ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่าแนวทางบริหารจัดการโรงพยาบาลขนาดเล็ก ผอ.รพ.นาคู ชี้หัวใจสำคัญคือต้องทำให้โรงพยาบาลอยู่ได้ด้วยตัวเอง ยืนยันงบประมาณจากบัตรทองเพียงพอ แต่ต้องเคลมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เปิดกลยุทธ์ใช้บุญนำ หาความต้องการชาวบ้าน จัดผ้าป่าสร้างตึก 30 เตียงสำเร็จ ชี้บุคลากรสำคัญที่สุด ระบุ รพ.นาคูจ่ายค่าตอบแทน ฉ.11 เป็นที่แรกของจังหวัด จ่ายครบ 100% ไม่มีลดค่าโอที

นพ.สุรพงษ์ ลักษณวุธ

นพ.สุรพงษ์ ลักษณวุธ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการโรงพยาบาลขนาดเล็ก (F3) ซึ่งมีประชากรในพื้นที่ประมาณ 3 หมื่นราย ไม่ให้ขาดสภาพคล่องว่า องค์ประกอบสำคัญที่สามารถทำให้โรงพยาบาล F3 ธำรงอยู่ได้ ประกอบด้วย 1.บุคลากร ทั้งทีมผู้ปฏิบัติและทีมผู้บริหาร ที่ต้องมีความมุ่งมั่น มีความศรัทธา มีขวัญกำลังใจที่จะมาช่วยกันพัฒนา 2.ประชาชนในพื้นที่ ต้องมีความต้องการโรงพยาบาลจริงๆ คือต้องระเบิดจากข้างในตัวของเขาเองก่อน เมื่อบุคลากรมีความตั้งใจที่จะเริ่มและประชาชนมีความต้องการที่จะร่วมสร้าง ทั้ง 2 ส่วนก็จะมาเรียนรู้ร่วมกันที่จะพัฒนาและสร้างโรงพยาบาลด้วยกัน

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลนั้น ต้องเริ่มต้นจากโรงพยาบาลแม่ข่ายหรือตัวจังหวัดต้องเข้ามาCoaching ทั้งระบบบริการ ระบบดูแลคนไข้ ระบบการสนับสนุน ระบบการเงินการคลัง ระบบการเคลม เพื่อประคองให้โรงพยาบาล F3 สามารถเดินต่อไปให้ได้ ขณะเดียวกันต้องสร้างการรับรู้ของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานให้ทราบถึงพันธกิจ วิสัยทัศน์ ของโรงพยาบาล

“หัวใจหลักของการพัฒนาโรงพยาบาล F3 คือจะต้องทำให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเองอย่างเร็วที่สุด นั่นหมายความว่าต้องมีงบประมาณที่มาหล่อเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าแรง ค่าเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนอยากเข้ามาอยู่ในระบบ เพราะปัญหาของโรงพยาบาลขนาดเล็กคือบุคลากรไม่อยากอยู่ในระบบ เนื่องจากค่าตอบแทนต่ำ ดังนั้นไฮไลท์ที่สำคัญที่สุดของโรงพยาบาล F3 คือจะต้องหาเงินให้เป็น” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

สำหรับแหล่งที่มาของรายได้ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมั่นใจว่าเงินจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง สามารถหล่อเลี้ยงทำให้โรงพยาบาลอยู่ได้ ถ้าหากรู้จักวิธีหาให้เป็น ซึ่งจะต้องมีการสร้างการรับรู้ในการหารายได้เข้าองค์กรตามระบบระเบียบที่ถูกต้อง ซึ่งหากเทียบกับโรงพยาบาล F2 แบบปอนด์ต่อปอนด์ จะพบว่าโรงพยาบาลนาคูมีศักยภาพในการหาเงินได้มากกว่า นั่นเพราะเราสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรและจัดลำดับความสำคัญเรื่องนี้เป็นลำดับแรก กล่าวคือบุคลากรสามารถเคลมเงินจาก สปสช.ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในทุกๆ รายการ

“พอมีเงินเข้ามา เราก็สามารถขยายการบริการให้กับประชาชนได้ แต่อะไรที่ยังเกินศักยภาพของโรงพยาบาล และเกินกว่าที่เราจะรองบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง สปสช. เราก็จะเอาความต้องการเหล่านี้ไปสู่ชุมชน โดยเข้าไปคุยกับประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน ตั้งเป็นคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลขึ้นมา มีนายอำเภอเป็นประธาน เพื่อให้เขารับรู้และร่วมออกแบบว่าต้องการโรงพยาบาลในฝันแบบใด และจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลนาคูใช้แนวคิดบวร คือบ้าน วัด โรงเรียน เป็นกลไกขับเคลื่อน ซึ่งต้องเข้าใจว่าประเทศไทยต้องอาศัยแรงศรัทธาเป็นตัวนำ การหาเงินหากให้นายอำเภอพูดจะได้ไม่เท่ากับพระพูด ฉะนั้นจึงไม่ระดมทุนผ่านผู้นำที่เป็นฆราวาส แต่จะระดมทุนผ่านศูนย์รวมจิตใจของชุมชนซึ่งก็คือวัด โดยการเข้าถึงวัดนั้นไม่ใช่เพียงแค่โรงพยาบาลไปคนเดียว แต่จำเป็นต้องดึงชุมชนและชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

“ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลนาคูเคยจัดผ้าป่ามาแล้ว 2 ครั้ง ได้เงินเพียงพอสำหรับสร้างอาคารผู้ป่วยในประมาณ 10 เตียง เมื่อมีอาคารผู้ป่วยในแล้วเราก็มีรายได้จากตรงนั้นเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงโรงพยาบาล และสามารถจ่ายค่าแรง และค่าล่วงเวลาให้กับบุคลากรได้ และเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการจัดผ้าป่าครั้งที่ 3 ได้เงินร่วมๆ 8 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาสร้างอาคารผู้ป่วยเพิ่มอีก 30 เตียง” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยเข้ามารับบริการผู้ป่วยในและได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลนอกพื้นที่ ฉะนั้นเมื่ออาคาร 10 เตียงไม่เพียงพอ ชาวบ้านก็เห็นตรงกันถึงความสำคัญที่จะขยายเพิ่ม จึงมีการจัดผ้าป่าและได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน โดยมีผู้มาร่วมงานหลายพันชีวิต ซึ่งขณะนี้ได้ก่อสร้างไปแล้ว 40% คาดว่าไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้จะสามารถเปิดให้บริการได้

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เงินได้ที่จากผ้าป่ารอบที่ 3 คือประมาณ 8 ล้านบาท แต่ผู้รับเหมาก็คิดให้ในราคาร่วมกันทำบุญอีกเช่นกัน คือคิดค่าก่อสร้างเพียง 7 ล้านบาท ตรงนี้ถือเป็นอานิสงส์ร่วมกัน คือเราใช้บุญนำ และเชื่อว่าฟ้าก็เห็นว่าเราทำอะไร องค์หลวงพ่อครูบาอาจารย์ก็สอนให้เราทำบุญด้วยการสร้างโรงพยาบาลแล้วจะได้อานิสงส์สูงสุด ส่วนตัวคิดว่าวิธีการบริหารจัดการนี้สามารถนำไปปรับใช้กับโรงพยาบาลอื่นๆ ได้ทั่วประเทศ

“และต่อไปเราพร้อมจะเข้าสู่ระบบ HA เพราะขณะนี้โรงพยาบาลของเรามีทรัพยากรเพียงพอ มีคนพร้อมจะย้ายเข้ามา ผมเชื่อว่าหากเจ้าหน้าที่กินอิ่มนอนหลับ จะทำให้เกิดกำลังใจ และพร้อมจะเผื่อแผ่ต่อไปให้คนไข้ ค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ตาม ฉ.11 โรงพยาบาลนาคู ก็จ่ายเป็นที่แรกในจังหวัด จ่าย 100% และไม่มีลดค่าโอทีของเจ้าหน้าที่ด้วย”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง