ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากอัตราการผ่าท้องคลอดของหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศจีน ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย” ในฐานะองค์กรวิชาชีพแพทย์ที่เกี่ยวข้อง จึงเดินหน้ารณรงค์เพื่อให้หญิงไทย “ลดการผ่าท้องคลอดที่ไม่จำเป็น” เพื่อความปลอดภัยและป้องกันผลกระทบทางสุขภาพระยะสั้นและระยะยาว ทั้งผู้เป็นแม่และทารกที่คลอดออกมา

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก ด้านอนามัยเจริญพันธุ์ กล่าวว่า การผ่าท้องคลอดเป็นหัตถการทางการแพทย์ที่สำคัญ ในการช่วยชีวิตทั้งแม่และเด็กกรณีที่มีความจำเป็น อาทิ เด็กในท้องตัวใหญ่เกินไป เด็กขาดออกซิเจน เด็กอยู่ในท่าผิดปกติ มีภาวะตกเลือดก่อนคลอด และรกเกาะต่ำ เป็นต้น

แต่ในระยะหลังมานี้พบว่าอัตราการผ่าท้องคลอดได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่แต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกมีอัตราการผ่าท้องคลอดที่เพิ่มขึ้นเช่นกันจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องของความเชื่อฤกษ์ยาม ความสะดวกของเวลาคลอด การบริหารจัดการเวลาทั้งแพทย์และผู้ป่วย การกลัวเจ็บท้องคลอด เป็นต้น ทั้งที่การผ่าท้องคลอดมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการคลอดปกติ และยังมีผลกระทบด้านสุขภาพตามมาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งกับผู้เป็นแม่และทารกที่คลอดมา

ผลกระทบจากการผ่าท้องคลอดที่เกิดในระยะสั้นคือ ในการคลอดต้องเสียเลือดมากกว่า ต้องดมยาสลบ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและติดเชื้อได้มากกว่า ขณะที่ผลกระทบกับลูกคือทำให้ขาดโอกาสใกล้ชิดสัมผัสกับแม่โดยเร็วหลังคลอดตามหลักการทางการแพทย์ เพราะแม่ที่ผ่าคลอดต้องทำการพักฟื้นหลังดมยาก่อน ไม่สามารถอุ้มลูกได้ทันที หรือฟื้นตัวเร็วเหมือนกับการคลอดปกติ ทั้งเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด ทำให้ส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพราะจะทำให้น้ำนมแม่ขาดการกระตุ้นโดยทันที โดยมีข้อมูลชัดเจนว่าทำให้ผลสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง ทั้งเด็กที่ผ่าท้องคลอดยังเกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจมากกว่าเด็กที่คลอดปกติ เพราะเด็กที่คลอดปกติจะออกมาโดยผ่านช่องคลอดและเชิงกราน ในกระบวนการนี้ร่างกายของแม่จะมีการขับมูกออกมาด้วย โดยมีงานวิจัยระบุว่า ในช่องคลอดของแม่จะมีแบคทีเรียที่ดี เด็กที่คลอดปกติจะได้สัมผัสแบคทีเรียเหล่านี้ นำไปสู่การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เด็กมีภาวะติดเชื้อน้อยลง รวมถึงภูมิแพ้น้อยลงด้วย

สำหรับผลกระทบในระยะยาวนั้น แม่ที่ผ่านการผ่าท้องคลอดแล้ว ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็ต้องทำการผ่าท้องคลอดเช่นกัน เพราะหากคลอดโดยปกติจะมีความเสี่ยง เนื่องจากที่มดลูกจะมีรอยแผลจากการผ่าคลอด รกที่เกิดจากการตั้งครรภ์รอบใหม่จะลงไปฝังตัวลึกบริเวณรอยแผลดังกล่าว บางคนรกฝังตัวกินลึกเข้าไปในกล้ามเนื้อ บางคนก็ทะลุกล้ามเนื้อออกไปฝังตัวยังท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดภาวะตกเลือดได้ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องถูกตัดมดลูก บางคนต้องถูกตัดกระเพาะปัสสาวะบางส่วน และบางคนต้องเสียชีวิตลง นอกจากนี้การผ่าคลอดยังทำให้เกิดพังผืดในช่องท้องได้ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน

“สรุปคือการผ่าท้องคลอดมีประโยชน์ในกรณีที่มีความจำเป็น เพราะเป็นการช่วยชีวิตแม่และลูกให้ปลอดภัย ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า การผ่าท้องคลอดที่มีความจำเป็นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หากมีอัตราการผ่าคลอดเกินร้อยละ 15 แล้ว จะเป็นการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันอัตราการผ่าท้องคลอดของไทยอยู่ที่ร้อยละ 35-40 หรือ 1 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ นับเป็นอัตราที่สูงมาก โดยประเทศไทยยังมีอัตราการผ่าท้องคลอดสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศจีนเท่านั้น ขณะที่แชมป์โลกปัจจุบันคือประเทศบราซิล อยู่ที่ร้อยละ 60” ประธานราชวิทยาลัยสูตนรีแห่งประเทศไทย กล่าวและว่า นอกจากในด้านความปลอดภัยแล้ว การผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็น ยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น โดยการผ่าคลอดมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการคลอดปกติ 3-4 เท่า ซึ่งหากคิดภาพรวมทั้งประเทศน่าจะอยู่ที่หลักพันล้านบาท

ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า จากสถานการณ์ข้างต้นนี้ ในฐานะราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ คงไม่สามารถนิ่งเฉยได้ และต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีโอกาสเสนอข้อมูลนี้ ต่อที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งท่านเห็นด้วยที่ต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดอัตราการผ่าท้องคลอดที่ไม่จำเป็น โดยกำหนดให้เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขด้วย ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โดยเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นหากผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็น พร้อมให้โรงพยาบาลทั้งภายในและภายนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมประเมินเฝ้าระวังและลดการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็น

ส่วนที่เสนอให้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.เข้ามาควบคุมมาตรฐานโรงพยาบาลเพื่อลดการผ่าท้องคลอดที่ไม่จำเป็นนั้น เนื่องจากการผ่าท้องคลอดไม่จำเป็น เป็นการเพิ่มอันตรายให้กับแม่และเด็ก ซึ่งถือเป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ขณะที่ยุทธศาสตร์สำคัญของ สรพ.คือการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยในการรับบริการทางการแพทย์ ดังนั้นเรื่องนี้ สรพ.จึงมีบทบาทในการเข้ามาช่วยควบคุมและดูแล และให้โรงพยาบาลทำการประเมินตนเองถึงการผ่าคลอดที่ไม่จำเป็นที่เกิดในโรงพยาบาล

“เรื่องนี้เราคงอยู่เฉยไม่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องร่วมมือกัน เน้นการให้ความรู้ความเข้าใจ และตระหนักต่อปัญหาด้านสุขภาพที่ตามมาทั้งแม่และเด็ก ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุที่อัตราการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็นเพิ่มสูงขึ้น เพราะส่วนใหญ่ไม่ทราบผลกระทบต่อสุขภาพที่ตามมา ส่วนกรณีที่กลัวความเจ็บปวดในการคลอดนั้น ปัจจุบันมีหลายวิธีที่ช่วยได้ ทั้งการใช้ยาแก้ปวด การให้ญาติหรือสามีเข้าไปให้กำลังใจขณะคลอด เหล่านี้ช่วยลดความเจ็บปวดลงได้ ซึ่งดีกว่าในอดีตมาก”

ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า สำหรับการรณรงค์เพื่อลดการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็นนั้น คงมีการรณรงค์ไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับด้วยดีจากการรณรงค์ผ่าน www.change.org อย่างไรก็ตามส่วนตัวไม่ได้คาดหวังว่าจะทำให้มีการลดการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็นอย่างรวดเร็ว เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่อย่างน้อยให้อัตราการผ่าท้องคลอดไม่เพิ่มขึ้น และค่อยๆ ลดต่ำกว่าร้อยละ 30 จากจำนวนการคลอดทั่วประเทศ คงต้องใช้เวลา ทั้งนี้ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างมากและให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมลดอัตราการผ่าท้องคลอดที่ไม่จำเป็น

ร่วมรณรงค์ได้ ที่นี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธานราชวิทยาลัยสูติฯ เรียกร้อง สรพ.คุมมาตรฐาน รพ. เพื่อ ‘ลดการผ่าคลอดที่ไม่จำเป็น’

สรพ.เตรียงชง คกก.พิจารณาข้อเสนอลดผ่าคลอดใน รพ.เป็น 1 ตัวชี้วัดคุณภาพ