ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ใครเคยรู้สึกบ้างคะว่า ชีวิตที่ผ่านมาหลายฝนหลายหนาวฤดู เราผ่านความรักมากี่ครั้ง ไม่ว่าจะรักในครอบครัว รักจากพ่อแม่ รักจากพี่น้อง รักจากเพื่อนร่วมงาน รักจากเพื่อนสนิท หรือรักที่มีให้สมาชิกตัวน้อยๆ ของเราเอง หลายคนรู้สึกว่าบางครั้งความรักทำให้ก้าวย่างในชีวิตตัวเองช้าลง ช้าลงและยิ่งล้ายิ่งหนัก เหมือนแบกหินก้อนโตๆ ไปกับชีวิตตลอดเวลาจนทำให้เราหมดพลังใจ สิ่งที่หลายท่านแบกไว้โดยไม่รู้ตัว แท้จริงแล้วไม่ใช่ความรักแต่เป็นความอยาก ความคาดหวัง ยิ่งอยาก ยิ่งหวังมากก็จะยิ่งหนักอึ้ง หากเป็นรักที่แท้จริงจะทำให้คนเรายิ่งเบาสบาย

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา

สำหรับเรื่องนี้ นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ให้ความเห็นว่า ความอยาก ความคาดหวัง ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียทีเดียว เพราะมันเป็นเพียงกิเลสปกติของคนเราที่มีต้นกำเนิดมาจากความพยายามเติมเต็มสิ่งที่คนเราพยายามไขว่คว้า ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่จะสร้างพลังให้แก่ชีวิตคนเรา เชื่อมโยงเราไปสู่ความปรารถนาต่างๆ

แต่เราต้องมีความคาดหวังที่พอเหมาะจึงจะมีความสุขมีความสมดุลได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อยังเล็กๆ เมื่อเด็กปรารถนาความสำเร็จ การยอมรับ ความชื่นชม ความรัก เด็กหลายคนคิดว่าถ้าตัวเองมีความสำเร็จเรียนเก่ง พ่อแม่ก็ยอมรับและจะรักจึงทุ่มเทกับการเรียนมากมายเกินไปจนแทบไม่รู้ตัวว่าตัวเองเครียด ไม่รับรู้สัญญาณที่ร่างกายพยายามเตือน ตัวเองว่า “ฉันอยากพัก” เช่น เริ่มปวดท้อง ปวดหัว นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย

ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย

ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย กุมารแพทย์-จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่วัยเด็กเคยถูกเลี้ยงดูแบบนี้ ทำให้เกิดข้อสรุปการดำเนินชีวิตของตัวเองว่า ทำให้สำเร็จแล้วจะเป็นพ่อแม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันลูกให้สำเร็จเหมือนที่พ่อแม่ตัวเองเคยทำได้ ความคาดหวังนี้ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เห็นได้ทั่วไปคือ ผลักดันให้ลูกเรียนเยอะ หรือเมื่อลูกเริ่มอ่านหนังสือน้อยลง ลูกเล่นเกมมากขึ้น อาจเริ่มหงุดหงิดลูก โดยไม่รู้ตัวว่า ตนเองกำลังกลัว “กลัวไม่ได้อย่างที่หวัง”

หากพ่อแม่ท่านใดเป็นเช่นนี้ ขอให้ลองพิจารณาว่าความคาดหวังของเราตั้งแต่เล็กๆ ที่เริ่มถ่ายโอนมายังลูกนั้นยังเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ หากไม่เหมาะสม เพราะลูกและเราเริ่มเครียดเริ่มขัดแย้งกัน คุณพ่อคุณแม่อาจทิ้งความคาดหวังนั้นไป หรือเติมเต็มความคาดหวังด้วยวิธีอื่นๆ มองลูกให้รอบด้าน ยอมรับในตัวตนของเขา หาวิธีผลักดันที่จะมีความสุขทุกฝ่าย หากยอมทิ้งหรือปรับเปลี่ยนบางอย่างให้ใจเบา ท่านจะพบหนทางตอบสนองความปรารถนาในใจด้วยวิธีใหม่ เช่น ส่งเสริมให้เขาเรียนในสิ่งที่เขาชอบ เพราะจะสร้างแรงจูงใจให้เขาได้เห็นตัวตนที่ดีของตนเอง มากกว่าให้เรียนในสิ่งที่เราคิดว่าดีหรือเรียนตามกระแสนิยม ง่ายๆ เท่านี้ ท่านก็สามารถเปลี่ยนเป็นพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างพลังให้แก่ลูก ช่วยให้ลูกสามารถสร้างแรงจูงใจในตัวเอง

การที่ลูกจะเกิดพลังนั้นได้ ต้องเริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ยอมรับศักยภาพของลูกทีละน้อย ไม่ต้องรีบผลักดันแต่ให้ค่อยๆ เติมพลังให้ลูกด้วยการปลอบโยนให้กำลังใจยามเขาเหนื่อยรักลูกอย่างที่เขาเป็นในปัจจุบันก่อนจะทำให้ลูกเห็นความรักและการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขของพ่อแม่ ลูกก็จะกล้านำความรักของเขามาเชื่อมโยงกับพ่อแม่ แทนที่จะเอาความกลัวมาเชื่อมโยงกัน หรือแทนที่จะเอาความกลัวมาเป็นเกราะและผลักให้ห่างเหินกันเหมือนในอดีต ความรักของทั้ง 2 ฝ่าย จะทำให้เกิดพลังยิ่งใหญ่ในครอบครัว