ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ส่วนตัวแล้วผมสนับสนุนการมีระบบหลักประกันสุขภาพเต็มที่ครับ แต่ผมไม่เชื่อว่าแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจะนำมาซึ่งความเท่าเทียมและเป็นธรรมได้ เพราะปรัชญาตั้งต้นของศาสตร์นี้แบบ traditional economics ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบันคือ จ่ายน้อยๆ เอามากๆ แบบเดียวกับพวกนักวิเคราะห์โรงงาน/วิศวะอุตสาหการหรือ industrial engineering/operation research

หากทำตามตัวเลขที่ยึดถือกัน ยังไงก็จะต้อง sacrifice บางอย่าง ที่ผ่านมาของระบบสุขภาพไทยคือการ sacrifice คุณภาพชีวิตคนทำงานในระบบ และบางส่วนส่งผลต่อกระบวนการดูแลรักษาของวิชาชีพ จนนำมาซึ่งการทะเลาะกันอย่างรุนแรงดังที่เห็น และก่อให้เกิดการชิงอำนาจปฏิรูประบบที่เราเจอในปัจจุบัน

สมดุลของการเอาใจใส่คือสิ่งสำคัญ

ลดการบูชาความคุ้มค่าเชิงตัวเลขลง

หลีกเลี่ยงแนวคิดจ่ายตามคุณค่าดังที่มีหลายคนกำลังคิดกระทำตามตะวันตก

ระวังอย่างยิ่งที่จะไป manipulate กองทุนทั้ง 3 อย่าง rigid จนทำให้สำลักความโปร่งใสและความเท่าเทียม เพราะจะกลายเป็นบ่วงผูกคอคนในระบบไม่ให้มีช่องทางหายใจภายใต้สัจธรรมของระบบที่ทรัพยากรไม่พอที่จะจัดการทุกเรื่องให้มีคุณภาพตามความคาดหวังของสังคมไทยและสังคมโลก

รักคนทำงานในระบบสุขภาพให้เยอะๆ พอๆ กับทุกคนในประเทศ

หากจะพัฒนาให้ถูกต้อง รัฐต้องทุ่มทรัพยากรมาเพิ่มขึ้นในระบบอย่างต่อเนื่อง เลิกรีดเลือดจากปู และไม่ควรสร้างความคาดหวังที่ไม่อาจเป็นจริงได้ต่อประชาชนในสังคม ลดละเลิกการสร้างตรามาตรฐานที่เป็นภาระคนทำงานและไม่เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติจริง

แต่หากรัฐรับสัจธรรมเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ได้ ก็ไม่ต้องหวังที่จะมีโอกาสทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ต่อให้ทำอย่างไรก็ตาม ภาพเชิงบวกที่จะถูกนำเสนอนั้นก็จะเป็นไปเพียงระยะสั้นแบบฉาบฉวยแต่แฝงไว้ด้วยฝันร้ายที่จะตามมาอย่างต่อเนื่อง

คนในโลกแก่ตัวขึ้นพร้อมอายุขัยยาวขึ้นและโรคที่มากและเรื้อรัง

การดูแลรักษาแบบสากลถูกชี้นำโดยตะวันตกที่เป็นเจ้าของสนามเวชภัณฑ์และเทคโนโลยี ที่เน้นการลงทุนสูงและผูกติดกับการทวงคืนทุนและกำไรตามตลาดฐานทุนนิยม

แค่สองข้อข้างต้น ก็ไม่ต้องพูดต่อ เพราะคนในสังคมของเรานั้นยึดติดและเป็นไปตาม กระแสสังคมโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้จริงๆ

มาตรการที่ดีที่สุดคือ "พัฒนาระบบตามอัตภาพและความจริง ไม่สร้างภาพฝันที่ขัดหลักสัจธรรม เสริมสร้างความรู้เท่าทันและกระตุ้นให้ทุกคนในสังคมตระหนักถึงปัญหาและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์สำหรับตนเองและคนใกล้ชิด รวมถึงพัฒนากลไกทางเลือกต่างๆ เพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนทุกชั้นวรรณะอย่างทั่วถึง"

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อทุกคน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย