ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธึกกิต แสวงสุข หรือนามปากกา “ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์ที่เชี่ยวชาญการวิพากษ์และตรวจสอบนโยบายของภาครัฐเป็นหนึ่งในคนที่ติดตามสถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยหรือบัตรทอง 30 บาทมาโดยตลอด และในฐานะประชาชนคนหนึ่งของประเทศที่อยู่ในระบบบริการสุขภาพ เขาได้สะท้อนมุมมองถึงสถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า UC หรือที่คุ้นหูกันว่า 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทองที่เกิดข้อกังวลกับเจ้าตัวอย่างมากเกี่ยวกับทิศทางในอนาคต ซึ่งได้โพสต์ข้อความบ่อยครั้งผ่าน Facebook ส่วนตัว

อธึกกิต ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องบัตรทองผ่าน Hfocus โดยสะท้อนในหลากหลายมิติของการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไว้อย่างน่าสนใจ โดยเขาให้ภาพว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) ก็ถือได้ว่าทำงานได้ดีในระดับหนึ่งสำหรับการดูแลสุขภาพของคนไทยผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่อีกด้านหนึ่งระบบ UC ที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้แพทย์และพยาบาลบางส่วนมีความเครียด เพราะระบบจะพันกับงบประมาณ รวมถึงกติกาต่างๆ ที่เข้ามาควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ จุดนี้เลยทำให้แพทย์เกิดความเครียด

อีกทั้งระบบดังกล่าวถือได้ว่าเป็นระบบพิเศษที่ถูกนำมาใช้เพียงแค่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เดียวเท่านั้น เหมือนเป็นข้าราชการพิเศษเพียงส่วนเดียวและแตกต่างจากราชการอื่นๆ ทั้งหมด การเติบโตในสายงานก็แตกต่างกัน

“ผมเข้าใจว่าบุคลากรของ สธ.ก็มีความรู้สึกว่าอยากทำงานได้อย่างเต็มที่ ไร้ข้อจำกัด แต่ทุกวันนี้ในมุมของแพทย์และพยาบาลก็เหมือนกับว่าถูกระบบบัตรทองตรึงเอาไว้ ขยับย้ายไปไหนไม่ได้ อีกทั้ง สปสช.ก็ต้องกำกับค่าใช้จ่าย ตรงนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจกันขึ้นมาระหว่างแพทย์และระบบที่ สปสช.ดูแล และนำไปสู่การสร้างข้อมูลที่บิดเบือนความจริงกัน เพราะต้องการเข้ามาควบคุมการบริหารงบประมาณรายหัวด้านสุขภาพของคนไทย ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าการบริหารของ สปสช.จะถูกต้องไปหมดทุกอย่าง แต่ความหมายคือมันมีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อโจมตีระหว่างกัน” อธึกกิต ให้ความเห็น

คอลัมนิสต์ชื่อดังผู้นี้ ให้มุมมองอีกว่า เมื่อมีข้อมูลที่จ้องจะโจมตีกันอย่างไม่เป็นธรรม บวกกับการจัดการงบประมาณที่ถึงแม้จะอำนวยความสะดวกให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่สำหรับบุคลากรของ สธ.แล้วกลับไม่ใช่เช่นนั้น ขณะที่เมื่อมีการบิดเบือนข้อมูลโจมตีกันที่มากไปด้วยอคติ แพทย์ส่วนใหญ่กลับเลือกนิ่งเฉย ทางออกจึงไม่เกิดขึ้น

“การแก้ความขัดแย้งระหว่าง สปสช.และกลุ่มแพทย์ สธ. ผมมองว่าการเพิ่มงบประมาณรวมถึงการกระจายอำนาจแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้ว น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะอีกมุมก็ต้องเข้าใจข้อจำกัดของกติกาทำให้แพทย์ต้องอึดอัดด้วย”

