ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ต่อจากคำสั่งห้ามชาร์จมือถือที่โด่งดังจนเกือบจะเห็นการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาคมสาธารณสุขแล้ว (ไม่เอานกหวีด)

เหล่านักบริหารส่งนโยบายลดอัตรากำลังของจิตแพทย์ด่านหน้าในพื้นที่ต่างๆ ทำให้เพจดังส่งเสียงท้วงติงมา แต่หากให้เดา เสียงนี้น่าจะเกิดผลน้อยมากต่อการทบทวนการตัดสินใจจากหอคอยงาช้าง เพราะมวลรวมนั้นน้อยกว่าเรื่องมือถืออย่างมาก และไม่ดราม่าเหมือนเรื่องมือถือจนยากที่สื่อต่างๆ จะสนใจเอาไปลงข่าว เมืองไทยเป็นสังคมดราม่า

ทางเลือกที่พอทำได้คือ

หนึ่ง "ตัดใจ" ทำงานตามจำนวนคนที่มี จำกัดปริมาณผู้ป่วยที่รับได้ นี่คือทางเลือกแบบสมดุลระหว่างอุปสงค์อุปทาน หรือผมเรียกว่า "ทำงานแบบโรงงาน" ตามที่เหล่านักบริหารที่ลุ่มหลงตัวเลขและการพัฒนาแบบโรงงานชอบมาปู้ยี่ปู้ยำกันอยู่ในตอนนี้ นี่คือผลผลิตและผลลัพธ์เล็กๆ ที่ชัดเจนและมาจากการรับแนวคิดและจ้างพวก industrial engineering และ operations research มาจัดการระบบสุขภาพที่มีชีวิตจิตใจด้วยสมการตัวเลข และเป็นอันตรายและภาวะคุกคามอันรุนแรงตามที่ผมเคยเตือนผ่านสื่อมาหลายหน

สอง "ผ่องถ่ายงาน" คนที่คลั่ง CSI series หรืออ่านสามก๊กสักร้อยรอบอาจตั้งสมมติฐานว่านี่อาจเป็นเกมส์กระดานใหญ่ที่ถูกวางหมาก ที่บีบให้เกลี่ยงานส่งไปยังทีมหมอครอบครัวโดยปริยาย อันเป็นการขีดเส้นใต้ให้เห็นความจำเป็นที่ทุกที่จะต้องยอมรับให้ทีมหมอครอบครัวมาช่วยงาน แม้เรารู้กันดีว่ายังมีปัญหาอย่างมากทั้งเรื่องจำนวนและคุณภาพที่แตกต่างกัน เกมส์นี้ผมตั้งชื่อว่า "แผนทำให้หิวโหย" ซึ่งหากเป็นจริง ก็น่าสงสารคนทำงานในระบบ และถือว่าเป็นแผนที่ใจร้ายเกินไปและไม่ควรทำอย่างยิ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลความจำเป็นใดๆ ก็ตามครับ

สาม แบบผสมระหว่างแบบหนึ่งและสอง

สรุปคือ หากออกนโยบายดังที่เพจดังบอกจริง นี่น่าจะเป็นแค่ระลอกแรก ระลอกถัดๆ ไปคงจะมีตามมาแน่นอน คำเรียกร้องให้ใช้ความเมตตากรุณาในการบริหารคงไม่เป็นผล มิฉะนั้นผู้ออกนโยบายควรรีบออกมาชี้แจง

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์