ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ปรียนันท์” ชี้ ผู้ป่วยไม่มีอำนาจต่อรองโรงพยาบาลเอกชน ไม่สามารถตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลได้ วอนสังคมร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญตั้งคณะกรรมการตรวจสอบราคาฯ ค่ารักษา

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวในเวทีเสวนาสภาผู้บริโภค ประเด็น “CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมในโรงพยาบาลเอกชน” เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันหากต้องการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ว่ามีราคาสมเหตุสมผลหรือไม่นั้น จะต้องร้องเรียนไปยังหลากหลายหน่วยงานที่แยกกันรับผิดชอบ อาทิ แพทยสภา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ฉะนั้นประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกที่ดูแลเรื่องนี้เป็นหนึ่งเดียว

นางปรียนันท์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล ซึ่งต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาเป็นคณะกรรมการ และที่ขาดไม่ได้คือตัวแทนของผู้บริโภค โดยเบื้องต้นได้ตั้งแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org จึงอยากให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อให้ครบ 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อจะนำไปยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างสะเด็ดน้ำ โดยปัจจุบันมีผู้สนับสนุนแล้วกว่า 4 หมื่นรายชื่อ

นางปรียนันท์ กล่าวอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลรัฐแล้ว จุดเด่นของโรงพยาบาลเอกชนคือมีความสะดวกสบายและรวดเร็วกว่าแต่ราคาแพงกว่า มักมีคำพูดที่ว่าเมื่อรู้ว่าแพงแล้วจะไปใช้บริการทำไม แต่ถามว่าในช่วงเวลาฉุกเฉินหรือวิกฤตชีวิตถามว่ามีทางเลือกหรือไม่ ฉะนั้นประเด็นก็คือประชาชนยอมที่จะจ่ายแพงได้ แต่ราคาต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและต้องตรวจสอบได้

“เราไม่สามารถตรวจสอบรายการค่ารักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชนได้เลย เราไม่มีอำนาจต่อรองเลย ขอรายละเอียดก็มักจะไม่ได้ คำถามคือค่ารักษาพยาบาลในรายการราคาที่สูงมากนั้นควรจะมีคำอธิบายบ้างใช่หรือไม่ เช่น ค่าบริการอื่นๆ คืออะไร อุปกรณ์ทางการแพทย์ คืออะไร หรือรายการที่เป็นภาษาอังกฤษ มีศัพท์ทางเทคนิค ถามว่าคนไข้จะอ่านออกหรือว่าเข้าใจหรือไม่ ปัญหาคือเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้” นางปรียนันท์ กล่าว

นางปรียนันท์ กล่าวต่อไปว่า ทางออกของปัญหาทั้งหมดก็คือการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลซึ่งจำเป็นต้องเป็นหน่วยงานอิสระและให้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะหากเป็นหน่วยงานรัฐเหมือนเดิมก็จะกลับสู่เรื่องความล้มเหลวแบบเดิมๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สภาผู้บริโภค’ จี้รัฐล้อมคอก รพ.เอกชน ขูดรีดค่ารักษาพยาบาล

สภาผู้บริโภคจี้ รพ.เอกชน รับผิดชอบต่อสังคม เหตุถูกร้องเรียนอื้อ

เหยื่อ รพ.เอกชน สุดช้ำ ถูกรีดค่ารักษาจากความผิดพลาดของ รพ.เอง

ค้านปล่อยเสรีธุรกิจ รพ. ภาค ปชช.เรียกร้องรัฐตรา กม.คุมค่ารักษา

จดหมายแค่ฉบับเดียวทำให้ไม่ได้ ญาติคนไข้ โวย รพ.เอกชน ไม่ตั้งเรื่องเบิกเงิน 8 หมื่นบาทคืน

ร่วมลงชื่อที่ Change.org