อธึกกิต อธิบายถึงความอึดอัดที่พอเป็นภาพให้ได้เห็นเค้าราง เขายกตัวอย่างกรณีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในแถบภาคกลาง เมื่อค่าใช้จ่ายสุขภาพรายหัวของประชากรที่อัดอยู่ในงบประมาณก็มีภาวะขาดทุนมาโดยตลอด และยังหาทางออกกับเรื่องการบริหารอย่างไรไม่ให้ขาดทุนได้ เพราะว่าภายในโรงพยาบาลมีอาคารขนาดใหญ่ และมีจำนวนเตียงที่มากเกินไป มากเกินกว่าจำนวนประชากรเฉลี่ยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และเมื่อมีอาคารขนาดใหญ่ ระเบียบของ สธ.ก็ระบุชัดว่าจะต้องมีบุคลากรให้เหมาะสมด้วย เมื่อต้องหาคนมาทำงานแต่ไม่มีงานรองรับ มันก็เกิดความไม่สมดุลและนำไปสู่ปัญหาขาดทุน ซึ่งก็น่าเห็นใจ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่าข้าราชการแพทย์ส่วนใหญ่ก็ต้องการอำนาจเต็มในการจัดการบริหาร ขณะที่ระบบราชการอื่นๆ ก็ไม่ได้ถูกควบคุมด้วยกติกาเช่นนี้ หากให้เทียบกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลของจังหวัด ศักดิ์ศรีก็เท่ากันแต่ความสะดวกความสบายในการทำงานแตกต่างกัน แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สธ.ถือว่ายุติธรรมอย่างมากกับประชาชน ขณะที่ส่วนอื่นๆ ผมมองว่าไม่ได้ยุติธรรมด้วย แต่แน่นอนว่าระบบราชการต้องการแบบไหน ผมเชื่อว่าเรารู้ๆ กันอยู่

“แต่สิ่งที่ สปสช.จัดการบริหารก็ถูกต้องเหมือนกัน เพราะเป็นการปกป้องสิทธิ์ในการดูแลรักษาพยาบาลของคนไทยที่ถือบัตรทอง ผมว่าการโจมตีกันบ่อยครั้งมันมากไปด้วยข้อมูลที่เกินเหตุ ซึ่ง สปสช.เองก็มีมาตรฐานในการบริหารและการดูแลสิทธิ์ในการรักษาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ครั้นจะให้แพทย์มาสั่งการโดยใช้ดุลยพินิจอย่างเต็มที่ก็คงไม่ถูกนัก ไม่เช่นนั้นงบประมาณแต่ละปีจะบานปลาย ผมย้ำว่าตราบใดที่รัฐบาลยังคงสวัสดิการรักษาฟรี หรือยังมีบัตรทองอยู่ ก็ต้องให้ สปสช.เข้ามาจัดการ หากให้ใครหรือหน่วยอื่นเข้ามาแทน บอกได้เลยว่างบประมาณจะบานปลาย”

อธึกกิต เสริมข้อข้างต้นนี้ว่า ตัวอย่างชัดเจนที่เกิดการโจมตีด้วยอคติ คือ ข้อเรียกร้องให้ผู้ถือบัตรทองต้องมาล้างไตที่โรงพยาบาลเท่านั้น ขณะที่สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ UC ก็เสนอให้มีการล้างไตที่บ้านได้เอง ซึ่งจะสะดวกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องมาโรงพยาบาลและต้องรอคิวเป็นเวลานานกว่าจะได้รักษา ซึ่งน้องชายผมที่เคยป่วยเป็นโรคไตแต่ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ก็เคยใช้สิทธิ์ UC มาล้างไตเองที่บ้าน ซึ่งผมก็เห็นว่ามันสะดวกมาก ไม่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อยๆ และต้องรอนานกว่าจะได้ฟอกไต

“ก็ถูกต้านอีกว่าต้องไปล้างหรือฟอกไตที่โรงพยาบาลเท่านั้น ผมก็ไม่ทราบว่าทำไม ผู้ป่วยบางคนรอไม่ไหวก็ไปโรงพยาบาลเอกชน หรือบางคนมีสิทธิ์บัตรทองแต่มีสตางค์หน่อยก็ไปโรงพยาบาลเอกชน และแน่นอนว่าโรงพยาบาลเอกชนรับอยู่แล้วเพราะได้เงินจาก สปสช. และยังบวกไปกับค่าบริการกับผู้ป่วยเข้าไปได้อีก นี่คือมายาคติของคนไทยเองด้วยส่วนหนึ่งที่คิดว่าโรงพยาบาลเอกชนดีกว่า ทั้งๆ ที่สิทธิ์ก็ระบุว่าสามารถทำเองรักษาเองที่บ้านได้” อธึกกิต ย้ำ

หรืออีกกรณีที่อธึกกิตอธิบายให้เห็นภาพ คือคนใกล้ตัวที่เคยทำงานเป็นแม่บ้านให้ ลาออกไปแต่งงานเมื่อราว 15 ปีก่อน และไม่ทราบมาก่อนว่าชายที่แต่งงานด้วยติดเชื้อ HIV กระทั่งมีลูกด้วยกัน 1 คนและสามีได้ตายจากไปเนื่องจากไม่ยอมรักษาตัว เมื่ออดีตแม่บ้านรู้ความจริงว่าได้รับเชื้อ HIV ขณะที่ลูกน้อยก็ติดเชื้อด้วยเช่นกัน เธอได้ใช้สิทธิ์บัตรทองในการรับยาเพื่อดูแลตัวเองให้อยู่รอดได้ ขณะที่ลูกของเธอก็ได้รับยาเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันนี้ เด็กน้อยที่ได้รับเชื้อในวันนั้นก็กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ส่วนอดีตแม่บ้านก็ทำงานรับจ้าง โดยใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

แต่กระนั้น กลุ่มต่อต้าน สปสช.ก็กล่าวหาว่า คณะกรรมการ สปสช.เอาเงินไปให้กับกลุ่มเอ็นจีโอเกี่ยวกับ HIV โดยตรง ทั้งๆ ที่กลุ่มต้านไม่ทราบความจริงว่าพวกเขาไม่ใช่เอ็นจีโอ แต่เป็นเครือข่ายของผู้ติดเชื้อ HIV ที่รวมกลุ่มกันเองเพื่อคอยช่วยเหลือผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้สามารถเข้าถึงยาและการรักษาตามสิทธิ์บัตรทองที่เขามี เป็นการช่วยเหลือที่ดีอย่างมาก เพราะเป็นทั้งเพื่อนที่เข้าใจกัน และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างดี ขณะที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเครือข่ายโรคไตก็โดนโจมตีหาว่าเป็นเอ็นจีโอด้วยเช่นกัน

“อีกเรื่องคือการใช้ยา ซึ่งเป็นมายาคติอย่างมากในสังคมไทย ที่มองว่าการใช้ยาแพง หรือยาจากเมืองนอกจะดีกว่ายาในประเทศที่ราคาถูก ขณะที่แพทย์เองก็เช่นกันบางส่วนดันมีความคิดที่ว่าหากจะเก่งต้องใช้ยาที่แพงๆ ตนเองได้เข้าโรงพยาบาลเอกชนเพื่อทำการรักษายามเจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง และแพทย์ที่พบก็เป็นอาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งแพทย์หลายคนก็จะถามว่าเบิกค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็จะสั่งยาให้ในขนาดที่กินได้ 7 วัน หรือ 1 เดือนตามที่ร้องขอ จากนั้นจะเขียนใบสั่งยาเพื่อไปซื้อยาจากข้างนอกที่ราคาถูกกว่าแต่มาตรฐานเดียวกันได้ แต่บ่อยครั้งที่ตัวเองดื้อด้านลืมกินยา ทำให้ต้องกลับไปใช้ยานอกหรือยาที่แพงเพื่อรักษาใหม่ ซึ่งมันคือความจำเป็น แต่ความหมายคือ ยาไทยก็สามารถรักษาได้เช่นกัน ไม่จำเป็นจะต้องสั่งยาราคาแพง หรือยาจากนอกในทุกๆ ครั้งเสมอไป

“แต่สิ่งนี้ถูกโจมตีว่า สปสช.ใช้แต่ของถูก เอาของถูกมารักษาประชาชน ซึ่งมันไม่ใช่ มันเป็นยาที่มีคุณภาพ และจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ขั้นตอนการรักษา อยู่ที่คนไข้จะดูแลตัวเองได้ดีอย่างไร เพราะหากดูแลตัวเองดียาแพงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้” อธึกกิต ย้ำ

