ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

New England Journal of Medicine ฉบับพฤศจิกายน 2560 ตีพิมพ์รีวิวเรื่องนี้ สาระที่น่ารู้คือ ปัจจุบันคนน้ำหนักเกิน อ้วน และมีโรคเรื้อรังพวกเบาหวาน ความดัน ไขมันสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาวะไขมันพอกตับก็เจอมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ขณะนี้ผลสำรวจในอเมริกาพบว่า ประชากรทั่วไปวัยผู้ใหญ่ถึง 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 จะมีภาวะไขมันพอกตับ ทั้งที่รู้หรือไม่รู้มาก่อนก็ตาม ในกลุ่มที่มีไขมันพอกตับนี้ มากกว่าร้อยละ 25 จะมีการอักเสบของตับ โดยพบว่าการที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน มีโรคเรื้อรังดังที่กล่าวมาข้างต้นจะยิ่งทำให้คนที่มีไขมันพอกตับมีโอกาสเกิดภาวะตับอักเสบมากกว่า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เซลล์ตับถูกทำลายไป และอาจมีพังผืดมาแทรกในตับมากขึ้นจนกลายเป็นภาวะตับแข็ง ทั้งนี้ความรุนแรงของภาวะพังผืดแทรกในตับนั้นมีระดับความรุนแรงแบ่งเป็น 5 ระยะ ตั้งแต่ F0-F4

มีการวิจัยพบว่า หากมีพังผืดระยะที่ 2 แล้ว มักจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นไปสู่ระยะ 3 และ 4 โดยใช้เวลาเฉลี่ยราว 10 ปีในแต่ละระดับ การมีพังผืดในตับนั้นจะทำให้มีโอกาสเกิดอาการเจ็บป่วย ต้องการการปลูกถ่ายตับ และมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้คาดประมาณว่า พังผืดระยะ F3 และ F4 จะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นราว 50-80 เท่าเลยทีเดียว

นอกจากนี้ผู้ที่มีไขมันพอกตับ และเกิดตับอักเสบจนกลายเป็นระยะที่มีพังผืดนั้นจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับอีกด้วย ในขณะที่กลุ่มเด็กนั้นมีข้อมูลชัดเจนแล้วว่า หากเป็นเด็กอ้วนจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นพ่อแม่ก็ควรเลี้ยงดูเด็กให้ดี ระวังเรื่องน้ำหนักด้วย อ้วนมิใช่เรื่องดี

เรื่องไขมันพอกตับนี้มักถูกใช้ล่อหลอกเพื่อให้กลัว และนำไปสู่การตรวจที่ไม่จำเป็นหลายอย่างหากไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ดังนั้นประชาชนจึงควรอ่านข้อมูล ทำความเข้าใจ และปรึกษากับแพทย์ให้ดีถึงผลดีผลเสียของการตรวจต่างๆ ก่อนตัดสินใจทำ การตรวจมีหลายประเภท ตั้งแต่ตรวจเลือด ตรวจทางรังสี ตัดชิ้นเนื้อ ฯลฯ ซึ่งจะใช้แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และตามระยะของโรคที่สงสัย

คำแนะนำที่น่าจะนำไปปฏิบัติได้ในวงกว้าง สำหรับคนอ้วน น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน ไขมันสูง ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับอยู่แล้วนั้น มีดังนี้

1.หากอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักอย่างน้อยร้อยละ 7 ของน้ำหนักเดิม เช่น เดิมหนัก 100 กิโลกรัม ก็ควรลดไปสัก 7 กิโลกรัม

2.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีฟรุกโตส เช่น น้ำอัดลม ชาเขียวหวานๆ ฯลฯ เพราะฟรุกโตสจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไขมันพอกตับและตับอักเสบ

3.ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ชายดื่มวันละไม่เกิน 2 แก้ว ผู้หญิงดื่มไม่เกินวันละ 1 แก้ว

4.ควรดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว เพราะมีงานวิจัยพบว่ากาแฟที่มีคาเฟอีนนั้นจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะพังผืดแทรกในตับ (ควรเป็นกาแฟดำไม่ปรุงนะครับ)

ช่วยกันเรียนรู้และบอกต่อให้เข้าใจ จะได้รู้เท่าทัน และสามารถดูแลตนเองและคนใกล้ชิดได้ครับ

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์