ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาลจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตและพิการนั้นน่าคิดหลายเรื่อง เรามักเห็นแต่การนำเสนอภาพรวม มีจำแนกตามเพศ อายุ และสาเหตุหลัก ไม่ว่าจะเป็นกินเหล้า ใช้ยาเสพติด หรือขับเร็วโดยประมาท หน่วยงานต่างๆ มักอ้างว่าตายเยอะจนทำให้คิดเป็นมูลค่าเท่านี้เท่าโน้นถึงกี่เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เพื่อให้เห็นมูลค่าความสูญเสียว่าเยอะแค่ไหน นัยหนึ่งก็หวังจะดึงงบรัฐมาลงแคมเปญรณรงค์เรื่องนี้จนดูเหมือนว่าหลุมดำนี้็ถมไม่เต็มสักที

สิ่งที่เราเห็นมาปีแล้วปีเล่าคือ ไม่ค่อยได้ผล ไม่ว่าจะทุ่มงบไปเท่าไหร่ กี่ปีกี่ชาติก็มีข่าวแบบเดิม สิ่งที่ท้าทายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปนอนเอาอะไรก็ได้ก่ายหน้าผากคิดดูมีดังนี้

หนึ่ง จริงๆ แล้วอุบัติเหตุที่เยอะแยะเหล่านี้ ใครได้รับผลกระทบโดยตรง? เป็นตัวคนเมา คนใช้ยา และคนขับรถเร็วพร้อมพรรคพวกที่เห็นดีเห็นงามเอาด้วยโดยไม่ห้ามปราม ใช่หรือไม่? หรือคนตายคนบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ใช่คนเมา ไม่ใช่คนใช้ยา และไม่ใช่คนที่เฮโลไปพร้อมกับความประมาท?

สถิติข้างต้นไม่เคยได้รับการนำเสนอมาให้สังคมได้รับรู้เลยว่า ตกลงแล้วเรื่องนี้เป็นอย่างไร? สัดส่วนการสูญเสียโดยตรงนั้นส่งผลต่อใครกันแน่? คนที่ถูกครอบงำโดยกิเลสและไม่มีความยับยั้งชั่งใจ หรือคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือต่อให้ทั้งสองกลุ่มปนกัน

ข้อมูลสัดส่วนของแต่ละกลุ่มนั้นก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำมาช่วยกันขบคิด ออกแบบมาตรการ ออกนโยบายเพื่อมาจัดการปัญหาอุบัติเหตุ การนำเสนอข้อมูลโดยเอาตัวเลขเหมารวมไปแล้วคาดประมาณว่า เราสูญเสียไปเท่านั้นเท่านี้ออกจะเป็นการส่งข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้เพราะสัจธรรมคือ คนแต่ละคน แม้เป็นคนเหมือนกัน แต่เราก็ย่อมทราบกับดีว่า มีทั้งคนดีคนไม่ดี คนสร้างประโยชน์ คนที่เอาแต่ทำลายสังคมผ่านการประพฤติที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้นคุณประโยชน์หรือคุณค่าที่แต่ละคนมี หรือสร้างให้แก่ประเทศนั้นต่างกันราวฟ้ากับเหว การจะใช้มูลค่าทางเศรษฐกิจมานำเสนอประมาณการความสูญเสียโดยตีค่าอิงจำนวนคนโดยรวมนั้นจึงไม่น่าจะถูกต้อง

แต่หากหน่วยงานจะนำเสนอความสูญเสียจากอุบัติเหตุในเชิงจำนวนประชากรที่สูญเสียไป นับคนเป็นคนในลักษณะที่เหมือนกันนั้น และมองว่าการสูญเสียเช่นนั้นคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะอัตราการเกิดของประชากรโดยรวมลดลง การสูญเสียมากๆ ในแต่ละเทศกาลอาจส่งผลกระหน่ำซ้ำเติมให้จำนวนประชากรโดยรวม รวมถึงวัยแรงงานลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ และจะส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ตามมา นั่นยังพอจะเข้าใจและยอมรับกันได้มากกว่าแนวที่พยายามป่าวประกาศกันอยู่มาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และหากปรับการนำเสนอไปในแนวนี้ จะนำมาซึ่งการขบคิดมาตรการที่แตกต่างไปจากเดิมไม่มากก็น้อย

สอง แปลกไหม...หรือไม่แปลก? ที่รู้ทั้งรู้ว่าเทศกาลแต่ละครั้ง อุบัติเหตุมาจากสาเหตุหลักคือ เหล้า ยาเสพติด และการขับด้วยความเร็วจากความประมาท ประมาทจากความคึกคะนอง ประมาทจากการควบกะ อดหลับอดนอนเพื่อขับเอาจำนวนเที่ยวขนส่งมากๆ เหล่านี้มันซ้ำรอยเดิมมาตลอดทุกครั้ง แต่...ไม่มีมาตรการหรือความพยายามที่เพียงพอ ในการรณรงค์ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนในสังคม ให้ลด ละ เลิกการใช้เหล้า ใช้ยา

แต่...ไม่มีเลยที่จะทำให้เหล้า ยาเสพติดต่างๆ เข้าถึงได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล หรือมีบทลงโทษกิจการร้านค้าที่จำหน่ายจ่ายแจก

และ...ไม่มีมาตรการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมเลย ที่จะพยายามทำให้ "รถ" ในประเทศ "ลดสมรรถนะด้านความเร็วลง" หรือหากไม่สามารถบังคับลดสมรรถนะด้านความเร็วได้ ก็ไม่ค่อยเห็นความพยายามในการก่อกวนผู้ขับยามที่ใช้ความเร็วเกินควร ไม่ว่าจะเป็นเสียงอัตโนมัติ ดังที่เห็นในรถลีมูซีนสนามบินที่เหยียบเกิน 120 แล้วจะมีเสียงเตือนคนขับอัตโนมัติ

สิ่งต่างๆ ข้างต้นคือ มาตรการที่จัดการกับปัจจัยแวดล้อมทางสังคม เรื่องวัฒนธรรม เรื่องเหล้ายา เรื่องรถและความเร็วรถ ซึ่งรวมเรียกหรูๆ ว่า social determinants

ผมเคยมีโอกาสได้ไปนั่งฟังการประชุมเกี่ยวกับอุบัติเหตุอยู่หลายต่อหลายครั้ง ทุกครั้งสาระก็จะวนเวียนอยู่กับวังวนเดิม ตามระบบสั่งการหน่วยงานราชการและภาคีที่เกี่ยวข้องเดิมๆ

โจทย์เริ่มต้น หากคิดไม่สมบูรณ์...คำตอบที่เราพยายามเสาะหา และพยายามดันทุรังตอบนั้นจึงอาจเป็นคำตอบที่ตอบโจทย์ได้แต่ไม่สมบูรณ์ ปัญหาสังคมหลายเรื่องเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานาน และต้นตอมาจากทั้ง "คุณภาพของคน" และ "ปัจจัยแวดล้อมทางสังคม" บางเรื่องก็แก้ไขได้ง่าย บางเรื่องก็แก้ไขได้ยากยิ่งนัก

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย