ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักบริหารดีเด่นแห่งปี “ทพ.ไพศาล กังวลกิจ” กับบทบาทนายกทันตแพทยสภาและความท้าทายในอนาคต จัดระบบการศึกษาต่อเนื่อง ผลักดันแก้ปัญหาจัดฟันแฟชั่นครบวงจร รับรองคุณภาพคลินิกทันตกรรม ผ่าปม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และกระจายหมอฟันลงชนบท-เพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญ

ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาล กังวลกิจ

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเพื่อสังคมไทยได้จัดพิธีประกาศเกียรติคุณรางวัล “นักบริหารดีเด่นแห่งปี 2561 Executive of the Year 2018” ให้แก่บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม พร้อมเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมและเพื่อการก้าวเป็นผู้นำสังคมไทยรุ่นใหม่ โดยปีนี้มีบุคคลจากสาขาต่างๆ ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา โดยรางวัลนี้ได้พิจารณาจากผลงานของทันตแพทยสภาในชุดที่ ทพ.ไพศาล เป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

จัดระบบการศึกษาต่อเนื่อง

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า เหตุผลที่ได้รับรางวัลนี้น่าจะมาจากผลงานของคณะกรรมการทันตแพทยสภาชุดนี้ ซึ่งมีเรื่องหลักๆ อยู่ 3-4 เรื่อง เรื่องแรกคือการวางระบบการศึกษาต่อเนื่องของทันตแพทย์ เหตุผลเพราะเมื่อเวลาเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน วัสดุอุปกรณ์เปลี่ยน ทันตแพทย์ก็จำเป็นต้องติดตามความก้าวหน้าเหล่านี้เสมอ ถือเป็นการคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการจากทันตแพทย์ที่มีความรู้ทันสมัย ก้าวหน้า มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งแต่เดิมไม่มีการบังคับแต่ทำในลักษณะของการกระตุ้นหรือสนับสนุนให้ทันตแพทย์มีการศึกษาต่อเนื่องอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม ฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลังวันที่ 14 พ.ค. 2559 ต้องต่ออายุใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมทุกๆ 5 ปี โดยการจะต่ออายุได้นั้นต้องสะสมหน่วยการศึกษาต่อเนื่องให้ครบ 100 หน่วย ทันตแพทยสภาถึงจะต่ออายุใบอนุญาตให้ เช่นเดียวกับผู้ที่ได้ใบอนุญาตตลอดชีพไปก่อนหน้านี้ ก็ต้องมาแสดงหน่วยการศึกษาว่าในช่วง 5 ปีได้มีการศึกษาต่อเนื่องด้วย

“1 หน่วยก็เช่นไปประชุมวิชาการ 1 ชั่วโมงได้ 1 หน่วย อ่านบทความวิชาการ 2 หน้า มีคำถาม 5 ข้อ ก็ได้ 1 หน่วย สะสมใน 5 ปีให้ได้ 100 หน่วย แล้วเอามาแสดง เราจะต่ออายุให้ ตอนแรกที่ว่าต้องได้ 100 หน่วยใน 5 ปีก็มีเสียงบ่นอยู่เหมือนกัน แต่พอทำความเข้าใจและลองใช้ระบบที่ออกแบบไว้ เสียงบ่นก็เบาลงไป” นายกทันตแพทยสภา กล่าว

สำหรับการวางระบบการศึกษาต่อเนื่อง ทางทันตแพทยสภายึดหลักการว่าต้องทำให้ทันตแพทย์เข้าร่วมโดยมีภาระน้อยที่สุด เข้าร่วมแล้วทันตแพทย์ได้ประโยชน์ ประชาชนได้ประโยชน์ วิชาชีพมีการพัฒนา ด้วยเหตุนี้จึงได้พัฒนา Node การศึกษาต่อเนื่องกระจายไปทั่วประเทศ โดยให้โรงพยาบาลประจำจังหวัดเป็น node เมื่อจัดประชุมวิชาการก็จัดกันในจังหวัดโดยที่ทันตแพทยสภาส่งวิทยากรไปให้ ผู้เข้าร่วมประชุมก็ไม่ต้องเดินทางเข้ามาที่ส่วนกลาง เดือนๆ หนึ่งอาจจะประชุม 1-2 ครั้งแล้วประเมินหน่วยการศึกษากันเอง ระบบเช่นนี้ทำให้พัฒนาทางวิชาการกระจายไปยังทันตแพทย์ทั่วประเทศและสามารถเข้าถึงได้ง่าย

ขณะเดียวกัน ยังนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้โดยการอัพโหลดบทความวิชาการเข้าไปในระบบของศูนย์การศึกษาต่อเนื่องเพื่อให้ทันตแพทย์สามารถเข้ามาอ่าน และเร็วๆ นี้ยังจะพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นบนมือถือด้วย ทันตแพทย์เมื่อมีเวลาว่างจากการรักษา ช่วงพัก หรือแม้กระทั่งเข้าห้องน้ำก็ยังเข้าถึงบทความเหล่านี้ได้ตลอดเวลา

ผลักดันแก้ปัญหาจัดฟันแฟชั่นครบวงจร

ประเด็นต่อมาที่ทันตแพทยสภายุค ทพ.ไพศาล ให้ความสำคัญคือปัญหาค่านิยมจัดฟันแฟชั่นในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในช่องปาก ปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีมานานสิบกว่าปีและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบสินค้าและการทำตลาด ซึ่งนายกแพทยสภากล่าวว่าโดยส่วนตัวก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเด็กวัยรุ่นไทยชอบใส่ที่จัดฟัน เพราะแต่เดิมเมื่อหลายปีก่อน คนที่จัดฟันไม่ค่อยอยากยิ้มด้วยซ้ำเพราะรู้สึกเป็นปมด้อย แต่ระยะหลังกลับกลายเป็นเรื่องโก้เก๋ ทันสมัยไปเสียอย่างนั้น

“การจัดฟันมีค่าใช้จ่ายสูง เด็กก็นิยมไปทำกันที่ร้านจัดฟันแฟชั่น แล้วร้านพวกนี้ก็มีการโฆษณากันเต็มไปหมด ตอนนี้รูปแบบที่เด็กชอบมากก็คือเอา bracket มาติดที่ฟัน นิยมทำกันในศูนย์การค้า ซึ่งอันตรายเพราะอาจทำให้ฟันเคลื่อน รวมทั้งเครื่องมืออาจไม่สะอาด อาจติดเชื้อได้จากคนสู่คน สุขภาพเหงือกและฟันเสียหาย แปรงฟันยาก เสี่ยงต่อเหงือกอักเสบ” ทพ.ไพศาล กล่าว

สำหรับแนวทางการจัดการปัญหานี้ ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางทันตแพทยสภาก็พยายามร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไล่ปิดเว็บไซต์จัดฟันเถื่อน มีการจับกุมดำเนินคดีไปมาก แต่จับอย่างไรก็ไม่หมดแน่นอนเพราะมีความต้องการในตลาดสูงมาก ดังนั้นจึงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เช่น การให้ความรู้ประชาชนและผู้ปกครองว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อย่าให้ลูกหลานไปรับบริการลักษณะนี้

นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดฟันสามารถหาซื้อได้ง่ายมาก ทันตแพทยสภาจึงได้หรือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการประกาศให้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้จัดฟันทั้งหมดเป็นเครื่องมือควบคุม จะสั่งซื้อโดยทันตแพทย์เท่านั้น คนทั่วไปไม่ควรเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ซึ่งขณะนี้ทาง อย.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางนี้ และเชื่อว่าจะช่วยตัดวงจรธุรกิจจัดฟันแฟชั่นลงได้อีกส่วนหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งต่อไป ทางทันตแพทยสภาจะเสนอให้ปัญหาการจัดฟันแฟชั่นเป็นประเด็นในระดับชาติ เพราะการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ไล่จับแต่ต้องให้คนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เช่น ผู้ปกครอง ครู เข้ามามีส่วนร่วมถึงจะแก้ปัญหาได้

“ก็น่าจะทำได้ครบวงจรได้มากขึ้นคือให้ความรู้ประชาชน การใช้กฎหมายเข้าดำเนินการกับคนที่ทำผิดกฎหมาย และควบคุมผลิตภัณฑ์ทั้งหลายไม่ให้แพร่กระจายได้ง่าย รวมทั้งตอนนี้เรากำลังเก็บข้อมูลทำวิจัยค่านิยมวัยรุ่นในการจัดฟันไปด้วยเพื่อเอาข้อมูลเหล่านี้ใช้แก้ปัญหาในอนาคต” นายกทันตแพทยสภา กล่าว

รับรองคุณภาพคลินิกทันตกรรม

ประเด็นต่อมาที่ทันตแพทยสภาดำเนินการ คือการพัฒนาคุณภาพคลินิกทันตกรรม โดยใช้ชื่อว่า Thai Dental Clinic Accreditation (TDCA) ถือเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 เริ่มจากแต่ละปีที่ผ่านมาพบว่ามีข้อร้องเรียนจากประชาชนโดยเฉพาะเรื่องปัญหาความปลอดภัย ทันตแพทยสภาจึงได้จัดทำ Dental Safety Guideline and Solution เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ และมีการพัฒนาเรื่อยมาจนต่อยอดเป็นการรับรองคุณภาพแบบเดียวกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)

“หัวใจของการมารับบริการคือความปลอดภัยและมีมาตรฐานสากล คลินิกไหนทำตามไกด์ไลน์อย่างที่แนะนำ เราจะมีคนไปตรวจ พอทำได้ตามมาตรฐานแล้วเราก็ให้ใบรับรองเหมือน สรพ.ทำเรื่อง HA โครงการนี้เราเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนในระยะยาวและจะทำให้ผู้รับบริการเกิดความเชื่อมั่นในคลินิกทันตแพทย์ เชื่อว่าในระยะยาวคลินิกไหนที่ไม่มีมาตรฐานจะไม่ได้รับความไว้วางใจและอยู่ไม่ได้” ทพ.ไพศาล กล่าว

สำหรับโครงการนี้ ในระยะแรกทางทันตแพทยสภาจะใช้ระบบสมัครใจโดยเริ่มจากโรงพยาบาลของรัฐก่อน ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมแล้วประมาณ 20 แห่งรวมทั้งคลินิกเอกชนอีกจำนวนไม่น้อย อีกทั้งปีที่ผ่านมายังได้ทำ MOU กับกรมการแพทย์โดยทันตแพทยสภาจะพัฒนาปรับปรุงในส่วนของไกด์ไลน์ต่างๆ ขณะที่กรมการแพทย์จะพัฒนาในส่วนของผู้เยี่ยมสำรวจ

นอกจากนี้ ทันตแพทยสภายังได้มีการหารือกับ สรพ.ว่าเวลาไปตรวจรับรองโรงพยาบาลต่างๆ อาจเอาตัวแทนทันตแพทยสภาเข้าไปร่วมดูคลินิกทันตกรรมในโรงพยาบาลนั้นๆ ด้วย ซึ่งทาง สรพ.ก็เห็นด้วยในหลักการและจะนำไกด์ไลน์ของทันตแพทยสภาไปพิจารณาให้สอดคล้องกับของ สรพ.

ผ่าปม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

ประเด็นสุดท้ายที่ทันตแพทยสภาดำเนินการอย่างเข้มข้นในช่วงปีที่ผ่านมา คือการคัดค้านมาตรการควบคุมเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ ภายใต้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 2559

นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการควบคุมเครื่องกำเนิดรังสี สารกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ อยู่ภายใต้การกำกับโดยสํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเครื่องเอกซเรย์ก็ถูกรวมอยู่ในกฎหมายนี้เพราะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดรังสี

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการออกกฎหมายฉบับนี้ไม่เคยมีการสอบถามความคิดเห็นกับสภาวิชาชีพมาก่อน รวมทั้งยังมีจุดอ่อนคือใช้มาตรการควบคุมเครื่องกำเนิดรังสี สารกัมมันตรังสี และวัสดุนิวเคลียร์แบบเดียวกัน มีโทษแบบเดียวกัน ซึ่งโดยสามัญสำนึกแล้วไม่น่าจะใช่

