ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิวัฒนาการของการใช้ส้วมในประเทศไทยนั้น เริ่มตั้งแต่มีข้อสันนิษฐานจากแผ่นศิลาที่ขุดพบในสมัยสุโขทัย มีลักษณะเป็นแผ่นหินสี่เหลี่ยมใหญ่ที่มีการสกัดเป็นร่องตลอดแนวกลาง ด้านหนึ่งลึกลงไปคล้ายจะใช้รองรับน้ำปัสสาวะให้ไหลลงไปในหลุม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแผ่นส้วมที่ทำขึ้นสำหรับใช้ในเขตพระราชฐาน ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยามิได้ปรากฎหลักฐานรายละเอียดการใช้ส้วม จนกระทั่งกระทั่งในปี พ.ศ. 2440 รัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มีผลบังคับให้คนไทยต้องขับถ่ายในส้วม

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2460-2471 ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ส่งเสริมให้มีการสร้างส้วมในจังหวัดต่าง ๆ และยังเกิดการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทย เช่น "ส้วมหลุมบุญสะอาด" ที่มีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่ายและส้วมคอห่านที่ใช้ร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ต่อมาเริ่มมีผู้ใช้ส้วมชักโครกมากขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งต้นทศวรรษ 2500 โถส้วมชนิดนี้ก็ได้รับความนิยม มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นจนในปัจจุบัน

ส้วมในสมัยสุโขทัย

หลักฐานเกี่ยวกับส้วม ระบุว่าในสมัยสุโขทัยเริ่มมีส้วมซึ่งมีลักษณะเป็นหิน มีร่องรับการถ่ายเบา และช่องรับการถ่ายหนักอยู่ตรงกลาง มีข้อมูลการใช้ส้วมในราชสำนัก ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “ที่ลงบังคน” หรือ “ห้องบังคน” ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนเล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. 2231 ว่า “ในประเทศสยามถือกันว่าเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก ถ้าบุคคลใดได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เทโถพระบังคน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้องนำไปเทลง ณ สถานที่อันกำหนดไว้เพื่อการนี้ และมียามเฝ้าระวังรักษาอย่างกวดขัน มิให้ผู้ใดอื่นกล้ำกรายเข้าไปได้ อาจเป็นเพราะความเชื่อถือโชคลางทางไสยศาสตร์ ซึ่งชาวสยามเชื่อว่าอาจมีผู้ทำกฤตยาคุณได้จากสิ่งปฏิกูลที่ถ่ายออกมาจากร่างกายนั้น”

สำหรับชาวบ้านทั่วไปจะเรียกการไปขับถ่ายว่า "ไปทุ่ง" "ไปท่า" และ "ไปป่า" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่มีสถานที่เฉพาะสำหรับการขับถ่ายภายในบ้านของตน จะถ่ายตามทุ่งหรือป่าหรือใกล้แหล่งน้ำ

ส้วมในสมัยรัตนโกสินทร์

พระราชพงศาวดารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้กล่าวถึงที่ลงพระบังคนว่า “ด้วยแต่เดิมหาได้ลงพระบังคนบนพระมหามณเฑียรเหมือนทุกวันนี้ไม่ ต่อเวลาค่อนย่ำรุ่ง ยังไม่สว่าง เสด็จไปที่ห้องพระบังคนหลังพระมหามณเฑียร” ทั้งนี้เป็นการค่อนข้างอันตรายหากจะเสด็จออกนอกพระมหามณเฑียรเพื่อลงพระบังคน ด้วยมีเหตุที่เคยมีคนร้ายจะลอบปลงพระชนม์ นับแต่นั้นมาจึงโปรดให้ทำที่ลงพระบังคนให้ปลอดภัยกว่าเดิมซึ่งก็น่าจะอยู่ภายในพระราชมณเฑียร

สำหรับพระบรมมหาราชวังนั้นมีการสันนิษฐานตำแหน่งของที่ลงพระบังคน จากบทความ "ที่ลงพระบังคน" เขียนโดยจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ในนิตยสารสกุลไทย กล่าวว่า “ไม่เคยพบว่ามีหนังสือเล่มใดเขียนถึงที่ลงพระบังคนเป็นเพียงการเล่ากันต่อ ๆ มาว่า มีห้องเล็ก ๆ ข้างหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมีไว้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทรงลงพระบังคนซึ่งห้องสรงก็คงจะอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น”] เมื่อทรงลงพระบังคนแล้วก็จะมีพนักงานนำไปจำเริญ ซึ่งต่อมาโถลงพระบังคนของพระเจ้าแผ่นดินมักทำจากของมีค่า จะนำออกไปน่าจะมีปัญหา ภายหลังจึงโปรดให้พนักงานเตรียมทำกระทงไว้วันละ 3 ใบ เมื่อเสร็จพระราชกิจแล้ว เจ้าพนักงานเพียงเชิญกระทงไปจำเริญโดยวิธีลอยน้ำ

ต่อมาลักษณะและวัสดุของโถลงพระบังคนที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกจากที่เคยทำด้วยทอง กะไหล่ทอง ทองคำลงยา ก็เปลี่ยนเป็นทำด้วยโถกระเบื้องเคลือบชนิดหนา ลักษณะเป็นโถปากกว้างมีหูจับ มีทั้งชนิดเคลือบสีธรรมดาและอาจมีลวดลายสวยงามต่าง ๆ เช่น ลายดอกไม้เล็ก ๆ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นนั้นก็ทรงใช้วัฒนธรรมการขับถ่ายตามแบบยุโรปคือใช้ส้วมชักโครก

ส้วมสาธารณะ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ในยุคนั้นประชาชนทั่วไปยังไม่นิยมสร้างส้วมในที่อาศัยของตนเอง แต่จะขับถ่ายนอกสถานที่ตามตรอกซอกซอย ถนนหนทาง ริมกำแพงวัด หรือริมน้ำคูคลองต่าง ๆ เกลื่อนกลาดไปด้วยกองอุจจาระ เป็นสิ่งไม่น่าดู ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง และเป็นสาเหตุของโรคระบาดตามมา จนในปี พ.ศ. 2440 หรือปลายรัชกาลที่ 5 กรมสุขาภิบาลซึ่งก่อตั้งในปีเดียวกันนั้นได้ดำเนินการจัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นครั้งแรกหรือสมัยนั้นเรียกว่า "เวจสาธารณะ" ขึ้นตามตำบลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นรัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พ.ศ. 2440 มีผลบังคับให้คนต้องขับถ่ายในส้วม และรัฐได้จัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นตามตำบลต่าง ๆ ตามข้อกำหนดในหมวดที่ 2 มาตรา 8 ที่ให้กรมศุขาภิบาล “จัดเว็จที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะของมหาชนทั่วไป”

กรมสุขาภิบาลจัดสร้างส้วมสาธารณะที่กั้นแบ่งเป็นห้อง ๆ มีห้องประมาณ 5-6 ห้อง เป็นห้องแถวไม้ยาว มักตั้งอยู่บนถนนสายสำคัญซึ่งเป็นย่านการค้าที่มีผู้คนอยู่คับคั่ง เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และตามชุมชนวัด ทั้งบริเวณรอบวัด เช่น บริเวณหน้าวัดบรมธาตุ ข้างวัดกำโลยี่ ตรอกข้างวัดมหรรณ์ หรืออยู่ในวัด เช่น วัดบวรนิเวศ วัดราชบูรณะ นอกจากนี้ ยังมีการจัดส้วมสาธารณะจำนวนมากใกล้กับบริเวณวังของเจ้านายและตามสถานที่ราชการ อย่างเช่น โรงพัก โรงพยาบาล เป็นต้น

ลักษณะส้วมสาธารณะในยุคแรกเป็นส้วมถังเท มีอาคารปลูกสร้างครอบไว้ ภายในมีฐานส้วมทำจากไม้ เจาะรูสำหรับนั่งขับถ่าย ข้างใต้มีถังสำหรับรองรับอุจจาระ ซึ่งจะมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐอย่าง “บริษัทสอาด” หรือ “บริษัทออนเหวง” เป็นผู้ทำหน้าที่จัดการเก็บและบรรทุกถังบรรจุอุจจาระและเปลี่ยนถ่ายถังใหม่ทุกวัน รัฐมีนโยบายจะเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายของประชาชนโดยการสร้างเวจหรือส้วมสาธารณะในรูปแบบของส้วมแบบถังเทในเขตเมืองและในรูปแบบของส้วมหลุมในเขตท้องถิ่น และออกกฎหมายบังคับและมีบทบัญญัติลงโทษผู้ฝ่าฝืน ทำให้คนเมืองหลวงรู้วิธีการใช้ส้วมและเห็นความสำคัญจนเริ่มมีผู้สร้างส้วมไว้ในบ้านตนเองภายในช่วงระยะประมาณ 10 ปี หลังการออกกฎหมาย

