเท่านั้นว่าอย่าได้เจ็บป่วยเลย แต่ถึงที่สุดถ้ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ขึ้นมาก็ไม่มีทางเลือกอื่น คงต้องเข้าโรงพยาบาลแล้วเสียเงินอย่างเดียว ถึงไม่มีก็ต้องพยายามหามาจ่ายให้ได้” โสภา กล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานนี้เธอเพิ่งทราบจากนักกิจกรรมทางสังคมในพื้นที่ว่ายังมีกองทุนคืนสิทธิสำหรับการรักษาพยาบาลบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน เพียงแต่ตอนนี้เธอยังไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนเพราะใน กทม.มีแค่ 3 แห่งที่รับลงทะเบียนคือโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี, โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งแต่ละแห่งมีระยะทางค่อนข้างไกลจากที่พัก อย่างไรก็ตามคิดว่าคงจะไปขอลงทะเบียนในเร็วๆ นี้ โดยหวังว่าจะได้เอาไว้ใช้สิทธิเวลาป่วยหนักหรือเป็นโรคที่มีค่ารักษาแพง แต่ถ้าเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็คงจะใช้บริการตามคลินิกต่อไปเช่นเดิม

“ทุกวันนี้ห่วงอนาคตเพราะไม่มีเงินเหลือเก็บเลย ไปคลินิกครั้งหนึ่งก็ 500-600 บาท หรือถ้าซื้อยามากินเองก็ 200-300 บาท แล้วก็พยายามออกกำลังกายบ้าง ที่เหลือก็ได้แต่ภาวนาสวดมนต์ขอคุณพระคุณเจ้าช่วยเท่านั้นว่าอย่าได้เจ็บป่วยเลย” โสภา คำมาสาร คนไร้สถานะ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง