ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คอบช.เข้ายื่น 4 ข้อเสนอกระทรวงพาณิชย์ จัดการค่ารักษาแพง ให้บริการสาธารณสุขเป็นบริการควบคุม รพ.ต้องส่งต้นทุนการรักษา กำหนดราคาค่ายา ค่ารักษา รวมทั้งพัฒนาระบบร้องเรียน

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.61 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)โดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมราคาสินค้าและบริการ ให้กำกับดูแลการกำหนดราคาค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนทั้งค่ายา ค่ารักษา และค่าเวชภัณฑ์

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลแพงและถูกฟ้องดำเนินคดีจากโรงพยาบาลเอกชน จึงร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเวทีสภาผู้บริโภค เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมเสนอแนะมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นดังกล่าวข้างต้น เพื่อแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป

"บริการสาธารณสุข มีลักษณะเป็นบริการเชิงคุณธรรม เป็นบริการหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และมีข้อมูลร้องเรียนขององค์กรผู้บริโภคที่แสดงให้เห็นถึงการเรียกเก็บค่าบริการที่ยังไม่มีความเป็นธรรม กรมการค้าภายในจึงต้องมีมาตรการกำกับ ควบคุมราคาบริการสุขภาพของสถานพยาบาลให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค" ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพกล่าว

โดยยื่นข้อเสนอออกมาตรการเร่งด่วน 4 เรื่องประกอบด้วย

1. ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดออกประกาศให้"บริการสาธารณสุข"เป็นบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้ผู้ประกอบการ สถานพยาบาลดำเนินการส่งรายการราคาต้นทุนการรักษา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลส่งให้ทางกรมการค้า เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดราคาควบคุม

2. กำหนดมาตรการระยะสั้นโดยประกาศราคาสูงสุดหรือราคากลาง อาทิ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการวิชาชีพ โดยให้นำราคากลางตามที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กองทุนหลักประกันสุขภาพ ทั้ง 3 ระบบ (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มาใช้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการประกาศราคาควบคุมตามข้อ 1

3. พัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาค่าบริการรักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพ ที่มีราคาแพง เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและรับประกันการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในกรณีจำเป็น เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

4. ทบทวนมาตรการควบคุมราคายาและบริการรักษาพยาบาล ตัวอย่างเช่น “ยารักษาโรคซึ่งกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการฉบับที่1 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดสินค้าและบริการควบคุม หมวดยารักษาโรค (16 )” เช่นเดียวกันกับการควบคุมราคาผ้าอนามัย โดยให้มีการแจ้งต้นทุนราคาและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง