ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไม่เคยมีครั้งใดที่หัวใจของ “นิหร่า” หรือ “นิลา” แรงงานข้ามชาติชาวพม่าวัย 30 ปีเศษ จะถูกสุมด้วยความวิตกกังวลเหมือนครั้งนี้ สีหน้าเธอไม่สู้ดี อาการกระสับกระส่ายแสดงออกให้เห็นชนิดไม่มีอำพราง หรือต้องปกปิดอะไร

“นิหร่า” กำลังตั้งครรภ์ หากแต่เป็นการตั้งครรภ์บน “แผ่นดินอื่น”

แผ่นดินที่มองเธอเป็น “คนอื่น” ซ้ำยังมองเป็นภัยความมั่นคงต่อรัฐ

“นิหร่า” ในภาษาถิ่นสื่อความหมายถึง “ไพลิน” อัญมณีทรงคุณค่าแข็งแกร่งรองเพียงแต่เพชร แม่เธอเชื่อมั่นว่ารัตนชาติสีน้ำเงินจะเป็นฤกษ์ชัยแก่บุตรสาว คอยอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จและมีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคง

ชีวิตน้อยๆ เติบโตขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ ชานเมืองทวาย เขตตะนาวศรี ภายใต้การดูแลของตา-ยาย ความสุขความสนุกยังพอหาได้ตามอัตภาพไปจนกระทั่งแตกเนื้อสาว จากนั้นเงื่อนไขชีวิตก็ไม่อนุญาตให้เธอสามารถทำอะไรได้ตามความต้องการอีกต่อไป

ทั้งข้อจำกัดเรื่องอาชีพ ตำแหน่งงาน ค่าจ้าง รวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และทิศทางการพัฒนาประเทศ คือเหตุผลที่ทำให้ “นิหร่า” ตัดสินใจเดินทางจากมาตุภูมิข้ามเส้นแบ่งเขตแดนเข้าสู่อาณาเขตประเทศไทย

เพื่อเสาะแสวงหาโอกาสและทางเลือกให้กับชีวิต เช่นเดียวกับพ่อ-แม่ของเธอ

----- ‘มายาคติ’ แรงงานข้ามชาติ -----

“รู้เพียงแค่ประเทศไทยมีงานทำ เท่าที่จำได้คือเข้ามาทางจังหวัดระนอง”

นั่นคือความจริง นั่นคือสิ่งเดียวที่เธอทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

“นิหร่า” ชัดแจ้งในความคิดของตัวเอง และพยายามต่อยอดโอกาสด้วยเงินสะสมอันน้อยนิด เธอจ่ายเงินให้กับผู้ที่อ้างว่าเป็นนายหน้า 5,000 บาท - 1 หมื่นบาท แลกกับการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดน ก่อนจะประสานให้เพื่อนชาวพม่ามารับไม้ต่อไปส่งที่ จ.ภูเก็ต

“เมื่อถึงประเทศไทยก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก เป็นค่าจัดทำเอกสาร ค่าหนังสือเดินทาง ค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าตรวจร่างกาย รวมๆ อีกประมาณ 2 หมื่นบาท” แรงงานข้ามชาติรายนี้เล่าประสบการณ์ และยอมรับว่าเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต

“นิหร่า” ได้เข้าทำงานในบริษัทรับทำความสะอาดแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ผ่านคำชักชวนและการติดต่อจากเพื่อนแรงงานชาวพม่าที่เดินทางมาก่อนหน้า โดยบริษัทแห่งนี้ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน จ่ายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เฉลี่ยมีรายได้เดือนละ 7,000 บาท

“ทุกวันนี้เช่าห้องพักอยู่ รวมค่าน้ำ-ค่าไฟ ก็ราวๆ เดือนละ 3,000 บาท เหลืออีก 4,000 บาท แบ่งเป็นค่ากินค่าอยู่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ส่งกลับบ้านที่พม่า" นิหร่า ให้รายละเอียด

เธอ ยอมรับว่า ความเป็นอยู่ที่แท้จริงของแรงงานชาวพม่าแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับภาพจินตนาการและคำบอกเล่าขายฝัน ที่ผ่านมามักพูดกันว่ามาทำงานเมืองไทยแล้วรายได้ดี แต่ความเป็นจริงตรงกันข้าม ส่วนตัวรู้สึกอยากกลับประเทศพม่ามาก แต่ที่กลับไม่ได้เพราะไม่เหลือเงินเก็บ

---- ‘ตั้งครรภ์’ ตกงาน-ขาดรายได้ ----

ล่วงเข้าสู่เดือนที่ 7 ของการทำงานในฐานะพนักงานทำความสะอาด “นิหร่า” สังเกตเห็นสัญญาณความผิดปกติในร่างกาย เริ่มตั้งแต่ปวดกล้ามเนื้อ วิงเวียน มีอาการพะอืดพะอม จนกระทั่งประจำเดือนขาด

เธอจึงตัดสินใจเข้าตรวจร่างกายที่คลินิกแห่งหนึ่ง

ผลการตรวจ พบว่าเธอกำลังตั้งครรภ์

“นิหร่า” พร้อมสามีเบิกบานด้วยข่าวดี ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยความหวาดวิตก-ไม่มั่นคงในชีวิต ในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา

ด้วยเธอกังวลว่าหากตั้งครรภ์แล้วก็จะไม่สามารถทำงานต่อได้ นั่นหมายถึงรายได้สัดส่วนครึ่งหนึ่งของครอบครัวกำลังจะหายไป จึงเหลือเพียงรายได้แรงเดียวจากสามี สนนราคาเดือนละ 9,000 บาท แลกกับหยาดเหงื่อบนเรือประมงกลางท้องทะเลเดือนละ 25 วัน

“ตั้งครรภ์แล้วก็คงทำงานไม่ไหว ซึ่งตามกฎบริษัทคือใครมีครรภ์ต้องแจ้งหัวหน้างานก่อน จากนั้นหากทำงานไม่ไหวก็ให้แจ้งลาออกล่วงหน้า 15 วัน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มีครรภ์ใกล้คลอดก็ต้องลาออกแทบทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่แรงงานทราบดีว่าถ้าทำงานไม่ไหวก็ต้องถูกเลิกจ้าง แต่ใครที่ยังทำงานไหวบริษัทก็จ้างทำงานต่อเหมือนเดิม

“จริงๆ แล้วตามกฎต้องบอกล่วงหน้า 15 วัน แต่ในความเป็นจริงก็คือหลังจากแจ้งเพียง 2-3 วัน บริษัทก็หาคนมาทำงานแทนได้แล้ว ซึ่งก็หมายความว่าต้องตกงานขาดรายได้ทันที" เธอระบุ

“นิหร่า” นิ่งเงียบอยู่ในห้องเช่าสี่เหลี่ยมเคียงข้างสามีของเธอ ในใจกังวลถึงรายจ่ายที่จะประดาเข้ามาพร้อมๆ กันช่วงสิ้นเดือน ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่ากินอยู่

เธอกลืนความขมขื่นลงคอ ในขณะที่ยังมืดแปดด้านเมื่อคิดถึงเงินที่จะนำมาจ่ายค่าคลอด

---- รพ.รัฐ เลี่ยงขายบัตรประกันต่างด้าว ----

ที่จริงแล้ว “นิหร่า” มีบัตรประกันสุขภาพตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตทำงาน บัตรดังกล่าวให้สิทธิรักษาพยาบาลคล้ายคลึงกับสิทธิบัตรทองของคนไทย โดยครอบคลุมถึงการคลอดบุตรและการดูแลบุตร 28 วันหลังคลอด

ตามนโยบายของรัฐไทย (ในขณะนั้น) บัตรประกันสุขภาพดังกล่าวมีอายุเพียง 1 ปี

ในขณะที่เธอตั้งครรภ์ 1 เดือน อายุบัตรของเธอเหลืออีกเพียง 4 เดือน

นั่นหมายความว่า ในวันที่เธอให้กำเนิดบุตร เธอจำเป็นต้องใช้บัตรประกันสุขภาพใบใหม่

"คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร บัตรหมดอายุก็ไปต่อใหม่ได้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างคลอดก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร" นิหร่าคิดเช่นนั้น

เธอรู้ดีว่าบัตรประกันสุขภาพคืออะไร ซึ่งตามความเข้าใจของเธอก็คือหากซื้อบัตรประกันสุขภาพปีละ 2,000 บาทเศษๆ ไว้แล้ว เวลาเจ็บป่วย-ตั้งครรภ์-ฝากครรภ์ ก็จะได้รับการดูแลโดยแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

"เท่าที่รู้ก็คือหมอจะคิดค่าฝากครรภ์ประมาณ 2,000 บาท ส่วนค่าคลอดต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 1.5-2 หมื่นบาท ซึ่งบัตรประกันสุขภาพจะดูแลให้ทั้งหมด"

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่เธอตั้งครรภ์ มี "จุดเปลี่ยน" คือโรงพยาบาลกลับมีนโยบายไม่จำหน่ายบัตรประกันสุขภาพให้กับผู้ที่มีครรภ์ โดยให้เหตุผลว่าบัตรประกันสุขภาพเน้นขายให้เฉพาะแรงงานที่ "พร้อมทำงาน" เท่านั้น

ส่วนบุคคลที่มีความเสี่ยงสุขภาพ (รวมถึงตั้งครรภ์) ขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์ว่าจะพิจารณาอนุมัติให้ขายบัตรหรือไม่

ในขณะที่ไปซื้อบัตรประกันสุขภาพ ก็ได้รับแจ้งจากล่ามของโรงพยาบาลว่า ขณะนี้โรงพยาบาลไม่ขายบัตรสุขภาพให้กับแรงงานที่ไม่แข็งแรง มีความเสี่ยง และตั้งครรภ์อีกแล้ว สรุปก็คือซื้อบัตรประกันสุขภาพไม่ได้ แต่กลับต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้ เธอเล่าด้วยความหมดหวัง

----- เผชิญชะตากรรมอันเชี่ยวกราก -----

“ก็ยังไม่รู้จะทำไงดี อยากกลับไปคลอดที่พม่าก็ไม่มีเงินกลับ อยู่ในประเทศไทยต่อไปก็ไม่มีเงินคลอด บัตรประกันสุขภาพก็ซื้อไม่ได้ ถ้าไม่มีบัตร ไปหาหมอครั้งแรกจะถูกเก็บเงิน 2,000 บาท จากนั้นหมอก็จะนัดเรื่อยๆ การเดินทางไปหาแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่าย 500-1,000 บาท ซึ่งคงไม่มีเงินเพียงพอขนาดนั้น”

สุดท้ายแล้ว “นิหร่า” ตัดสินใจไม่ฝากครรภ์ และด้วยทางเลือกที่มีไม่มากนัก ทางออกเท่าที่เธอพอคิดได้ก็คือคลอดกับหมอตำแย แน่นอนว่านิหร่าก็ทราบดีถึงความเสี่ยงทั้งแม่และลูก และก็เคยเห็นความผิดพลาดในหลายกรณีแล้ว

“ถ้าต้องการไปคลอดที่โรงพยาบาลต้องเตรียมเงินขั้นต่ำ 1.5 หมื่นบาท - 2 หมื่นบาท ทางเดียวก็คือต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน กู้เงิน 2 หมื่นบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 4,000 บาท ทั้งที่ครอบครัวมีรายได้เพียง 8,000-9,000 บาท

ยังไม่นับความกังวลหลังคลอด เพราะบุตรของแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะมีปัญหาสุขภาพ เช่น ตัวซีด ขาดสารอาหาร ซึ่งหากมีบัตรประกันสุขภาพจะให้สิทธิครอบคลุมดูแลทารกหลังคลอด 28 วัน แต่เมื่อไม่มีก็ต้องเผชิญชะตากรรมเอาเอง

นิหร่า ยอมรับว่า สามีก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เพราะทุกวันนี้ต้องทำงานคนเดียว ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามช่วยกันหารายได้เพิ่มทุกวิถีทางแล้วแต่ก็คงไม่เพียงพอค่าคลอด

“ตอนนี้สามีทราบแล้วว่าไม่สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ ก็กังวลและเครียดทั้งคู่ แต่ส่วนตัวจะพยายามจะไม่ไปจดจ่อหรือหมกมุ่นอยู่กับอนาคตที่ยังไม่เห็นทางออก เพราะจะส่งผลเสียกับบุตรในครรภ์” นิหร่า รับสภาพ

เธอ เล่าว่า ที่ประเทศพม่า หากไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาก็สามารถต่อรองหรือผ่อนจ่ายเป็นรายงวดได้ มีอัตราค่าบริการแน่นอน คาดการณ์ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้ ตอนนี้อยากกลับพม่ามาก อย่างน้อยๆ แพทย์พูดคุยภาษาเดียวกัน

“ตอนนี้ก็มีความคิดว่าจะหลบหนีกลับไปคลอดที่พม่าเอง ยอมทิ้งสามีทำงานที่ประเทศไทยต่อไป ซึ่งก็ไม่รู้ว่าหลังจากแยกกับสามีแล้วจะมีโอกาสได้พบกันอีกหรือไม่” นิหร่า เปลือยความคิดสุดท้าย

หลากหลายครอบครัวถูกสถานการณ์พลัดพราก นั่นคือชะตากรรมอันเชี่ยวกรากของแรงงานข้ามชาติใน จ.ภูเก็ต