ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพค้าน สธ.จ้องกินรวบ ชงตั้งซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพชาติ ให้อำนาจข้าราชการชี้ขาด ตัดขาดการมีส่วนร่วมประชาชน มีตัวแทนประชาชนแค่ 3 จากกรรมการ 45 คน จี้ ครม.ตีกลับร่าง พ.ร.บ.ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพของ สธ. ชี้เป็นจุดเริ่มต้นทำลายระบบ 30 บาทของประชาชน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่พูดไว้ในเรื่องแผนปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เม.ย.61 ที่ผ่านมา แผนปฏิรูประบบสาธารณสุขนี้กระทรวงสาธารณสุขชงเอง กินเอง ตัดขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ยึดอำนาจให้ข้าราชการเป็นผู้ชี้ขาดทุกอย่าง และดูแลเฉพาะผลประโยชน์ของพวกพ้องตัวเองเท่านั้น ที่ผ่านมา รัฐบาลและ รมว.สาธารณสุข ต่างนำผลสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปอวดกับประชาคมโลก ล่าสุดในการประชุมที่คิวบา และบอกว่าจะพัฒนาในด้านต่างๆ เรียกได้ว่า เป็นวาทกรรมสวยหรู แต่แผนปฏิรูปกลับทำตรงข้ามทุกอย่าง และบ่อนทำลายระบบ 30 บาทของประชาชนในที่สุด

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ มีเป้าหมายเป็นซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพชาติ ยึดและกินรวบทุกบอร์ดสุขภาพ ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพที่ สธ.กำลังจะผลักดันและจะเสนอเข้า ครม.เร็วๆ นี้ เป็นการยึดอำนาจคืนจากประชาชน และให้ข้าราชการเป็นผู้กินรวบและชี้ขาดทุกอย่าง โครงสร้างคณะกรรมการมี 45 คน มีประชาชนอยู่ในนี้แค่ 3 คน ที่เหลือเป็นข้าราชการ วิชาชีพทางการแพทย์ มีแม้กระทั่งสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้า และกลาโหม ถามว่าเอากลุ่มนี้เข้ามาเขาก็ต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ไม่ได้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม

ที่สำคัญ มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นี้ระบุว่า นโยบายด้านระบบสุขภาพใด ขัดหรือแย้งกับนโยบายด้านระบบสุขภาพตาม พ.ร.บ.นี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งๆ ที่ ปราศจากการมีส่วนร่วม หากปล่อยให้ร่างกฎหมายนี้ผ่าน ระบบหลักประกันสุขภาพจะได้รับผลกระทบมาก แม้แต่บอร์ดหลักประกันสุขภาพ อาจถูกแทรกแซงโดยคณะกรรมการจาก พ.ร.บ.นี้ได้ ดังนั้ร่างกฎหมายที่ สธ.กำลังจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบนี้ ประชาชนต้องช่วยกันหยุด ไม่เช่นนั้น ระบบ 30 บาทหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของประชาชนที่ได้มาจากรัฐบาลทที่เป็นประชาธิปไตย จากที่เคยเป็นสิทธิจะถูกทำให้กลายเป็นระบบอนาถา ถูกบังคับให้ร่วมจ่ายเมื่อป่วย เพราะคนกลุ่มนี้พูดตลอดเวลาว่า 30 บาทคือภาระประเทศ แต่สวัสดิการของข้าราชการไม่เคยเป็นภาระสำหรับพวกเขา

“ดังนั้นแผนการปฏิรูปที่ละเลยการมีส่วนร่วม และเสียงของประชาชนมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่กระบวนการจัดทำแผนที่พยายามกีดกันข้อเสนอของภาคประชาชน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่รวบรัดขาดมาตรฐาน และเมื่อได้แผนออกมาก็ยิ่งประจักษ์ชัดว่าเป็นแผนที่มุ่งเน้นแต่การดูแลผลประโยชน์เฉพาะพวกพ้องเท่านั้นซึ่งจะทำให้ระบบประกันสุขภาพถดถอยกลายเป็นระบบสงเคราะห์อนาถา เพิ่มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนทางกับสุนทรพจน์ที่สวยหรูข้างต้นอย่างสิ้นเชิง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และครม.ต้องไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นี้ และต้องตีกลับ หากเห็นชอบเท่ากับว่ารัฐบาลนี้จ้องทำลายและจะยกเลิก 30 บาท เหมือนความพยายามที่เคยทำมาตลอดตั้งแต่มาเป็นรัฐบาล ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพของ สธ.นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบบ 30 บาทของประชาชน” นายนิมิตร กล่าว

ทั้งนี้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติที่ สธ.กำลังผลักดัน ดังนี้

1.แผนปฏิรูประบบสาธารณสุขของ คสช.ที่ผลักดันผ่านซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพนี้ เท่ากับเป็นแผนปฏิรูปโดยข้าราชการ เพื่อข้าราชการ ทำให้ขาดสมดุลของผู้แทนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคประชาชน ส่อให้เห็นถึงเจตนารมณ์แฝงที่จะมุ่งเน้นการกระชับอำนาจ กำหนดทิศทางของแผนโดยกลุ่มหนึ่งกลุ่มมากจนเกินไป

2.แผนปฏิรูปนี้แม้จะมีแนวคิดเพื่อไม่ให้กระทรวงสาธารณสุขมีบทบาททับซ้อนทั้งการเป็นผู้อภิบาลระบบ (Regulator) และเป็นผู้จัดบริการ (Provider) แต่ก็ขาดความชัดเจน โดย สธ.พยายามสร้างอำนาจโดยการใช้ซุปเปอร์บอร์ด แต่ก็ยังไม่ปล่อยให้ รพ.ต่างๆ ออกนอกสังกัดตนเอง ให้มีความอิสระ โดยการปรับเป็น รพ.องค์กรมหาชน หรือสังกัดท้องถิ่นทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการมากขึ้น ยังหวงอำนาจไว้ รพ.ก็จะคุมเอง อภิบาลระบบก็จะทำ ไม่ยอมกระจายอำนาจ มองประชาชนเป็นค่ผู้รอรับบริการตามมีตามเกิด ไม่เป็นตัวแทนประชาชนที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์เหมือนที่โครงสร้างของบอร์ดสปสช.เป็น นี่จึงทำให้เกิดทับซ้อนของบทบาทเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปยิ่งขึ้นไปอีก

3.การกำหนดให้มีการกระจายอำนาจโดยการตั้งเขตสุขภาพ แต่ก็เป็นเพียงเป็นเปลือกนอก แต่มีองค์ประกอบของคณะกรรมเขตสุขภาพ ที่เป็นเนื้อใน กลับมีตัวแทนของภาคราชการเป็นส่วนใหญ่

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีข้อเสนอดังนี้

1.เสนอให้ใช้โครงสร้างคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับชาติหลายเรื่อง มีกฎหมายรองรับ มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน รัฐไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการเป็นผู้อภิบาลระบบ(Regulator) และการเป็นผู้จัดบริการ (Provider) เพียงแต่เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที

2.สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นผู้อภิบาลระบบ (Regulator) อย่างสมบูรณ์ โดยแยกหน่วยบริการทั้งหมดออกจากกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการบริหารจัดการภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในหลายพื้นที่ เช่น รพ.บ้านแพ้ว, รพ.เทศบาลเมืองอุดรธานี และ รพ.เมืองภูเก็ต เป็นต้น

3.สนับสนุนการจัดสิทธิประโยชน์หลัก สิทธิประโยชน์เสริมตามข้อเสนอ SAFE

4.เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการกระจายอำนาจโดยการตั้งเขตสุขภาพขึ้นมาใหม่โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เนื่องจากปัจจุบันมีการกระจายอำนาจ มีโครงสร้างในระดับเขต คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขต รวม ๑3 แห่งทั่วประเทศ บริหารภายใต้อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต ซึ่งมีองค์ประกอบจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน มีอำนาจหน้าที่ชัดเจนตามที่กฎหมายกำหนด และมีโครงสร้างของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตเป็นหน่วยงานรองรับด้านธุรการ

นอกจากนั้น ปัจจุบัน ยังมีเขตสุขภาพภาคประชาชน ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในระดับพื้นที่ และสอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน ครอบครัว และชุมชนในเขตพื้นที่ ดังนั้น การตั้งเขตสุขภาพขึ้นมาใหม่ตามข้อเสนอดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นการปฏิรูป แต่จะสร้างความซ้ำซ้อนในการทำงานในพื้นที่โดยไม่เกิดประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม