ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่ขับเคลื่อนงานบริการระดับปฐมภูมิอย่างเข้มแข็ง โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2544 หรือประมาณสิบกว่าปีก่อนจะมีการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิในระดับประเทศอย่างครบวงจรแบบในปัจจุบัน

ความน่าสนใจของงานปฐมภูมิของโรงพยาบาลตากใบ คือเป็นการออกแบบระบบบริการเพื่อตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่โดยมีหลักคิดว่า “ขาดทุนคือกำไร” เน้นที่ผลประโยชน์ของประชาชนมาก่อนเรื่องอื่นๆ ซึ่งผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่องก็ทำให้จำนวนผู้ป่วยในของโรงพยาบาลแห่งนี้มีปริมาณคงที่อยู่ในระดับ 6,000 เคสมาเป็นเวลา 5-6 ปีติดต่อกัน สวนทางกับโรงพยาบาลอีกหลายๆ แห่งที่มีจำนวนผู้ป่วยในมากขึ้นจนต้องขยายอาคารให้เพียงพอกับความต้องการ

นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต

นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ กล่าวว่าปัญหาของพื้นที่ อ.ตากใบ คือเรื่องการเข้าถึงบริการของประชาชน เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต้องมาโรงพยาบาลแต่เช้า ใช้เวลารอนาน กว่าจะได้กลับบ้านก็ตอนเย็น คนไข้ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุและต้องอาศัยญาติให้พามาโรงพยาบาล บางครั้งญาติไม่ว่าง ติดงาน ติดภารกิจต่างๆ มาส่งไม่ได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเบื่อหน่าย ไม่มาโรงพยาบาล ไม่ได้รับยาจนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขาดยา หรือหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีค่อนข้างมากใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตามมาตรฐานแล้วควรมาพบแพทย์และตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้งแต่ด้วยปัจจัยเหล่านี้ก็ทำให้ไม่สะดวกที่จะมารับบริการที่โรงพยาบาล

ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลตากใบจึงจัดระบบบริการ โดยใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นฐาน แล้วจัดทีมแพทย์ลงไปให้บริการครบทุกตำบล โดยแพทย์พยาบาลแต่ละคนจะมีพื้นที่รับผิดชอบประจำและต้องลงพื้นที่ไปให้บริการทุกวันอังคารของสัปดาห์

“ถ้าแพทย์อยู่แต่ในโรงพยาบาล คนไข้แต่ละกลุ่มก็ต้องเดินทางมาให้แพทย์ตรวจ มันลำบาก ที่จอดรถไม่พอ คนมาเยอะเจ้าหน้าที่ก็เหนื่อยและอาจหงุดหงิด คนไข้ก็ไม่พอใจ แล้วจะทำอย่างไรให้สมดุล ดังนั้นเราเลยกระจายหมอออกไปโดยยึด รพ.สต.ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านอยู่แล้วเป็นฐาน ไปจัดสถานที่ อำนวยความสะดวก แล้วนัดคนไข้ไปที่นั่น เอาหมอเราออกไป เอาเครื่องมือเราออกไป คนไข้ก็ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลให้เสียเวลา เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ”นพ.สมชาย กล่าว

นพ.สมชาย กล่าวว่า การจัดระบบบริการแบบนี้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งหลังจากนั้นในปี 2547 ก็เกิดเหตุความไม่สงบประทุขึ้นในพื้นที่ แต่ทีมแพทย์และพยาบาลยังลงพื้นที่ปฏิบัติงานเพราะได้พูดคุยกันในทีมแล้วมองว่าอาชีพด้านสาธารณสุขไม่ได้เลือกฝ่าย ใครมาก็รักษาหมด การลงพื้นที่ก็เป็นการไปดูแลพ่อแม่พี่น้อง ดูแลคนสูงอายุ จึงไม่ใช่เป้าหมาย ขณะที่ผู้ก่อการก็ไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แม้แต่พื้นที่อันตรายอย่างเช่น ต.เกาะสะท้อน ทางคนในพื้นที่ก็เรียกร้องให้จัดทีมแพทย์ลงไปให้บริการ

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ กล่าวต่อไปว่า การจัดระบบบริการลักษณะนี้ มีความคล้ายคลึงกับนโยบายคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) ในปัจจุบัน แต่ต่างกันตรงที่ PCC จะใช้เกณฑ์แพทย์ 1 คนต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่โรงพยาบาลตากใบจะยึดตำบลเป็นหลัก แพทย์แต่ละคนจะรับผิดชอบ 1 ตำบล บางตำบลอาจจะมีประชากร 5,000-6,000 คน หรือหากมีแพทย์เหลือ บางตำบลก็จะมีแพทย์ลงไปประจำ 2-3 คน

นอกจากนี้ การให้บริการก็จะให้บริการสัปดาห์ละ 1 วัน ขณะที่ PCC ต้องการให้แพทย์ลงไปประจำพื้นที่สัปดาห์ละ 4-5 วัน รวมทั้งตัวของแพทย์เองที่ PCC ต้องการให้เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แต่ของตากใบมีแพทย์อื่นๆ ลงไปทำงานด้วย ซึ่งแม้จะไม่ได้เรียนเวชศาสตร์ครอบครัว แต่ก็ใช้หลักคิดของเวชศาสตร์ครอบครัวในการทำงานเช่นกัน ทั้งงานรักษาและออกเยี่ยมบ้าน

“PCC เขาอยากให้หมอออกไปทีละ 4-5 วัน แต่ของเราถ้าออกไป 4-5 วันก็เสียหมอที่โรงพยาบาล เลยออกไป 1-2 วันเท่าที่มีคนไข้ หมอก็ไม่เบื่อ พอมีนโยบาย PCC ลงมาในภายหลัง เราก็จัดทีมที่มีอยู่แล้วมาใส่ให้ครบตามโครงสร้าง PCC ส่วนตำบลอื่นเราก็ยังช่วยๆ กันไป”นพ.สมชาย กล่าว

นพ.สมชาย กล่าวอีกว่า หลังจากจัดบริการในลักษณะนี้ ผลที่ตามมาคือจำนวนผู้ป่วยในคงที่ โดยช่วง 5-6 ปีหลังนี้ จำนวนอยู่ที่ประมาณ 6,000 เคสมาโดยตลอด ต่างจากพื้นที่อื่นที่คนไข้ในเพิ่มขึ้นจนต้องสร้างตึกใหม่มารองรับ ส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยในคงที่คิดว่าเกิดจากการได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเบื้องต้น อาการของโรคจึงไม่หนักหน่วงจนถึงขั้นต้องมานอนโรงพยาบาล

อย่างไรก็ดี การจัดระบบเช่นนี้ทำให้จำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวบ้านสะดวกในการเข้าถึงบริการที่ รพ.สต. ใช้เวลารอไม่นาน ขณะที่คนไข้บางส่วนเมื่อเห็นว่าในโรงพยาบาลโล่งขึ้นก็เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลอีก ทำให้ภาพรวมคนไข้ในโรงพยาบาลไม่ได้ลดลง ซึ่งหากคิดในเชิงธุรกิจแล้วโรงพยาบาลจะขาดทุนเพราะมีรายรับจากเงินเหมาจ่ายรายหัวแต่ให้บริการเยอะ ต้นทุนค่ายาและการให้บริการเพิ่ม

“หลักการเราทำเพื่อผู้ป่วยก่อน ถ้าคุยเรื่องเงินก่อนทะเลาะกันแน่ ในแง่ธุรกิจเราจะขาดทุน แต่เราเป็นข้าราชการคิดอย่างนั้นไม่ได้ ต้องใช้แนวคิดตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่าขาดทุนคือกำไร เราได้กำไรคือชาวบ้านไม่เสียเวลา ไม่มีการขาดนัด ภาวะแทรกซ้อนจากการขาดยาก็ไม่มี ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ลดภาระทางเศรษฐกิจ ฯลฯ แต่โรงพยาบาลเสียนิดหน่อยคือค่ายาเพิ่มขึ้น แม้จะมีโครงการใกล้บ้านใกล้ใจของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีเงื่อนไขว่าหมอต้องออกไปตรวจ 40 ชั่วโมง แต่เราไปไม่ถึงก็เลยไม่ได้เงิน แต่มันเป็นประโยชน์กับชาวบ้านและหมอที่ออกไปก็พอใจ ไม่เห็นมีใครบ่น มีแต่บอกว่าสนุกดี” นพ.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย