ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ นำเทคโนโลยีบริหารจัดการเป็น Smart Hospital พัฒนา Application ลดระยะเวลารอคอย ทดลองใช้ในโรงพยาบาล 6 แห่งภายใน 3 เดือน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมกรมการแพทย์เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญ

นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า กรมการแพทย์เป็นกรมวิชาการ มีโรงพยาบาลและสถาบันที่เป็นศูนย์เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ตามชื่อของโรงพยาบาลหรือสถาบัน เช่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล รวมทั้งทำหน้าที่เป็นผู้ชี้นำในการค้นหาสาเหตุการเกิดโรค การป้องกันให้เกิดโรคน้อยลง หรือสถาบันโรคผิวหนังที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เป็นแหล่งข้อมูลด้านผิวหนังที่สำคัญของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของรัฐบาลที่ได้รวบรวมข้อมูลข่าวสารในรูปแบบ Big Data ถ้าเรารู้ข้อมูลจะนำไปใช้ในการควบคุมป้องกันโรคได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ นอกจากจะพัฒนาศักยภาพด้านการรักษาพยาบาลเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์แล้ว งานที่ต้องทำควบคู่กันคือ งานวิจัย งานวิชาการ และบริการวิชาการ สิ่งที่ต้องพัฒนาเป็นอันดับแรก คือการเป็น Smart Hospital ใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการ ช่วยให้งานบริการผู้ป่วยรวดเร็วขึ้น สิ่งที่ประชาชนจะได้คือ ลดระยะเวลาการรอคอย

“ขอให้กรมการแพทย์นำเทคโนโลยีนวัตกรรมความเป็นเลิศ ลงไปประสานให้เกิดประโยชน์กับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขนำไปพัฒนางาน การทำงานต้องมองภาพรวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ที่ดำเนินการได้ถึงระดับปฐมภูมิหรือทุติยภูมิได้ เช่น เรื่องคลินิกดูแลผู้ป่วยโรคไตวาย (CKD Clinic) ที่ขณะนี้มีกระจายไปในโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแห่งที่มีความพร้อม” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์วางแผนนำเทคโนโลยี Digital มาใช้ในโรงพยาบาล เช่น การจัดทำระบบนัดหมายล่วงหน้า การจัดระบบพบแพทย์เป็นรอบ 1 ชั่วโมง แทนที่การให้ประชาชนรอนานถึง 4 ชั่วโมง โดยในอนาคตจะพัฒนา Application ผู้ป่วยจะทราบว่า อีกกี่นาทีจะได้พบแพทย์ สามารถบริหารจัดการเวลาระหว่างรอพบแพทย์ได้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 3 เดือน โดยจะทดลองใช้ใน 6 โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง), สถาบันโรคทรวงอก, สถาบันโรคผิวหนัง, สถาบันทันตกรรม, สถาบันประสาทวิทยา และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