ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จังหวัดพังงา เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่า เป็นเมืองที่มีความสุขเป็นอันดับ 1 ในภาคใต้และกำลังเป็นเมืองที่สร้างความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางการพัฒนาที่รุกคืบเข้ามา อาจกำลังส่วนทางกับความมุ่งหมายของคนในจังหวัด ที่มีเป้าหมายให้เมืองพังงาเป็นเมืองแห่งความสุข ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อสร้างสุขภาวะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างรูปธรรมให้เกิดการสร้างสุขภาวะพลเมืองฝั่งอันดามันภายใต้ “อันดามัน go green”

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. บอกว่า การสนับสนุนหอการค้าจังหวัดพังงา ถือเป็นครั้งแรกที่ สสส.เห็นภาคธุรกิจเป็นเจ้าหน้าหลัก และเป็นตัวตั้งตัวตีในการลุกขึ้นมาทำเรื่องของความสุขในพื้นที่ของตัวเอง โดย สสส.ให้การสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อต้องการเห็นภาพของคนพังงาลุกขึ้นมาทำเรื่องของความสุข โดยเฉพาะภาคเอกชนที่นำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้มอบให้คนไทยมาประยุกต์ใช้

“เราอยากเห็นภาคเอกชนลุกขึ้นมาทำเรื่องของความสุขที่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นความสุขที่ต้องการรักษาทรัพยากร ซึ่งจังหวัดพังงาถือเป็นจังหวัดแรกที่ภาคธุรกิจในพื้นที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการขับเคลื่อนต้นแบบให้พังงามุ่งสู่เมืองแห่งความสุข ซึ่งหากภาคธุรกิจสามารถเป็นกลไกหลักในการสร้างความสุขหรือสร้างสุขภาพที่ดีได้ ก็จะเป็นโมเดลที่เป็นรูปธรรมนำมาขับเคลื่อนสุขภาวะในเมืองอื่น ๆได้ด้วย”น.ส.ดวงพร กล่าว

หัวใจขับเคลื่อน “พังงาเมืองแห่งความสุข”

นายสมเกียรติ รัตนรังษิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดพังงากล่าวว่า ไม่อยากเห็นพังงาเปลี่ยนแปลงอย่างไร้ทิศทาง เพราะเราเห็นบทเรียนจากการเปลี่ยนแปลงของจังหวัดที่อยู่รอบๆพังงา อย่าง จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ที่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ จนส่งผลให้คนในพื้นที่เกิดความทุกข์ ทั้งปัญหารถติด ขยะล้นเมือง ปัญหาน้ำเสีย จึงหารือกันในภาคธุรกิจว่าเราจะพัฒนาเมืองอย่างไรให้ชาวพังงามีความสุข

“เราไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่ให้มีการพัฒนาทางวัตถุเลยในพื้นที่ แต่เรามุ่งหมายว่า ไม่ว่าจะพัฒนาอะไรก็ตาม ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และการท่องเที่ยว ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความสุขของคนพังงา คือมีความเหมาะสม ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนพังงาเองและเกิดความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่พังงาได้” นายสมเกียรติ กล่าว

ด้านนายมานิต เพียงพร ปลัดจังหวัดพังงา กล่าวว่า การขับเคลื่อนของภาคเอกชนและภาคธุรกิจพังงาในเรื่องความสุข เป็นความเข้มแข็งของคนพังงาที่ต้องการรักษาทรัพยากรให้อยู่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดพังงาเอง ภายใต้เรารักพังงาที่ดำเนินการใน 5 ด้าน คือ ด้านความปลอดภัย ด้านการท่องเที่ยว ด้านอาหารปลอดภัย ด้านการกีฬาและด้านความสะอาดของเมือง ก็จะเป็นส่วนเติมเต็มกันและกัน เชื่อว่าการดำเนินงานของหอการค้าพังงา ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จะทำให้พังงาเป็นเมืองแห่งความสุขที่ยั่งยืนได้ จากการร่วมมือกันหลายฝ่ายและคนพังงาเองด้วย

ชูกระบี่ go green ต้นแบบพังงา go green

นายสุทธิโชค ทองชุมนุม กรรมการหอการค้าจังหวัดพังงา ในฐานะประธานโครงการพังงาแห่งความสุข กล่าวว่าจังหวัดพังงา ถูกจัดอันดับให้เป็นจังหวัดที่มีความสุข อันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่หอการค้าคิดว่า ทำอย่างไรจังหวัดพังงา จะคงรักษาเมืองแห่งความสุขนี้ไว้ได้ จึงตั้งโจทย์นี้ เพื่อกำหนดประเด็นว่าทำอย่างไรพังงาจึงจะเป็นเมืองแห่งความสุข โดยมีภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นจนตกผลึก โดยใช้ต้นแบบจากกระบี่ go green มาเป็นยุทธศาสตร์สู่การเป็นพังงาสีเขียว เพื่อนำไปสู่เมืองแห่งความสุข

