ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดประกาศผลสำเร็จโครงการระดับชาติต้นแบบจังหวัดและอำเภอ เพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2558-2560) ชู 43 ตำบล ใน 26 จังหวัดนำร่อง 26 อำเภอต้นแบบ "ปลอดความพิการแต่กำเนิด" พร้อมจับมือ "สธ.-ศธ.-พม.-มท." ป้องความพิการแต่กำเนิด ได้ด้วยวิตามินโฟเลต

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ที่โรงแรมตวันนา สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงผลสำเร็จโครงการระดับชาติต้นแบบจังหวัดและอำเภอ เพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2558-2560) และขับเคลื่อนนโยบายสู่ระดับชาติแบบองค์รวมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี พญ.ชนิกา ตู้จินดา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เป็นประธานในการประชุม พร้อมมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ สถาบันการแพทย์ 8 แห่ง สาธารณสุขจังหวัด 25 จังหวัดนำร่อง จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการใหม่ ได้แก่ อ่างทอง, สมุทรปราการ, สระแก้ว, กรุงเทพมหานคร

พญ.พรสวรรค์ วสันต์ หัวหน้าโครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอ เพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย สสส. และนายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเทศไทยมีเด็กพิการแต่กำเนิดประมาณปีละ 30,000 คน สาเหตุของความพิการแต่กำเนิดเกินครึ่งหนึ่งมีผลมาจากพันธุกรรม แต่ความพิการแต่กำเนิดป้องกันได้ รวมทั้งสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กพิการตั้งแต่แรกเกิดและครอบครัวได้

ผลจากการดำเนินงาน โครงการระดับชาติต้นแบบจังหวัดและอำเภอ เพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2558-2560) จากความร่วมมือของสมาคมฯ สสส. คณะแพทยศาสตร์ 8 สถาบัน และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีเป้าหมายการทำงานในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่อง และกรุงเทพมหานคร (1 เขต) เพื่อจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิด ดูแลรักษา ป้องกันและฟื้นฟูให้กับเด็กพิการแต่กำเนิดในระดับจังหวัดและอำเภอ สอดคล้องกับการสนับสนุนระบบบริหารเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System :DHS) อันนับเป็นนวัตกรรมของประเทศไทย

จนเกิดเป็น 26 อำเภอต้นแบบ และ 43 ตำบล "ปลอดความพิการแต่กำเนิด” มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้พิการแต่กำเนิด ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมีการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดใน 5 กลุ่มโรค คือ 1. อาการดาวน์ 2. หลอดประสาทไม่ปิด 3. ปากแหว่งเพดานโหว่ 4. แขนขาพิการแต่กำเนิด และ 5. กล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมดูเชนน์

พญ.พรสวรรค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังร่วมขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติร่วมกับ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนงานระดับประเทศในการดูแลรักษา และป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิดของประเทศ โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวเสริมไวตามิน บี9 ร่วมกับกระทรวงเกษตรกำหนดกรดโฟลิกเป็นส่วนประกอบของอาหาร การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่กับการให้ความรู้การป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยการกินอาหารที่ประกอบด้วยสารโฟเลต เช่น ไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม คะน้า แครอต แคนตาลูป ฟักทอง ถั่ว ผักบุ้ง ตำลึง ซึ่งล้วนแต่มีโฟเลตสูงควรกินอย่างน้อย 4 ขีดต่อวันหรือกินวิตามินโฟลิกในรูปแบบเม็ด โดยหญิงที่ต้องการจะมีลูกต้องกินวิตามินโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน ต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากความพิการแต่กำเนิดได้ถึง 50% ซึ่งวิตามินนี้ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม หรือซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปราคาเม็ดละไม่เกิน 1 บาท ขนาด 5 มิลลิกรัม

"มีการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดตั้งแต่ในห้องคลอด วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลของเด็กพิการแต่กำเนิดในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อนำไปปรับปรุง/พัฒนางานบริการในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพจัดตั้งคลินิกความพิการแต่กำเนิดในโรงพยาบาลจังหวัดเพื่อการดูแลแบบองค์รวมที่สำคัญคือ พยายามผลักดันให้เป็นนโยบายระดับอำเภอ /ตำบล เพื่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นำไปสู่การบริหารจัดการ เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกับกองทุนฟื้นฟูในพื้นที่/อำเภอ/ตำบล เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนด้านงบประมาณในระยะยาวและยั่งยืน"

อนึ่งโครงการนี้เน้นการป้องกันด้วยวิตามินโฟเลตในหญิงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 12-49 ปี) โดยให้รับประทานสัปดาห์ละครั้งพร้อมกับเหล็ก ซึ่งเป็นนโยบายของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อยู่แล้ว ซึ่งเด็กหญิงในวันนี้จะเป็นแม่คนในวันหน้า ดังนั้นการป้องกันความพิการแต่กำเนิดสามารถทำได้โดยให้ความรู้แก่ประชาชน โดยให้วิตามินโฟลิก หรือB9 ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างและซ่อม DNA ในตัวอ่อนขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างสมองและระบบประสาท โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นเด็กคุณภาพโดยเริ่มจากแม่คุณภาพ