“เอาคลินิกหรือโรงพยาบาลไปควบคุมแบบเดียวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ใช้โทษแบบเดียวกัน ไม่น่าเป็นไปได้ โดยสามัญสำนึกก็รู้สึกว่าไม่ใช่” ทพ.ไพศาล กล่าว

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว หากมีเครื่องเอกซเรย์จะต้องแจ้งการครอบครองและขอใบอนุญาตจาก ปส. โดยใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี ถ้าไม่แจ้งขอครอบครองหรือใบอนุญาตขาดอายุ จะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท นอกจากนี้ เมื่อมีการครอบครองแล้วจะต้องจัดเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดทำการ โดยเจ้าหน้าที่ RSO จะต้องสอบใบอนุญาตจาก ปส.ทุก 3 ปี

“หมายความว่าในคลินิกฟันจะต้องมีเจ้าหน้าที่ RSO ถ้าไม่มีปรับ 5 แสนบาท จำคุก 5 ปี ซึ่งเป็นโทษที่แรงมาก เครื่องเอกซเรย์ของทันตแพทย์เป็นตัวที่รังสีต่ำที่สุด แต่ถูกควบคุมเหมือนนิวเคลียร์ ผมว่ามันไม่สมเหตุสมผล ต่างประเทศไม่มีใครเขาทำกัน เราถึงต้องออกมาประท้วง ตอนนี้แรงต่อต้านไม่ได้มีแค่ทันตแพทย์ โรงพยาบาลอำเภอก็มีปัญหาหมดเพราะหาเจ้าหน้าที่ RSO มาประจำตลอดเวลาทำการไม่ได้” นายกทันตแพทยสภา กล่าว

ทพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า ตามกฎหมายฉบับนี้ สามารถออกกฎกระทรวงยกเว้นได้ ที่ผ่านมาทันตแพทยสภาจึงได้หารือกับ ปส. และกระทรวงวิทย์ขอให้ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกเรย์ทางการแพทย์ออกจากการควบคุม แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถออกกฎกระทรวงได้ เพราะทางกระทรวงวิทย์ฯและ ปส. บอกว่าจะออกกฎกระทรวงให้ แต่มีเงื่อนไข 8 ข้อ ซึ่งบางข้อก็ทำได้ได้ยากในทางปฏิบัติ

นายกทันตแพทยสภา ยกตัวอย่างเช่น จะติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ต้องมีระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งก็มีตั้งคำถามว่าทำไมเครื่องเอกซเรย์ต้องกลัวน้ำท่วมเพราะไม่ใช่วัสดุนิวเคลียร์ ไม่ใช่สารกัมมันตรังสี เป็นเพียงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง พอจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าไปก็เกิดรังสี พอดึงปลั๊กออกออกก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เวลาทิ้งก็เหมือนขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นหนึ่ง ไม่มีกากกัมมันตรังสีที่เป็นอันตราย จึงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีระบบป้องกันน้ำท่วม

“เงื่อนไขข้อต่อมาคือต้องมีห้องเอกซเรย์แยก หมายความว่าถ้ารวมกับเงื่อนไขก่อนหน้านี้ พื้นที่ไหนที่น้ำท่วมบ่อย เครื่องเอกซเรย์ก็ต้องไปอยู่บนชั้น 2 ชั้น 3 ซึ่งไม่สะดวกกับคนไข้ แล้วรังสีจากเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมต่ำมาก มันอยู่ติดกับเก้าอี้ทำฟันเลย ในยุโรป อเมริกาเป็นแบบนี้หมด จะเอกซเรย์ฟันคนไข้ก็ไม่ต้องลุก คนแก่ เด็ก คนพิการไม่ต้องขึ้นไปชั้น 2 ผมถึงบอกว่าแค่ออกกติกาออกมามันก็ปฏิบัติไม่ได้” นายกทันตแพทยสภา กล่าว

สำหรับการแก้ปัญหาในขณะนี้ ทางกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เข้ามาดูแลปัญหาและอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขกฎหมาย สาระสำคัญคือให้เอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ที่ไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ ไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แล้วให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ควบคุมแทน ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ก็เป็นผู้ควบคุมอยู่แล้ว

“ตอนนี้กฎหมายมี 2 ร่าง คือของกระทรวงวิทย์ฯ และร่างฉบับของ กมธ.การสาธารณสุข โดยจะเอาเข้าที่ประชุม สนช. แล้วให้ สนช.พิจารณาว่าจะรับหลักการร่างไหน แต่ถึงจะรับร่างฉบับไหนก็ตาม ผมคิดว่าปัญหาน่าจะคลายลงจากเดิม เพราะร่างของกระทรวงวิทย์ฯ ก็แก้ให้เป็นแค่การจดแจ้ง ไม่ใช่จดทะเบียนครอบครอง ถ้าไม่ต้องขึ้นทะเบียนครอบครองก็ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี อย่างน้อยตรงนี้ก็ตอบสนองสิ่งที่เราเรียกร้องได้ ต่างกันแค่ร่างของกระทรวงวิทย์ฯ ยังต้องจดแจ้งกับ ปส. แต่ร่างฉบับของ สนช.คือยกให้ไปอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขเลย คิดว่าภายในกลางปีหรือปลายปีเรื่องนี้น่าจะมีข้อยุติ” ทพ.ไพศาล กล่าว

กระจายหมอฟันลงชนบท-เพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญ

แม้การทำงานที่ผ่านมาจะเกิดผลเป็นรูปธรรมในหลายเรื่องใหญ่ๆ อย่างไรก็ดี ทพ.ไพศาล มองว่ายังมีความท้าทายอีกหลายประเด็นที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคต เช่น การแก้ปัญหาการกระจายตัวของทันตแพทย์ การเพิ่มสัดส่วนทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้เพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่การเพิ่มจำนวนการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชน

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีทันตแพทย์ 16,191 คน มีการผลิตปีละประมาณ 800 กว่าคนจากสถาบันผลิต 13 แห่ง และที่กำลังจะขอเปิดอีก 2-3 แห่ง ดังนั้นวิชาชีพมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการกระจาย เพราะทันตแพทย์ครึ่งหนึ่งจะอยู่ใน กทม.และปริมณฑล ส่วนที่เหลืออีกครึ่งอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ขณะที่คณะทันตแพทย์ที่เปิดใหม่ก็เริ่มเกินความต้องการแล้ว ยิ่งสร้างเยอะแล้วบุคลากรมากระจุกอยู่แต่ในเมือง ปัญหาก็จะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

“การผลิตทันตแพทย์ 1 คนใช้งบประมาณ 4-5 แสนบาท/ปี มันใช้งบประมาณสูง ถ้าเปิดเราอยากให้เป็นคณะทันตแพทย์ที่มุ่งเรื่องการกระจายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่อยู่ในชนบทให้เข้าถึงบริการได้ดีขึ้นมากกว่า” ทพ.ไพศาล กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันทันตแพทยสภาได้ตั้งคณะอนุกรรมการมาดูเรื่องกำลังคน โดยกำลังพิจารณากันว่าจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในช่องปากที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ ควรผลิตเท่าไหร่ แล้วประสานกับสถาบันผลิต ในระยะเวลาอันใกล้น่าจะมีตัวเลขออกมาชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทุกคนยอมรับ เพื่อเอามาประกอบการบริหารจัดการ การวางกำลังคน การผลิต คณะทันตแพทย์ควรจะลดจำนวนผลิตลงอย่างไร

“ตอนนี้สัดส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรเราอยู่ที่ 1:4,000 แล้วในเมืองต่ำกว่านั้น ในกทม.อยู่ที่ 1:1,000 ด้วยซ้ำ เป็น supply push คณะทันตแพทย์ใครอยากเปิดก็เปิด มหาวิทยาลัยไหนพร้อมก็เปิด ตอนนี้มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งที่อยากจะเปิด เพราะมีคนอยากเรียนเยอะ เพราะฉะนั้นความต้องการเข้ามาเรียนยังค่อนข้างสูง ตรงนี้เราก็ต้องมาดูกัน” นายกทันตแพทยสภา กล่าว

หนึ่งในแนวคิดที่ ทพ.ไพศาล มองว่าน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการกระจายตัวของทันตแพทย์ได้ คือการให้ทุน ODOS แบบเดียวกับแพทย์ ซึ่งน่าจะมีทุน ODOS สำหรับทันตแพทย์ด้วย โดยให้ทุนเด็กในชนบทที่มีศักยภาพที่จะเรียน อาจจะตำบลหรืออำเภอละคน เวลาเรียนก็ให้เรียนในสถาบันใกล้บ้าน เรียนจบก็กลับไปอยู่ในพื้นที่ เชื่อว่าน่าจะอยู่ในภูมิลำเนาได้ดีกว่า และอยู่ได้ยั่งยืนกว่าเด็กในเมืองที่เรียนจบแล้วต้องไปทำงานใช้ทุน 3 ปีในชนบท

อีกประเด็นเด็นที่นายกทันตแพทยสภาต้องการผลักดัน คือเรื่องการศึกษาหลังปริญญา ปัจจุบันทันตแพทย์มีสาขาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 12 สาขา มีผู้เชี่ยวชาญรวมประมาณ 1,800 คน ซึ่งคิดสัดส่วนต่อประชากรแล้วยังต่ำ เพราะฉะนั้นทันตแพทยสภาจึงกำลังดูว่าคณะทันตแพทย์หลายแห่งที่มีศักยภาพ เช่น จุฬาฯ มหิดล เชียงใหม่ อยากให้ลดสัดส่วนการผลิตจำนวนปริญญาลง แล้วมาเพิ่มสัดส่วนการผลิตผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น แล้วให้การผลิตระดับปริญญาไปอยู่ในสถาบันที่อยู่ต่างจังหวัดเพื่อช่วยแก้ปัญหาการกระจายบุคลากรลงได้บ้าง

“ผมอยากพัฒนาให้ทันตแพทย์เราเก่งมากขึ้นๆ เปิดการอบรมเฉพาะทางให้มากขึ้น เพราะตอนนี้สัดส่วนที่เปิดรับต่อปีรวมทุกสาขาประมาณ 150 คนต่อทันตแพทย์ที่จบ 800 กว่าคน แล้วจำนวนสะสมที่อยากเรียนต่อก็ยังมีอีกเยอะมาก จึงอยากพัฒนาให้ทันตแพทย์เรามาเรียนและเก่งขึ้นๆ” ทพ.ไพศาล กล่าว

นายกทันตแพทยสภา กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาสุขภาพในช่องปากเป็นปัญหาที่สำคัญ แต่เดิมคนให้ความสำคัญกับทันตแพทย์น้อยเพราะไม่เข้าใจว่าสุขภาพช่องปากสำคัญอย่างไร แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่าสุขภาพในช่องปากเกี่ยวโยงกับสุขภาพกาย สุขภาพจิต เกี่ยวพันกับโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ คนไข้ที่สูญเสียฟันไป สมรรถภาพในการขบเคี้ยวลดลงก็จะมีผลต่อสุขภาพกาย มีงานวิจัยออกมาชัดเจนว่าคนที่มีฟันเหลือน้อย ในระยะยาวจะมีสุขภาพดีสู้คนที่มีฟันอยู่มากไม่ได้

“แล้วคนในชนบทมีอัตราการเข้าถึงบริการทันตกรรมต่ำมาก ประมาณ 20-30% เท่านั้น อย่างในภาคอีสานมีสัดส่วนทันตแทพย์ 1:10000 บางที่ 1:12,000 น้อยกว่าในเมือง 3-4 เท่า อัตราการป่วยในช่องปากหรือสูญเสียฟันจึงสูง ถ้าสามารถกระจายทันตแพทย์เข้าไปอยู่ในชนบทได้มากขึ้น การเข้าถึงบริการก็จะดี สุขภาพในช่องปากดี สุขภาพกายของประชาชนก็จะดีตามไปด้วย นี่คือสิ่งที่ในภาพกว้างเราต้องช่วยกันทำ” นายกทันตแพทยสภา กล่าว