ส้วมในบ้าน

ประเทศไทยมีการส่งเสริมให้ประชาชนสร้างส้วมราดน้ำหรือส้วมคอห่านใช้ในบ้านอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2485 เป็นต้นมา และรัฐบาลโดยความร่วมมือจากองค์การยูซ่อมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี 2503โดยเริ่มโครงการพัฒนาการอนามัยท้องถิ่น มีกิจกรรมสำคัญคือการสร้างส้วมและรณรงค์ให้ประชาชนถ่ายอุจจาระในส้วมจนถึงแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) ในปี 2532 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานให้ประชาชนมีส้วมถูกหลักสุขาภิบาลในทุกครัวเรือน ในปีนี้ครอบคลุมจาก ร้อยละ 75 เป็นร้อยละ 90 และจากผลสำรวจในปี พ.ศ. 2542 มีส้วมถูกหลักสุขาภิบาลครอบคลุมครัวเรือนร้อยละ 98.1

ต่อมา ในแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2534-2539) กรมอนามัยได้ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนรูปแบบจากส้วมซึมมาใช้เป็นระบบส้วมถังเกรอะ เหตุเพราะทางด้านมาตรฐานและสุขอนามัย กล่าวคือ วัสดุของถังเกรอะจะทำจากวัสดุที่ป้องกันน้ำซึมเข้าหรือออกจากถังได้ เพื่อเก็บกักน้ำเสียไว้ในถัง และจะเกิดการตกตะกอน รวมทั้งขบวนการย่อยสลายต่าง ๆ ในถังและปล่อยของเหลวส่วนที่เป็นน้ำใสไปตามท่อสำหรับระบายออกจากถังเกรอะโดยเฉพาะ

รูปแบบส้วมชนิดต่างๆ ในสังคมไทย

ส้วมหลุม ที่ประกอบด้วยหลุมดิน มีตัวเรือนสร้างครอบคลุมส้วมไว้ มีทั้งที่ใช้เป็นแบบหลุมแห้ง และหลุมเปียก บนปากหลุมใช้ไม้พาดเหยียบเวลาถ่าย หรืออาจทำฐาน โดยใช้ไม้กระดานมาปิดแล้วเจาะช่องสำหรับถ่าย เมื่อหลุมเริ่มเต็มก็กลบหลุมส้วมแล้วย้ายไปขุดที่ใหม่ ส้วมหลุมมีปรากฎชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งส้วมในลักษณะนี้ใช้กันมานาน

ส้วมถังเท เป็นการกำจัดอุจจาระที่ยึดหลักการถ่ายอุจจาระลงถังที่เตรียมไว้แล้วจึงนำไปทิ้ง การเก็บ และบรรทุกถังไปชำระตามปกติจะทำวันละครั้ง ในเมืองไทยมีการใช้ส้วมถังเทในช่วงก่อน พ.ศ.2495 แต่เนื่องจากส้วมถังเทเป็นส้วมที่ยากต่อการดูแลรักษา และการควบคุมให้ปลอดภัยต่อการแพร่ของเชื้อโรค ทางการจึงไม่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้

ส้วมคอห่าน หรือส้วมคอหงษ์ ประดิษฐ์โดย พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.2467 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการรณรงค์ ให้ราษฎรทั่วประเทศใช้ส้วม ส้วมคอห่านเป็นส้วมชนิดที่เมื่อถ่ายทุกข์แล้ว เทราดน้ำให้อุจจาระไหลซึมลงไปในดิน จึงเรียกวิธีการนี้ว่า “ส้วมซึม” มีการนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย จนถึงปัจจุบัน และเรียกส้วมชนิดนี้ว่า ส้วมนั่งยอง

ส้วมชักโครก หรือเรียกว่า “ส้วมนั่งราบ” ส้วมแบบนี้มีส่วนประกอบที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ที่เรียกว่า ชักโครก เพราะเมื่อก่อนตัวถังที่กักน้ำอยู่เหนือที่นั่งถ่ายสูงขึ้นไป เวลาเสร็จกิจต้องชักคันโยกให้ปล่อยน้ำลงมา มีเสียงน้ำดัง จึงเรียกว่า “ชักโครก” ส้วมชักโครกใช้เวลานานกว่าจะแพร่หลายสู่คนทั่วไป นับจากช่วงทศวรรษ 2460-2490 เป็นต้นมา และเริ่มมีมากขึ้นในช่วงการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงต้นศตวรรณ 2500 ที่มีผู้ต้องการใช้โถส้วมแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

(ลักษณะส้วมถังเท)

เก็บความจาก

สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.วิวัฒนาการส้วมไทย.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.ส้วมในประเทศไทย.