ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาสังคมชี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้กฎหมายสิทธิบัตรถอยหลัง ทำประเทศเสียประโยชน์เพิ่มไปอีก เอื้อประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ และทำเกินไปกว่าข้อตกลงความตกลงทริปส์ แทนที่จะแก้ไขให้ดีขึ้น พร้อมเสนอความเห็นปรับแก้ร่างกฎหมายสิทธิบัตรให้ทันสมัยเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ จี้เร่งแก้ไขทันที ก่อนทำประเทศชาติเสียหายหนักไปกว่านี้

นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และองค์กรภาคีได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศเชิญชวน โดยพบว่าในการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรครั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้นำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยความตกลงทริปส์ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปพิจารณาประกอบการแก้ไข โดยเฉพาะประเด็น “การยอมรับพิธีสารดังกล่าวจะต้องไม่นำไปสู่มาตรการทริปส์ผนวก (TRIPs-plus) ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงยารักษาโรค” และยังไม่มีการนำข้อเสนอแนะในรายงานการเข้าถึงยาของคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงแห่งองค์การสหประชาชาติ ในส่วนเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาและธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ซึ่งเคยระบุอยู่ในจดหมายที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์เคยส่งให้กรมฯ ไปพิจารณาประกอบ

นส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญพบว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สิทธิบัตร ครั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาสอดแทรกเนื้อหาซึ่งเกินไปกว่าความตกลงทริปส์ (TRIPs-plus) ที่ทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ และเป็นการถอยหลังจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันดังนี้

1.การใช้สิทธิ์ตามสิทธิบัตรโดยรัฐที่เปิดให้ผู้ทรงสิทธิ์สามารถฟ้องยกเลิกคำสั่งฯ ต่อศาล และให้ผู้ทรงสิทธิสามารถอุทธรณ์คำสั่งฯ ต่อศาลในเงื่อนไขหรือข้อจำกัดสิทธิ จากเดิมที่ให้อุทธรณ์ต่อกรมในประเด็น “จำนวนค่าตอบแทน” เท่านั้น

2.กรมทรัพย์สินทางปัญญายังตัดสิทธิ์หน่วยงานระดับทบวงและกรม ที่เดิมสามารถใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐได้ แทนที่จะเพิ่มหน่วยงานรัฐอื่นๆ เข้าไป

3.ประเด็นค่าตอบแทนแก่ผู้ทรงสิทธิ ในทางสากลให้คำนึงถึงระดับเศรษฐสถานะของประเทศที่บังคับใช้สิทธิ์ แต่ทางกรมฯกลับเลือกใช้ค่าตอบแทนตามมูลค่าทางเศรษฐกิจของการอนุญาต ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯในการเจรจาเอฟทีเอ ก่อนหน้านี้

4.การแก้ไขครั้งนี้ แม้กรมฯ จะปรับปรุงขั้นตอนการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตรให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ได้ตัดสิทธิ์อุทธรณ์ของผู้คัดค้านออกไป ซึ่งนี่ถือเป็นการถอยหลังจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“หากกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก กพย.และองค์กรภาคีขอให้กรมฯ ตัดประเด็นดังกล่าวข้างต้นออกไปจากร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับที่กำลังแก้ไขนี้ทันที เพื่อมิให้การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและคุณภาพชีวิตของประชาชน” นส.กรรณิการ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ กพย.และองค์กรภาคีขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาเพิ่มเติมประเด็นดังต่อไปนี้ด้วย อาทิเช่น เพิ่มบทบัญญัติกรณีที่ไม่ถือว่าเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น, เพิ่มกลไกการควบคุมราคายาสิทธิบัตร, เพิ่มนิยามคำว่า “สาระสำคัญ”, เพิ่มความชัดเจนของการอ้างอิง Priority date และการนับอายุสิทธิบัตร, เพิ่มการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบสิทธิบัตรต่อสาธารณะ และเพิ่มความชัดเจนในกระบวนการและระยะเวลาในการพิจารณาตามขั้นตอนต่างๆ เป็นต้น

“ขอเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญานไข้อคิดเห็นของภาคประชาสังคมไปพิจารณาในการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรโดยทันที เพื่อไม่ให้เป็นที่เคลือบแคลงว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ฟังเสียงประชาชน และเพื่อให้การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศต่อไป” นักวิจัยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าว

ทั้งนี้ องค์กรที่ร่วมทำความเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรครั้งนี้ประกอบไปด้วย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.), เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน, องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