ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.ไทรงาม เผยผลหลังใช้ “แอป อสม.ออนไลน์ ครบ 2 ปี” ชี้เป็นช่องทางสื่อสารกับ อสม.ได้อย่างมีประสิทธิผล สะดวก รวดเร็ว และชัดเจน ช่วยรุกดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ ทั้งผู้ป่วยอุบัติเหตุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตอบโจทย์ไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วยด้วยเป็นแอปเฉพาะกลุ่ม จำกัดการกระจายข้อมูล ทั้งช่วย รพ.สต.ลดเวลาทำงาน รวบรวมรายงาน อสม.ได้ในวันเดียว จากเดิมต้องใช้เวลา 10 วัน แถมลดใช้กระดาษเพื่อสื่อสารถึงร้อยละ 60

นางกรกมล ศรีใจมั่น

นางกรกมล ศรีใจมั่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไทรงาม อ.บางเลน จ.นครปฐม กล่าวว่า รพ.สต.ไทรงาม ได้นำแอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ มาใช้ทำงานกับกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ครบ 2 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นที่นำแอปพลิเคชั่นนี้มาใช้และได้กลายเป็นช่องทางหลักของการสื่อสารกับ อสม.ในพื้นที่ไปแล้วนั้น เนื่องจากประธาน อสม.ในพื้นที่ได้แนะนำให้นำแอป อสม.ออนไลน์ มาใช้งาน ประกอบกับปัจจุบันสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนยุคนี้ไปแล้ว ซึ่ง อสม.ส่วนใหญ่ต่างมีใช้งาน และด้วย ต.ไทรงามเป็นพื้นที่ชนบทห่างไกล การเดินทางมายัง รพ.สต.ค่อนข้างใช้เวลา โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วย ซึ่ง รพ.สต.ไทรงามรับผิดชอบดูแลสุขภาพประชากร 11 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 6,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง ในส่วนของการคมนาคม หมู่ 10 และ 11 อยู่ในพื้นที่ไกลสุด การรับบริการที่ รพ.สต.มีระยะทางห่างถึง 30 กิโลเมตร การสื่อสารติดต่อที่รวดเร็ว ถูกต้อง และชัดเจน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จึงได้ทดลองใช้แอป อสม.ออนไลน์นี้

นางกรกมล กล่าวว่า รพ.สต.ไทรงามมี อสม.ร่วมทำงานดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่จำนวน 65 คน แต่ละคนจะรับผิดชอบดูแล 15-20 หลังคาเรือน แต่ในหมู่บ้านที่มี อสม.น้อยจะรับผิดชอบดูแลถึง 25 หลังคาเรือน ก่อนที่จะนำแอป อสม.ออนไลน์มาใช้งานนั้น เดิมจะมีนัดประชุมเดือนละ 2-3 ครั้ง เพื่อแจ้งข่าวสารต่างๆ แต่ในกรณีที่มีโรคระบาดหรือเรื่องเร่งด่วนจะเรียกประชุมบ่อยขึ้น ซึ่ง อสม.ที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม กลางวันต้องออกไปทำงาน ทำให้บ่อยครั้งไม่ได้เข้าร่วมประชุม การแจ้งข่าวสารต่างๆ ที่ผ่านมาจึงฝากบอกผ่านแกนนำ อสม.ในพื้นที่แทน ทำให้การรับข้อมูลข่าวสารขาดความครบถ้วนและชัดเจน ขณะเดียวกันการสื่อสารจาก อสม.มายัง รพ.สต.ยังล่าช้า ทั้งการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ส่งผลให้การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยค่อนข้างล่าช้าไปด้วย โดยประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่มีปัญหาโรคเรื้อรังเบาหวานและความดัน ทั้งยังเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ มีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 21.19 ของประชากร

หลังจากนำแอป อสม.ออนไลน์ มาใช้งาน ทำให้การสื่อสารระหว่าง รพ.สต.และ อสม.มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้นอย่างมาก ข้อดีของแอปพลิเคชั่นนี้คือ การสื่อสาร 2 ทาง (Two way communication) ที่ตอบโต้ได้รวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีรูปแบบสื่อสารทั้งที่เป็นข้อความ เสียง ภาพ และวีดีโอคอล (VDO Call) ทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่จัดส่งมีความชัดเจนมาก ขณะเดียวกันยังสามารถแจ้งจุดพิกัดบ้านผู้ป่วยได้ในกรณีที่ทางเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ต้องลงพื้นที่ดูผู้ป่วย รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน ซึ่งในกรณีที่อาการผู้ป่วยเกินขีดศักยภาพการช่วยเหลือของ รพ.สต. จะได้ส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันที จากเดิมที่มักมีการนำส่งผู้ป่วยมาที่ รพ.สต.ก่อน ทำให้เสียเวลา

“แอป อสม.ออนไลน์ อสม.ทำให้มีการสื่อสารอาการผู้ป่วยที่ชัดเจน ทั้งการส่งภาพผู้ป่วย บาดแผลต่างๆ รวมถึงการวัดความดัน ทั้งยังสามารถพูดคุยโต้ตอบกับผู้ป่วยได้ ทำให้ข้อมูลประเมินผู้ป่วยมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสามารถให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพได้ถูกต้อง เช่น เรื่องการใช้ยาต่างๆ ของผู้ป่วยจากข้อมูลที่ อสม.ส่งมาสอบถาม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะส่งต่อให้แพทย์ที่ปรึกษา เรียกว่าเป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วยอย่างมาก”

ผอ.รพ.สต.ไทรงาม กล่าวต่อว่า ขณะที่การทำงานร่วมกับ อสม.นั้น จากการใช้งานแอป อสม.ออนไลน์นี้ ทำให้ลดการประชุม อสม.ลงได้ เพราะ รพ.สต.สามารถแจ้งข่าวสารต่างๆ ผ่านแอปนี้ให้กับ อสม.ได้เลย ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายการเดินทางของ อสม. ขณะเดียวกันยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ จากเดิมการแจ้งวาระประชุม อสม.จะสื่อสารผ่านกระดาษ แต่ละปีจะใช้กระดาษประมาณ 1,220 แผ่น แต่ปัจจุบันเป็นการแจ้งวาระประชุม อสม. ผ่านแอป อสม.ออนไลน์ ทำให้ประหยัดใช้กระดาษได้ถึงร้อยละ 60

นอกจากนี้ในการรวบรวมรายงานยังทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นมาก จากเดิมในการเก็บรายงาน อสม.ต้องใช้เวลารวบรวมกว่า 10 วัน แต่หลังจากปรับให้ อสม.ส่งรายงานผ่านแอป อสม.ออนไลน์แทน ใช้เวลาเพียง 1 วัน การรวบรวมรายงาน อสม.ก็แล้วเสร็จได้ เรียกว่าลดเวลาการทำงานไปได้มาก ทั้งยังสามารถเก็บบันทึกเป็นไฟล์และตรวจสอบข้อมูลรายงานย้อนหลังได้โดยที่ไม่สูญหาย ต่างจาการใช้แอปพลิเคชั่นอื่น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่แอป อสม.ออนไลน์ ตอบโจทย์การทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากที่สุด คือการใช้งานแอปพลิเคชั่นเพื่อดูแลผู้ป่วยโดยไม่ไปละเมิดสิทธิผู้ป่วย เนื่องจากเป็นแอปพลิเคชั่นระบบปิด ซึ่งผู้ใช้งานต้องผ่านการลงทะเบียนโดยผู้ดูแลระบบหรือแอดมินก่อน ทั้งยังไม่สามารถแชร์ข้อมูลและภาพไปยังแอปพลิเคชั่นหรือเพจอื่นได้ ทั้งนี้ปัจจุบันมี อสม.ในพื้นที่ร่วมใช้แอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ 58 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ซึ่งส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้แอปนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ

“เท่าที่ใช้งานแอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ สามารถตอบสนองการทำงานเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนได้ใน 6 เดือนแรก และจากการที่ใช้งานอย่างต่อเนื่อง พบว่าทางบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ผู้จัดทำระบบได้ประสานกับ อสม. ร่วมพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานแท้จริง จากแต่ก่อนส่งภาพเป็นขาวดำและส่งได้เพียงทีละ 1 ภาพ แต่ปัจจุบันสามารถส่งเป็นภาพสีและส่งคราวเดียวได้ 6 ภาพ อย่างไรก็ตามอยากให้มีการพัฒนาระบบเพื่อให้ส่งไฟล์ขนาดใหญ่ได้ เช่น วีดีโอ รวมถึงเพิ่มจำนวนภาพในการส่งผ่านระบบ รวมถึงการสั่งงานต่างๆ ผ่านมือถือ เช่น ประกาศแจ้งต่างๆ ไปยัง อสม. ซึ่งปัจจุบันยังจำกัดการส่งเฉพาะที่ รพ.สต.เท่านั้น”

นางกรกมล กล่าวต่อว่า การใช้งานแอป อสม.ออนไลน์ ปัจจุบันได้มีการใช้แอปนี้ใน รพ.สต.หลายแห่ง โดยในปี 2561 ได้มีการเผยแพร่และอบรมการใช้แอปนี้ให้กับ รพ.สต. 18 แห่งใน อ.บางเลน ซึ่งบางแห่งได้เริ่มมีการใช้งานแล้ว ซึ่งนวัตกรรมการสื่อสาร อสม.ที่เกิดขึ้นนี้ บริษัทได้ดำเนินและพัฒนาระบบมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว นับเป็นความร่วมมือของบริษัทเอกชนเพื่อช่วยการทำงานของหน่วยงานราชการ สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ซึ่งเชื่อว่าบริษัทน่าจะสนับสนุนและพัฒนาระบบนี้ต่อไป

ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ส่งเสริมกระบวนการทำงาน การเรียนรู้และสุขภาพ ประจำปี 2017 (WSIS 2017 Prizes Winner) สำหรับรางวัลนี้ เป็นโครงการที่สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (International Telecommunication Union : ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคมโลก สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยมีพิธีมอบรางวัล ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ผลงานที่ทำให้เอไอเอสได้รางวัล WSIS 2017 Prizes Winner ในปี 2560 คือการพัฒนาแอปพลิเคชั่น "อสม.ออนไลน์" มาช่วยส่งเสริมการทำงานด้านสาธารณสุขของ อสม. ภายใต้แนวคิด Digital for Thais ที่มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น