ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“...ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนของราษฎรโดยการสำรวจพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ถุงปัญหาและความต้องการเกลือ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นที่จะมีปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกันโดยเฉพาะต้องสำรวจเส้นทางเกลือว่าผลิตจากแหล่งใด ก็น่าที่จะนำเอาไอโอดีนไปผสมกับแหล่งผลิตต้นทางเกลือเสียเลยทีเดียว...”

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ทรงพบว่าปัญหาการขาดสารไอโอดีนจนเกิดเป็นโรคคอพอกนั้นยังมีอยู่มากมายหลายพื้นที่ ในยามที่เสด็จพระราชดำเนินไปในท้องที่ทุรกันดาร มีผู้คนที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทจำนวนมากที่เป็นโรคนี้ และขอรับการรักษาจากคณะแพทย์หลวงที่ตามเสด็จ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมกิจกรรมของวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ในการนี้ได้ทอดพระเนตรการสาธิตการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีน ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้ผลิตขึ้นและน้อมเกล้าฯถวาย

นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ทรงพระราชทางเกลือผสมไอโอดีนให้แก่จังหวัดต่างๆในภาคเหนือ เพื่อขจัดปัญหาการขาดสารไอโอดีนให้หมดไปอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชนไทย

เส้นทางเกลือไอโอดีน...ในประเทศไทย

กล่าวได้ว่า จากสถานการณ์ของโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย กรมอนามัยได้จัดตั้งระบบการเฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2532  และมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้เกลือบริโภคทุกชนิด ต้องมี ธาตุไอโอดีน อย่างน้อย (30 ส่วน ใน 1 ล้านส่วน) รณรงค์ และส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคเกลือไอโอดีนทุกครัวเรือน ทุกวัน และตลอดไปเพื่อควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน

สารไอโอดีน เป็นธาตุเคมีที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติแต่มีไม่สม่ำเสมอ และมีมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ในภาคเหนือ ภาคอีสาน พบปริมาณไอโอดีนในธรรมชาติน้อยกว่าภาคกลาง ส่วนใหญ่พบมากในดินและน้ำแถบที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ชายทะเล และทะเล  อาหารที่มีปริมาณไอโอดีนสูง ได้แก่ พืชผักและสัตว์จากทะเลทุกชนิด  เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา สาหร่ายจากทะเล  เป็นต้น

ในขณะที่ ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเกลือประมาณ 2,000,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นเกลือที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารประมาณ 1,000,000 ตันต่อปี และเกลือที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ผงซักฟอก สี อลูมิเนียม เส้นไหมเทียม ฟอกกลั่นปิโตรเลียม ฟอกกลั่นน้ำมัน สบู่ เยื่อกระดาษ โซดาไฟ เป็นต้น ประมาณ 1,000,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศบังคับกำหนดให้เกลือที่ใช้เพื่อการบริโภคที่จำหน่ายในประเทศไทย ต้องเติมไอโอดีน 30-100 มิลลิกรัมต่อเกลือ 1 กิโลกรัม ดังนั้น โรงงานผู้ผลิตเกลือบริโภคทั้งหมด ต้องเร่งปรับปรุงในการเสริมไอโอดีนลงไปด้วยตามมาตรฐานกำหนด ซึ่งจะมีผลให้น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบที่คนไทยนิยมบริโภค จะต้องมีไอโอดีนเสริมไปด้วยปริยาย เพราะต้องใช้เกลือผสมไอโอดีนในการผลิต และหากบริษัทผู้ผลิตใดจะเติมไอโอดีนในสินค้าด้วยก็สามารถดำเนินการได้ด้วย ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาจากการขาดไอโอดีน

เก็บความจาก

นิทรรศการ “เส้นทางเกลือ...อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”ใน นิทรรศการ 100 ปี การสาธารณสุขไทย เขตสุขภาพที่ 1 และจังหวัดเชียงใหม่. โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่.

สาระหน้ารู้เกี่ยวกับไอโอดีน “เกลือไอโอดีน” เข้าถึงได้จาก: iodinethailand