ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ ชี้ ประกาศเพิ่มเติมค่าตอบแทน ฉ.11 เพิ่มสายงานในสหสาขาวิชาชีพและให้นับระยะเวลาทำงานต่อเนื่องเมื่อเปลี่ยนสายงานได้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน แต่ยังต้องแก้นิยามให้ครอบคลุมบางสายงาน รวมถึงแก้ไขระเบียบให้ครอบคลุมถึง สสอ. สสจ.ด้วย

นายริซกี สาร๊ะ

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) ให้ความเห็นถึงการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง รายชื่อสาขาวิชาชีพและรายชื่อสายงานที่สามารถนับระยะเวลาต่อเนื่องได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน แนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11 (ฉ.11) โดยระบุว่า การออกประกาศฉบับนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและช่วยในเรื่องขวัญกำลังใจบุคลากรมากขึ้น เนื่องจากได้เพิ่มรายละเอียดของ ฉ.11 ให้ชัดเจนในหลายๆประเด็น

นายริซกี กล่าวว่า หนังสือฉบับนี้ให้ความชัดเจนในหลายประการดังนี้

1.ได้มีการเพิ่มเติมกลุ่มสหสาขาวิชาชีพ (ระดับปริญญาตรี) จาก 10 สาขา เป็น 12 สาขา โดยเพิ่มในส่วนของนักสังคมสงเคราะห์ และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้สามารถรับค่าตอบแทนในอัตราของกลุ่มสหสาขาวิชาชีพได้

2.ในหลักเกณฑ์นี้ได้ระบุถึงความชัดเจนของเจ้าหน้าที่ที่เข้าข่ายตามนิยามที่สามารถรับค่าตอบแทนได้ในทุกกลุ่ม ทั้งในส่วนของข้าราชการ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ (จากเดิมที่บางหน่วยงานไปนิยามว่าให้เฉพาะข้าราชการเท่านั้น)

3.ระบุถึงสายงานที่สามารถนับระยะเวลาต่อเนื่องในการทำงานได้ จากเดิมที่เมื่อมีการเปลี่ยนสายงานใหม่ต้องนับระยะเวลาในการทำงานใหม่จนทำให้อายุราชการขาดหายไป เช่น เจ้าพนักงานสาธารณสุขที่ไปเรียนต่อพยาบาลวิชาชีพ เดิมนับต่อเนื่องไม่ได้ แต่หนังสือนี้ได้แก้ไขให้สามารถนับระยะเวลาต่อเนื่องได้แล้ว หรือสายงานทั่วไปที่จบปริญญาตรีทีมีคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติงานในสายงานในแท่งวิชาการ หลายสายงานก็สามารถนับระยะเวลาต่อเนื่องได้เช่นกัน

นายริซกี กล่าวต่อไปว่า ในภาพรวมของหนังสือฉบับนี้แล้ว กล่าวได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการแก้ไขประเด็นที่มีการเรียกร้องในเรื่องความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนต่างๆ มาเป็นลำดับ แต่ในหนังสือฉบับนี้ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ ฉ.11 ในบางประเด็นเท่านั้น (เรื่องสหสาขาและสายงานที่นับระยะเวลาต่อเนื่อง) หลักใหญ่ใจความสำคัญยังอยู่ในหลักเกณฑ์ ฉ.11 และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงขอให้บุคลากรสาธารณสุขไปศึกษาหลักเกณฑ์ ฉ.11 และระเบียบที่เกี่ยวข้องประกอบก่อนมาอ่านหนังสือฉบับนี้ จะได้มีความเข้าใจมากขึ้น เพื่อพิทักษ์สิทธิประโยชน์ตนเอง และสื่อสารให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่แท้จริง อันจะส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตีความในทางที่เป็นคุณต่อบุคลากรมากยิ่งขึ้น

เช่น ในประเด็นเจ้าพนักงานต่างๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งสายงานในแท่งทั่วไป แต่มีวุฒิปริญญาตรีแล้วแต่ยังไม่สามารถปรับตำแหน่งได้ด้วยสาเหตุต่างๆ ก็สามารถมอบหมายคำสั่งให้ปฏิบัติงานในสายงานในแท่งวิชาการได้ ยกตัวอย่างเช่นเจ้าพนักงานสาธารณสุข ที่มีคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขเป็นลายลักษณ์อักษร ก็จะได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในอัตราหรือ rate นักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งประเด็นนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีผู้บริหารที่ตีความแตกต่างกันไป หนังสือฉบับนี้ จะช่วยให้เกิดการตีความที่ถูกต้อง และเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรมากขึ้น

นอกจากนี้จากการที่ตนได้ไปประชุมในเวทีค่าตอบแทนในหลายเวที ทำให้ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจนแล้วว่าการจัดสรรเงินงบประมาณค่าตอบแทน ควรให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้100% (12 เดือน) ตามที่มีการเรียกร้อง เนื่องจาก รพ.สต.ไม่มีงบประมาณหรือรายได้เป็นของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้คงต้องติดตามให้เกิดผลในทางปฏิบัติในทุกพื้นที่ด้วยเช่นกัน

นายริซกี กล่าวอีกว่า ผลสืบเนื่องจากการปรับหลักเกณฑ์ ฉ.8 ที่ระบุสายงานต่างๆ ที่มีสิทธิรับค่าตอบแทน คือสายงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโดยตรง แก้ไขมาเป็นหลักเกณฑ์ ฉ.11 ที่ได้ตัดคำว่าโดยตรงออก ทำให้สายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย เช่น เวรเปล คนขับรถ ผู้ช่วยเหลือคนไข้ เจ้าหน้าที่ back office บางส่วนก็ได้รับค่าตอบแทนด้วย แต่ในบางสายงาน เช่น เวชสถิติ โสตทัศนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ กลุ่มนี้ก็เรียกร้องว่าตนก็ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเช่นกัน (ทำบัตรระเบียนคนไข้ บันทึกข้อมูลคนไข้ ทำสื่อให้คนไข้) ก็สมควรจะได้ด้วย แต่ในนิยามยังไม่ได้ระบุชัด ซึ่งทำให้ยังมีการตีความ บางที่ให้ บางที่ยังไม่ให้ ทั้งที่ทุกหน่วยงานตามหลักเกณฑ์ ฉ.11 สมควรที่จะให้ค่าตอบแทนสายงานเหล่านี้ด้วยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ในอนาคต ในเรื่องค่าตอบแทนยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม อีกดังนี้

1.การแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพราะกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้แก้ไขระเบียบเงินบำรุงให้ สสอ.และ สสจ.เป็นหน่วยบริการแล้ว แต่ในหลักเกณฑ์ ฉ.11 ยัง ไม่ได้ระบุถึง สสอ.และ สสจ. ทำให้ในปี 2561 ยังไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรใน สสอ.และสสจ.ได้

2.ซึ่งคาดว่าในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อปรับปรุงนิยามใน ฉ. 11 ให้ครอบคลุม สสอ.และ สสจ.ด้วย รวมทั้งรายละเอียดว่าจะจ่ายในอัตราเท่าใดและใช้งบประมาณจากที่ใด เป็นต้น เพื่อให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรใน สสอ.และ สสจ.ได้ในปีต่อไป

3.ทบทวนหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนทุกฉบับให้มีความเหมาะสมมากขึ้น คือแม้ว่าจะลดความเหลื่อมล้ำของค่าตอบแทนได้ดีขึ้น จากเดิม ฉ. 8 มีความต่างเป็นร้อยเท่า (เรทต่ำสุดรับค่าตอบแทน 600 บาท สูงสุดรับค่าตอบแทน 60,000 บาท) กลายเป็น ฉ.11 ที่ต่างกันถึง 60 เท่า (ต่ำสุดรับค่าตอบแทน 1,000 สูงสุดรับค่าตอบแทน 60,000 บาท แต่หากค่าตอบแทน ฉ.11 และค่าตอบแทนอื่นๆ ยังคงมีความต่างที่มากเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ตามมา จึงควรมีการทบทวนหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนทุกฉบับให้มีความเหมาะสมมากขึ้นในทุกๆ 1-2 ปี

“ทั้งนี้ขอขอบคุณผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับเรื่องค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุขและแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีความต่อเนื่อง เพียงแต่หลังจากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่าในทางปฏิบัติแล้วในแต่ละพื้นที่จะนำนโยบายค่าตอบแทนเหล่านี้ไปปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด” นายริซกีกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.ปรับรายชื่อสาขาวิชาชีพเบิกค่าตอบแทนตาม ฉ.11 พร้อมปรับบัญชีสายงานนับเวลาต่อเนื่องได้