ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลราชวิถีสุดสมาร์ท ติดตั้งระบบ “คิวอัจฉริยะ” คนไข้รอเรียกตรวจผ่านแอปพลิเคชั่น ทดลองใช้เพียง 2 เดือน พบระดับความพึงพอใจพุ่งเกือบ 100% ช่วยลดความแออัดหน้าห้องตรวจได้

น.ส.วรรณา ปดิฐพร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าห้องตรวจศัลยกรรม โรงพยาบาลราชวิถี ผู้ริเริ่มระบบจัดการคิวอัจฉริยะ “QueQ Application” ซึ่งทดลองใช้ในส่วน OPD ศัลยกรรม โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า โรงพยาบาลราชวิถีเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิที่ใหญ่ที่สุดในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเฉลี่ยมีคนไข้ประมาณปีละ 1 ล้านราย และหากจำแนกเฉพาะผู้ป่วยนอก (OPD) ทั้งหมด พบว่ามีไม่ต่ำกว่าวันละ 5,500 ราย ซึ่งแน่นอนว่านำมาสู่ปัญหาความแออัดของโรงพยาบาล

จากสถานการณ์ข้างต้นจึงมีแนวคิดอยากแก้ปัญหา เบื้องต้นคิดถึงระบบเรียกคิวของร้านอาหารที่ใช้ QR-code ซึ่งน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลได้ จึงได้ประสานไปยังบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมออกแบบจัดทำระบบคิวอัจฉริยะขึ้น โดยจะเป็นระบบเรียกคิวผ่านแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทุกระบบ

น.ส.วรรณา กล่าวว่า QueQ Application เหมือนเป็นตัวช่วยที่เข้ามาเสริม คือปัจจุบันก็ยังแจกบัตรคิวกระดาษเหมือนเดิม แต่ด้านหลังกระดาษจะมี QR-code ให้คนไข้สแกน จากนั้นระบบก็จะแจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์ว่าขณะนี้มีคนไข้ก่อนคุณกี่คน คุณอยู่ในลำดับที่เท่าไร

สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน ทางโรงพยาบาลได้ติดตั้งตู้อัจฉริยะ (Self Check KIOSK) เพื่อนำ QR-codeมาสแกนได้เช่นกัน โดยทุกๆ ตู้จะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก ส่วนคนไข้ที่มีความประสงค์จะรอหน้าห้องตรวจก็ยังสามารถทำได้เช่นเดิม เพราะยังมีการเรียกคิวตามปกติอยู่ด้วย

“วัตถุประสงค์หลักคือลดความแออัดของโรงพยาบาล และสามารถช่วยบริหารจัดการเวลาระหว่างรอของคนไข้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น มีคนไข้บางรายไปดูหนังรอ คนไข้บางรายไปเดินห้างสรรพสินค้ารอ หรือคนไข้บางรายมารับคิวก่อนแล้วกลับไปทำงาน พอใกล้ๆ Final call 5 คนสุดท้าย จึงจะกลับมารอก็มี” น.ส.วรรณา กล่าว

น.ส.วรรณา กล่าวว่า เริ่มนำร่องใช้ QueQ Application มาตั้งแต่เดือน ก.พ.2561 มาจนถึงขณะนี้เป็นเวลาประมาณ 2 เดือนเศษ ซึ่งจากการเก็บคะแนนความพึงพอใจของทั้งคนรับบริการและผู้ให้บริการ พบว่าระดับความพึงพอใจอยู่ที่เกือบ 100%

“ขณะนี้ระบบยังไม่รองรับการลงทะเบียนมาจากบ้าน คือคนไข้ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับบัตรคิวไปสแกน แต่ก็ฝันว่าอยากให้เป็นเหมือนต่างประเทศ คือลงทะเบียนมาจากบ้านได้เลย พอมาถึงโรงพยาบาลก็ตรวจอย่างเดียว” น.ส.วรรณา กล่าว

หัวหน้าห้องตรวจศัลยกรรมรายนี้ กล่าวอีกว่า ขณะนี้โรงพยาบาลราชวิถีมี OPD ทั้งหมด 22 แห่ง ขณะนี้เพิ่งนำร่องใช้กับ OPD ศัลยกรรมอย่างเดียว มีคนไข้ประมาณวันละ 400 คน ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายไปใช้ในทุกแผนกของโรงพยาบาล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง