ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ชวนเด็กทำกิจกรรมช่วงปิดเทอม “ค่ายรู้รอดปลอดภัย” หวังประเมินความรู้ เพิ่มศักยภาพ พร้อมผลักดันทักษะกู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉินบรรจุเข้าหลักสูตรการศึกษา

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2561 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักกิจการลูกเสือและกิจการนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี สำนักอุทยานการเรียนรู้ สำนักนายกรัฐมนตรี มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และสำนักการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ได้ร่วมจัดกิจกรรมทบทวนและประเมินผล การเรียนรู้และฝึกทักษะ “ค่ายรู้รอดปลอดภัย” ของ โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อพัฒนารูปแบบสู่ความยั่งยืน โดยมีนักเรียนและผู้ปกครองกว่า 70 คนเข้าร่วมกิจกรรม

นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ต้องการประเมินผลนักเรียนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายรู้รอดปลอดภัย ทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมานั้น ว่าเด็กๆ จะสามารถจดจำหรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่ ซึ่งนักเรียนที่เข้าร่วมอบรมมีทั้งมาจากโรงเรียนคัดเลือกมา และสมัครมาเอง การประเมินครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้เห็นภาพว่านักเรียนหรือคุณครูที่ผ่านการเข้าค่ายแบบไหน ที่ยังคงมีความรู้และทักษะต่างๆ ตามที่ได้ผ่านการอบรมมา เช่น ทำอย่างไรให้มีสุขภาพดี ช่วยอย่างไรเมื่อหมดสติหยุดหายใจ การประเมินความเสี่ยงและอันตราย อุบัติเหตุภายในบ้าน การแจ้งประสานเหตุ อุบัติเหตุทางถนน ภาวะอุดกั้นของทางเดินอาหาร ลมชัก การดามและห้ามเลือด ภัยจากน้ำท่วม เป็นต้น

“จากนี้ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ จะได้นำผลประเมินมาวิเคราะห์ เพื่อนำมาปรับปรุงทั้งในเรื่องของวิชาการและกิจกรรมการฝึกทักษะที่จะจัดขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับความสนใจของนักเรียน ทั้งนี้ทักษะการช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน เป็นทักษะที่ต้องมีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้ผลการประเมินครั้งนี้แล้ว จะนำไปประกอบเป็นข้อมูลในหนังสือสรุปผลการดำเนินงานจัด “ค่ายรู้รอดปลอดภัย” เพื่อเรียนให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับทราบถึง รูปแบบในการฝึกทักษะต่างที่มีความจำเป็นต้องสอนให้นักเรียนได้รับรู้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กไม่ต้องรอให้โตก่อน ซึ่งกระบวนการอบรมวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ยังเด็กนั้น ทำได้ไม่ยาก และจะทำให้เด็กเหล่านี้มีการจดจำ หากถ้ามีการฝึกฝนได้อย่างต่อเนื่อง เด็กๆก็จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้กับตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างได้” นพ.สันต์ กล่าว

คุณหญิงเดือนเพ็ญ พึ่งพระเกียรติ คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีนักเรียนที่ตอบรับเข้าร่วม 70 คน และมีผู้ปกครองส่วนหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีเด็กๆที่ส่งบทความเกี่ยวกับ ประสบการณ์ของตนเองโดยได้ใช้ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าค่ายไปใช้ เข้าประกวด จำนวน 24 บทความ และมีจัดกิจกรรมให้เด็กได้บอกเล่าประสบการณ์การช่วยเหลือที่เกิดขึ้นหลังการเข้าค่าย พร้อมเล่นเกมส์ต่างๆ และทดสอบการเรียนรู้ทั้ง 12 ฐานของ “ค่ายรู้รอดปลอดภัย” และการประกาศผลรางวัลประกวดเรียงความ พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรแก่เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้

“การจัดกิจกรรม ค่ายรู้รอดปลอดภัย ทั้ง 4 ครั้งนั้น หวังว่า งานที่ทางสมาคมฯทำจะเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ สามารถให้ความรู้แก่เด็กเล็กหรือเด็กแต่ละช่วงวัยได้ การจุดประกายให้เด็กที่เข้ารับการอบรมนำความรู้ที่ได้ไปกระจายสู่ครอบครัว สังคม รวมถึงนำกระบวนการความรู้ไปใช้ได้จริง เราได้รับการตอบรับที่ดี ทั้งเด็กและผู้ปกครองให้ความสนใจมากขึ้นและเรียกร้องให้มีการจัดกิจกรรมอีก ทั้งนี้การประเมินส่วนหนึ่งจะดูว่านักเรียนที่สมัครเข้ามาเองกับนักเรียนที่มากับโรงเรียน นักเรียนแบบใดที่มีความสนใจมากกว่ากัน นอกจากนี้ ประเทศไทยควรจะสอนทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ต้องรอให้โตก่อนแล้วค่อยสอน การกระจายความรู้ไปสู่เด็กเหมือนกับการเปลี่ยนสังคมสอนให้เด็กมีทักษะชีวิตมากขึ้น จึงอยากให้ผู้ใหญ่ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำวิธีการการฝึกให้ความรู้และทักษะดังกล่าวไปใช้ในวงกว้าง” คุณหญิงเดือนเพ็ญ กล่าว

ขณะที่ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้ทำนายไว้ว่าในปี พ.ศ. 2573 ประชากรโลกจำนวน 23 ล้านคนจะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โดยร้อยละ 85 อยู่ใน ประเทศกำลังพัฒนา และเป็นประชากรกลุ่ม วัยแรงงาน สำหรับประเทศไทย มีคนไทยป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ในสัดส่วนที่สูงกว่านานาชาติ โดยสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 300,000 กว่ารายในปี ดังนั้น การจัดกิจกรรม ค่ายรู้รอดปลอดภัย ของสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯนั้น เป็นการให้ความรู้แก่นักเรียนในระดับต่างๆ ให้ได้ความรู้และทักษะในการดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี ไม่ให้เจ็บป่วย และโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs สามารถดูแลทั้งตนเองและผู้อื่นได้ รวมทั้งยังมีจิตอาสาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น

“ที่ผ่านมาทักษะการช่วยเหลือชีวิตของไทยถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรในวิชาลูกเสือและเนตรนารี ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ควรมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งในอนาคตทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจะถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ในวัยเด็กและต่อเนื่องไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งหวังว่า การดำเนินการที่ดีนี้ จะส่งผลให้เด็กไทยสามารถเติบโตเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ตลอดจนหากประสบเหตุก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ อันจะเป็นผลช่วยลดอัตราการตายและความพิการของผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง” นพ.บัณฑิต กล่าว