กระนั้นก็ตาม การโจมตีระหว่างกันจนกลายเป็นเหมือนสงครามทางความคิดที่ไม่จบสิ้นในตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อธึกกิตมองเห็นถึงสาเหตุของความขัดแย้งเพียงประการเดียวคือ สธ.ต้องการเข้ามาบริหารจัดการงบประมาณรายหัวเองแทน สปสช. เพราะถือว่าเสือทั้ง 2 ตัวยังคากันอยู่บนเส้นทางการทำงานเดียวกัน และเมื่อระบบเอื้อให้อีกฝ่ายได้บริหารจัดการ แน่นอนว่าอีกฝ่ายจำต้องรับความรู้สึกอึดอัดกลับไป

คอลัมน์นิสต์ชื่อดัง อธิบายว่า สธ.ต้องการดึงอำนาจการบริหารงบประมาณส่วนนี้กลับไปจัดการเอง และบ่อยครั้งที่ สธ.พูดว่าไม่เลิกรักษาฟรีแน่นอน แต่ลึกๆ ก็ต้องการกุมอำนาจไว้ทั้งหมด ง่ายๆ คือ เอาเงินมาเลยแล้วจะจัดการเอง ไม่ต้องผ่าน สปสช.อีกต่อไป แต่เจตนาที่แท้จริงคือการแยกเงินเดือนออกจากงบประมาณรายหัว เพื่อเพิ่มอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายแพทย์ในกระทรวงให้เหมือนกับก่อนปี 2545 ที่เป็นไปในลักษณะช่วยราชการที่หนึ่ง แต่ชื่ออยู่อีกที่หนึ่ง ก็รับเงินเดือน 2 ทาง ซึ่งจะเป็นเพิ่มงบประมาณจนถึงขึ้นบานปลาย และยังไม่รวมถึงมาตรฐานการรักษาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงหาก สธ.ได้มามีอำนาจอีกด้วย แต่ขณะนี้ยังดีที่ สปสช.มีภาคประชาชนส่วนหนึ่งเข้าไปอยู่คณะกรรมการ ทำให้ยังพอถ่วงดุลอำนาจกันได้

แต่สำหรับอนาคตแล้ว สิ่งที่ค่อนข้างน่ากังวลเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเมืองไทยตามการคาดการณ์บนสถานการณ์ปัจจุบันของอธึกกิต ก็น่าสนใจไม่น้อย

อธึกกิต อธิบายกับเรื่องนี้ว่า ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข จะมี พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะมี “ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ” อยู่ด้วย เพราะหากร่างดังกล่าวผ่านการพิจารณาออกมาใช้งานได้จริงโดยไร้ซึ่งแรงต่อต้านใดๆ สปสช.จะไร้ความหมายไปโดยทันที และเสมือนถูกยุบไปแล้วแต่ยังมีตัวตนอยู่แค่ในกรอบของกฎหมาย แต่จะไร้ซึ่งอำนาจบริหารจัดการ

“เพราะในซุปเปอร์บอร์ดด้านสาธารณสุขซึ่งมีทั้งหมด 45 คน จะมีการเพิ่มสัดส่วนของราชการเข้าไปมีสิทธิ์มีเสียงด้วย และจะเป็นการรวมกองทุนทั้งหมดมาอยู่ในที่เดียวกัน ซึ่งสัดส่วนราชการทั้ง 45 คนจะมากกว่าภาคประชาชนและของ สปสช.เองด้วย ซึ่งกำกับโดย สธ.ทั้งหมด ขณะที่งประมาณรายหัวของ UC หรือบัตรทองจะถูกควบรวมอยู่ในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ โดยมีผู้ตรวจราชการ สธ.คอยมากำกับดูแล ซึ่งจะลดบทบาทของ สปสช.ออกไปทันที หรือเรียกว่าแทบจะไร้บทบาทเลยก็ว่าได้”

อธึกกิต ย้ำทิ้งท้ายอีกว่า จะดีร้ายอย่างไรยังไม่อาจประเมินได้ แต่ในอนาคตรูปแบบการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพจะเป็นลักษณะนี้ โดย สธ.จะกลับมามีอำนาจอีกครั้งแทนที่ สปสช. ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านฉลุย การแก้ไขกฎหมายบัตรทองก็ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะมันจบทุกอย่างได้ด้วยอำนาจของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้