ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สภาผู้บริโภค” เรียกร้องรัฐบาลแทรกแซงธุรกิจโรงพยาบาลค้ากำไรเกินควร วอนออกกฎหมายควบคุมค่ารักษาพยาบาลแพง ขณะที่เครือข่ายผู้ป่วยฯ เดินหน้าล่ารายชื่อผุด “คณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล” ตั้งเป้าครบ 5 หมื่นรายชื่อ ยื่น “พล.อ.ประยุทธ์” ทันที

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยสถานการณ์ปัญหาการร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชน ผ่านเวทีเสวนาสภาผู้บริโภค ประเด็น “CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมในโรงพยาบาลเอกชน” เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า จากสถิติการรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปี 2557-2560 ในหมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่ามีทั้งสิ้น 977 เรื่อง แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 825 เรื่อง และโรงพยาบาลเอกชน 152 เรื่อง โดยได้รับเรื่องจากผู้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มากที่สุด รองลงมาคือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ตามลำดับ สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกร้องเรียนมีทั้งสิ้น 65 แห่ง

ทั้งนี้ กลุ่มปัญหาการร้องเรียน ประกอบด้วย 1.ให้คำปรึกษาการย้าย/สอบถามสิทธิประโยชน์ต่างๆ 2.ถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน 3.ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล/ยังไม่ได้รับค่าเสียหาย 4.ไม่ได้รับความสะดวก/ไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ 5.เรียกเก็บค่ารักษาเกินอัตราที่กำหนด/ค่ารักษาพยาบาลแพง 6.ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข 7.ระบบส่งต่อใช้ไม่ได้

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากสถิติพบว่าโรงพยาบาลเอกชนจะถูกร้องเรียนเรื่องการเก็บเงินจากผู้ป่วยที่ใช้สิทธิฉุกเฉินมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ รวมถึงประเด็นค่ารักษาพยาบาลแพง สังคมจึงจำเป็นต้องพูดคุยกันถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของโรงพยาบาลเอกชนด้วย

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิป่วยและมีโอกาสล้มละลายทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาลที่แพง ส่วนตัวคิดว่าธุรกิจทางการแพทย์เป็นธุรกิจเชิงคุณธรรม การปล่อยให้ทำกำไรกันอย่างสูงสุดโดยเสรีไม่มีขอบเขตจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากเสนอให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงด้วยมาตรการทางกฎหมายและนโยบายที่จริงจัง เพื่อให้ธุรกิจทางการแพทย์ทำกำไรอย่างสมเหตุสมผล ที่สำคัญก็คือประเทศไทยจำเป็นต้องให้สิทธิบัตรทองกับคนทุกคน และไม่ถอยหลังกลับไปให้การรักษาแบบสงเคราะห์แบบในอดีต

“ส่วนตัวคิดว่าหากรัฐเข้าไปแทรกแซงจะถือเป็นการอภิบาลระบบ แต่ถ้ารัฐไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งเกิดขึ้น และคนจนก็จะต้องตายก่อนคนรวยเสมอ” น.ส.สุภัทรา กล่าว

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทเอกชนมีด้วยกัน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ความรับผิดชอบต่อธุรกิจ คือต้องทำธุรกิจภายใต้การทำกำไรที่ยอมรับได้ 2.ความรับผิดชอบต่อกฎหมาย คือต้องทำกำไรตามกรอบของกฎหมาย 3.ความรับผิดชอบต่อหลักจริยธรรม 4.หลักเมตตาธรรม

“ทุกวันนี้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมสินค้าทุกอย่าง แม้แต่ผ้าอนามัยยังต้องแจกแจงว่าใช้วัสดุอะไร ใช้งบประชาสัมพันธ์เท่าไร ต้องขายในราคาเท่าไร แต่ธุรกิจรักษาพยาบาลกลับไม่มีกฎหมายใดควบคุม และไม่เคยมีราคาต้นทุนแสดง” ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวอีกว่า ในหลายประเทศไม่อนุญาตให้ธุรกิจรักษาพยาบาลเป็นธุรกิจที่ทำกำไร คือผลกำไรที่ได้มานั้นต้องนำไปพัฒนาบริการให้กับคนไข้ต่อไป ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการคือธุรกิจเอกชนต้องเป็นธุรกิจภายใต้การควบคุม ซึ่งรัฐจำเป็นต้องออกกฎระเบียบต่างๆ มาควบคุมให้ชัดเจน

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันหากต้องการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ว่ามีราคาสมเหตุสมผลหรือไม่นั้น จะต้องร้องเรียนไปยังหลากหลายหน่วยงานที่แยกกันรับผิดชอบ อาทิ แพทยสภา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ฉะนั้นประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกที่ดูแลเรื่องนี้เป็นหนึ่งเดียว

นางปรียนันท์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล ซึ่งต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาเป็นคณะกรรมการ และที่ขาดไม่ได้คือตัวแทนของผู้บริโภค โดยเบื้องต้นได้ตั้งแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org จึงอยากให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อให้ครบ 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อจะนำไปยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างสะเด็ดน้ำ โดยปัจจุบันมีผู้สนับสนุนแล้วกว่า 4 หมื่นรายชื่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาผู้บริโภคจี้ รพ.เอกชน รับผิดชอบต่อสังคม เหตุถูกร้องเรียนอื้อ

เครือข่ายผู้ป่วยฯ วอนสังคมรวมพลัง 5 หมื่นชื่อ ชง ‘นายกฯ’ ตั้งหน่วยงานคุมราคา รพ.เอกชน

เหยื่อ รพ.เอกชน สุดช้ำ ถูกรีดค่ารักษาจากความผิดพลาดของ รพ.เอง

ค้านปล่อยเสรีธุรกิจ รพ. ภาค ปชช.เรียกร้องรัฐตรา กม.คุมค่ารักษา

จดหมายแค่ฉบับเดียวทำให้ไม่ได้ ญาติคนไข้ โวย รพ.เอกชน ไม่ตั้งเรื่องเบิกเงิน 8 หมื่นบาทคืน