“พังงาเมืองแห่งความสุข เป็นเพียงเป้าหมายที่เราใช้เป็นโจทย์ในการพัฒนา ว่าภายใต้ความสุขของคนพังงา ต้องมีอะไรบ้าง พังงาต้องเป็นอย่างไร เราประชุมกลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัดพังงาหลายครั้ง ว่าจะขับเคลื่อนจังหวัดอย่างไร จนตกผลึกว่า พังงาจะเดินตามกระบี่ go green โดยขับเคลื่อนใน 3 แนวทาง คือ green tourism หรือการท่องเที่ยวที่รักษาสิ่งแวดล้อม green energy การอนุรักษ์พลังงาน โดยมีการวางแผนไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และ green food สร้างแหล่งอาหารปลอดภัยให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งใน 3 แนวทางนี้จะนำไปสู่การกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส.ในการขับเคลื่อนงานทั้งหมด”นายสุทธิโชติ กล่าว

ประธานโครงการพังงาแห่งความสุข กล่าวต่อว่า การดำเนินงานทั้ง 3 แนวทาง จะมีสถาบันการศึกษามาร่วมศึกษาวิจัยควบคู่ไปด้วย เช่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันอาศรมศิลป์ มาร่วมศึกษาตั้งแต่การวางแผนกำหนดโซนนิ่งการพัฒนาจังหวัดพังงา ศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นจริงในปัจจุบัน โดยดูว่ารูปแบบการพัฒนาอย่างไรจะเป็นประโยชน์กับคนพังงามากที่สุด การสร้างต้นแบบการพัฒนาที่เหมาะสมเป็นการนำร่องสร้างรูปธรรมการพัฒนาในประเด็นต่าง ๆ เช่น การจัดการขยะ การอนุรักษ์พลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียน การสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร สร้างพื้นที่อาหารปลอดภัย และการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับทรัพยากรในพื้นที่

3 สถาบันการศึกษาร่วมสร้างพังงาเมืองแห่งความสุข

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การสร้างพังงาเมืองแห่งความสุขมี 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันอาศรมศิลป์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ในด้านงบประมาณ ซึ่งในการวิจัยจะแบ่งเป็น 3 ประเด็น คือประเด็นเรื่องของพลังงานจะมีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นผู้ศึกษาวิจัย ในส่วนของการท่องเที่ยว มีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นแม่งานหลักในการวิจัย และ สถาบันอาศรมศิลป์จะรับผิดชอบเรื่องของการจัดทำพื้นที่โซนนิ่ง การกำหนดความเหมาะสมของผังเมืองพังงา

“งานวิชาการถือเป็นส่วนสำคัญมาก ที่เข้ามาช่วยให้การขับเคลื่อนพังงาเป็นเมืองแห่งความสุขมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นในทุก ๆประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องของการอนุรักษ์พลังงาน ประเด็นอาหารปลอดภัย ประเด็นการท่องเที่ยว และการจัดทำโซนนิ่ง ซึ่งทุกประเด็นต้องอาศัยองค์ความรู้ทางวิชาการเข้ามาช่วย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างและสามารถอ้างอิงได้ หากอนาคตพังงาจะเป็นต้นแบบนำงานวิจัยไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ” ศ.ดร.สมบัติ กล่าว


 

ดันการท่องเที่ยวมชุมชนสร้างสุขผู้มาเยือน

นางจตุถพร ช่างเหล็ก รองประธานหอการค้าจังหวัดพังงา ฝ่ายการท่องเที่ยว กล่าวว่า จังหวัดพังงา กล่าวว่า ทางหอการค้าเริ่มพูดคุยกับชาวบ้านที่กำลังตั้งไข่ในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ดึงศักยภาพของพื้นที่ ทั้งทรัพยากรที่มี อย่างบ่อน้ำพุร้อน น้ำตก และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มาเป็นจุดขาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ลงไปในชุมชนให้ได้มากที่สุด ให้มีรายได้จากศักยภาพที่ชุมชนมีตัวนำในการท่องเที่ยว เนื่องจากภาคการเกษตรเริ่มมีปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ให้เกษตรกรอย่างมาก

“ทรัพยากรในพังงามีศักยภาพอยู่แล้ว การจะสร้างพังงาให้เป็นเมืองแห่งความสุข เราจะดึงนักวิชาการด้านการท่องเที่ยวชุมชนเข้ามาช่วยให้ความรู้กับชาวบ้าน กำหนดนิยามในแต่ละพื้นที่ และกำหนดรูปแบบการจัดการ ว่าชุมชนจะจัดการกับพื้นที่อย่างไรให้การท่องเที่ยว เป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเอง ก็สร้างกติการ่วมกันว่าจะรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของพังงา ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยือนได้อย่างไร เพื่อให้ชาวพังงาไม่ได้เสียประโยชน์อะไรจากการเข้ามาใช้ทรัพยากรของนักท่องเที่ยว และเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นางจตุถพรกล่าว

“เกาะพระทอง” ต้นแบบ Eco Village

นายอรรถพล มีเพียร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา กล่าวว่า เกาะพระทองกำลังจะเปลี่ยนไป หลังจากกำลังมีโครงการจากภาครัฐเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งไฟฟ้ารองรับการท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ทต้องมีการเตรียมรับมือ เพื่อไม่ให้การพัฒนาเป็นการไปทำลายคุณค่าที่มีอยู่ เพราะเกาะพระทองยังคงความเป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชน ยังมีเพียงถนนเล็ก ๆ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ สวยงาม มีทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่เป็นจุดขาย และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มยุโรปนิยมมาพักในระยะเวลานานเพราะเป็นเกาะที่ยะมีความสงบ

“ในพื้นที่ผู้ประกอบการต่างมีแนวคิดไปในแนวทางเดียวกัน คือทำอย่างไรจะรักษาแหล่งท่องเที่ยวนี้ไว้ และทำกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นที่ Moken Eco Village เป็นรีสอร์ทต้นแบบที่เน้นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นการอนุรักษ์พลังงาน โดยใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 100% จากการติดตั้งโซล่าเซลล์ และปลั๊กไฟในห้องพักเป็นแบบ ยูเอสบี ซึ่งเป็นการใช้ไฟฟ้ากระแสตรง และการก่อสร้างรีสอร์ทยังยึดการใช้วัสดุธรรมชาติที่ไม่ทำลายทัศนียภาพที่ของธรรมชาติด้วย” นายอรรถพล กล่าว

Moken Eco Village รีสอร์ทต้นแบบใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 100% จากการติดตั้งโซล่าเซลล์

นายกอบต.เกาะพระทอง กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการ และคนในชุมชนบนเกาะพระทอง คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยรักษาคุณค่าของพื้นที่ตัวเอง เพราะอย่างน้อยๆ หากเกิดการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาในอนาคต เขาจะรับรู้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ อะไรคือสิ่งที่เกาะพระทองควรจะเป็นไปในอนาคต และอะไรคือความสุขของคนในพื้นที่และอะไรคือความสุขของผู้มาเยื่อน ต้องเกิดจากความต้องการของคนในพื้นที่เป็นสำคัญด้วย

ต้นแบบปรับ “เกษตรผสมผสาน”

ยางพาราและปาล์มน้ำมัน เคยเป็นความหวังของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ที่หวังเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ความผันผวนด้านราคาที่ขึ้นกับภาครัฐ กำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้กับเกษตรกรอยู่ไม่น้อย เพราะราคาตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง

นายเอนก จีวะรัตน์

นายเอนก จีวะรัตน์ เป็นหนึ่งในเกษตรกรในอำเภอปะกง จังหวัดพังงา ที่เห็นปัญหานี้มาตลอดเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ในภาคใต้ยังคงยึดติดกับ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน เมื่อเจอปัญหาเขาจึงหันมายึดแนวทางปรัชเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชการที่ 9 มาประยุกต์ใช้ จึงปรับเปลี่ยนที่ดินที่มีกว่า 52 ไร่ จากเคยทำกิจการเหมืองแร่ดีบุก ปรับมาเป็นวนเกษตร หรือ สวนผสมผสานตั้งแต่ปี 2525 จนได้เป็นต้นแบบเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัดในปี 2543 และต่อมาได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติในปี 2546

ลุงเอนก เล่าว่า ช่วงแรกที่หันมาปรับเปลี่ยนทำเกษตรผสมผสานเมื่อปี 2525 ทำอย่างสะเป๊ะสะปะ ไม่มีทิศทาง จนมาศึกษาจริงจัง 1 ปีด้านชีววิทยาและยึดหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชการที่ 9 มาปรับใช้ในพื้นที่ 52 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนที่ดิน 10% เป็นเส้นทางขนส่งในสวน 30% เป็นแหล่งน้ำ 30% เป็นโรงเรือนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ และแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย และอีก 30% เป็นแปลงปลูกพืชผัก ผลไม้ พืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพรและปลูกไม้ป่าปล่อยเป็นธรรมชาติ

“กว่าจะเป็นสวนวนเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย ผมใช้เวลาเกือบ 40 ปี ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เหมือนเป็นการทำเกษตรแบบมีชีวิต ที่ต้องอาศัยปัญญาและความอดทน ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ลองผิดลองถูกจนกว่าจะลงตัวจากเกษตรธรรมชาติ มาเป็นเกษตรแบบประณีตที่ต้องใช้องค์ความรู้มาปรับแก้อยู่ตลอด เพราะปัญหาของการปลูกพืชผักสวนครัว พืชเศรษฐกิจ ก็คือ แมลงที่จะมากินผัก โรคพืชต่าง ๆ ถ้าไม่ใช้สารเคมีก็ต้องคิดหาวิธีอื่น เพื่อรักษาผลผลิตให้ได้มากที่สุดและปลอดภัยทั้งผู้ปลูก ผู้บริโภค จึงไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะได้ผลผลิตที่ปลอดภัยออกขาย”ลุงเอนก กล่าว

ลุงเอนกเล่าต่อว่า เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนมาเป็นสวนผสมผสาน คือต้องการมีพืชอาหารปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน เมื่อมีเพียงพอก็มีผลผลิตปลอดภัยส่งขายให้กับผู้บริโภคได้ทุกวัน สามารถสร้างรายได้เข้ามาในครอบครัวได้กว่าวันละ 2,000 บาท ที่มีผู้บริโภคเข้ามาซื้อถึงแปลงผัก และยังมีรายได้จากการลงไปขายในตลาดอีกส่วนหนึ่งด้วย เพียงพอในครอบครัวและยังสามารถเลี้ยงแรงงานที่ทำงานในสวนได้ด้วย

เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว ลุงเอนกบอกว่าเริ่มมีหลายหน่วยงานให้ความสนใจและเข้ามาสนับสนุนทั้งงบประมาณและองค์ความรู้ เช่น เกษตรจังหวัดเข้ามาแนะนำการทำเกษตรผสมผสาน หอการค้าจังหวัดพังงา ภาคเอกชนด้านการเกษตร เข้ามาแนะนำด้านการตลาด ร่วมถึงล่าสุดมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เข้ามาช่วยด้านองค์ความรู้ ทำให้สวนวนเกษตรมีระบบมากขึ้น จนผลักดันเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรคนอื่นที่สนใจปรับแปลงรูปแบบทำการเกษตร

“ถามว่าทุกวันนี้เพียงพอหรือยังกับสวนวนเกษตร ผมบอกเลยว่าพอเพียงต่อการดำรงชีวิต แต่ยังไม่เพียงพอกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะการทำเกษตรผสมผสาน ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เป็นการทำเกษตรแบบมีชีวิต เหมือนสายน้ำไหลที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการสร้างแรงจูงใจให้กับภาคการเกษตรคนอื่น ๆ ถ้าผมทำเกษตรแบบน้ำนิ่ง ก็ไปไม่รอด นี่คือสิ่งที่ผมพยายามมาตลอด คือ ปลูก สร้าง ทำ เพื่อบอกต่อเพื่อนเกษตรกรที่ยังพึ่งพาพืชเชิงเดียว ชักชวนให้ปรับวิธีคิด และหันมาพึ่งพาตัวเอง ซึ่งจะเกิดความยั่งยืนได้มากกว่า อย่ารอความหวังจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว” ลุงเอนกกล่าว

การเป็นต้นแบบนี้ไม่หยุดนิ่งของลุงเอนก ไม่เพียงสร้างความสำเร็จให้กับเขาจนสามารถสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยได้แล้วก็ตาม แต่อีกหนึ่งความพยายามที่เขายังมุ่งหวังอยู่เสมอ คือต้องการเปลี่ยนแปลงจังหวัดพังงา ให้ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรและขยายเครือข่ายเกษตรกรปลอดภัย เพื่อเพิ่มพื้นที่แหล่งอาหารที่ปลอดภัยให้มากขึ้น

แม้ความสำเร็จส่วนหนึ่งจะเกิดจากการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส.ในการสร้างต้นแบบการพัฒนาที่มุ่งสู่การสร้างพังงาให้เป็นเมืองแห่งความสุข แต่ทว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นจริง และเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน ยังต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่พังงาเอง ที่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้อยู่คู่คนพังงาตลอดไปด้วย