ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิทยาศาสตร์ไทยจับมือญี่ปุ่นเปิดให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อวัณโรค เพื่อยุติวัณโรคในกลุ่มประเทศอาเซียน

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาเพื่อกลยุทธ์ยุติวัณโรค “Innovative Interventions and Researches for End TB Strategy 2018” จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ Japan International Cooperation Agency (JICA) ประเทศญี่ปุ่น และโครงการสร้างศักยภาพวิจัยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาในอาเซียน ซึ่งได้รับทุนจาก Fogarty International Center, National Institute of Health

เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย และประเทศในเขตอาเซียน โดย 8 ใน 10 ประเทศสมาชิกถูกจัดเป็นประเทศที่มีภาระโรคของวัณโรคสูง กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนให้นำผลงานวิจัยต่อยอดพัฒนามาใช้ในการตรวจรักษา เพื่อยุติปัญหาวัณโรคทั้งในประเทศไทยและอาเซียน ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศใช้กลยุทธ์ยุติวัณโรคในปี พ.ศ.2559 เน้นการทำวิจัยและนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค สนับสนุนให้แต่ละประเทศใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมอย่างพอเพียงและยั่งยืน เร่งสร้างสิ่งใหม่

นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยในแต่ละปีมีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตประมาณ 10,000 ราย และมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาอย่างน้อย 2,200 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการวินิจฉัย ทั้งที่คนไทยสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคตามระบบหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการยุติวัณโรค ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวในการวิจัยด้านวัณโรคและได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากไจกา (JICA) และองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์แห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Agency for Medical Research and Development : AMED) ภายใต้โปรแกรม Science and Technology Research Partnership for Sustainable Development (SATREPS) โครงการ Integrative Application of Host and Genomic Information for Tuberculosis Elimination ซึ่งวิจัยและพัฒนาจนได้นวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค ประกอบด้วย

การตรวจเลือด เพื่อประเมินการแสดงออกของยีนที่ช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อวัณโรค

วิธีตรวจระดับยาต้านวัณโรค เพื่อประเมินขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสม

การตรวจพันธุกรรมเพื่อปรับขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสมกับลักษณะพันธุกรรม

การถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคเพื่อการประเมินภาวะดื้อต่อยาต้านวัณโรค

โดยภายในปีงบประมาณ 2561 นี้ ทางศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดให้บริการการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคทั้งจีโนมด้วยเทคนิคการถอดรหัสพันธุกรรมสมรรถนะสูง เพื่อประเมินภาวะดื้อยาและติดตามการระบาดของวัณโรค เพื่อช่วยสนับสนุนการควบคุมการระบาดของวัณโรค

“นอกจากนี้ได้เชิญนักวิจัยด้านวัณโรคจากประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ อินโดนีเชีย พม่าและประเทศไทย ร่วมถ่ายทอดความรู้ทั้งด้านระบาดวิทยา เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข แบคทีเรียวิทยา พันธุกรรม เภสัชวิทยา และแบ่งปันประสบการณ์ ด้านการวิจัยวัณโรค โดย ดร.โทรุ โมริ (Dr. Toru Mori) อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวัณโรคแห่งประเทศญี่ปุ่นให้เกียรติบรรยายเรื่องมาตรการสำคัญที่ประเทศญี่ปุ่นใช้เพื่อลดวัณโรคได้มากกว่าร้อยละ 10% ต่อปี การสร้างความร่วมมือการวิจัยในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะทำให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการควบคุมวัณโรคที่จำเป็นและยั่งยืนสำหรับผู้ป่วยวัณโรคในภูมิภาค โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา เพื่อเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินกลยุทธ์ยุติวัณโรค ในกลุ่มประเทศอาเซียนตามกลยุทธ์ที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไว้" นพ.สุขุม กล่าวทิ้งท้าย