ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” เผยผลศึกษาวิจัย “การนอนหลับ” ชี้ชัด คนนอนน้อยต่ำกว่า 6 ชม. เสี่ยงต่อโรคชัดเจน ซ้ำกลุ่มคนมีโรคประจำตัว-เรื้อรัง อัตราเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่ม 2 เท่า ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำค่าใช้จ่ายระบบสุขภาพของประเทศพุ่ง สาเหตุหนึ่งมาจากระบบการทำงานเป็นกะ เผย หมอ พยาบาล ชัดเจนสุด ปัญหาบุคลากรขาดแคลนส่งผลทำงานควบเวรต่อเนื่อง ขาดการพักผ่อน แนะภาครัฐ ผู้บริหารหน่วยงาน ร่วมถก ดูแลคุณภาพชีวิตคนทำงาน ลดอัตราเจ็บป่วยและภาระค่ารักษาพยาบาลระยะยาว

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันการนอนหลับถือเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมีความเป็นเมืองมากขึ้น ความเร่งรีบการใช้ชีวิตของผู้คน รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจและบริการ 24 ชั่วโมง อาทิ ร้านสะดวกซื้อ การบริการรักษาพยาบาล เป็นต้น รวมถึงการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมที่มุ่งลดต้นทุน ส่งผลให้เกิดรูปแบบการจ้างงานเป็นกะ (shift works) ทำให้จากวิถีชีวิตเดิมคือกลางวันทำงานและกลางคืนนอนต้องปรับเปลี่ยนไปตามเวลาเข้างาน และรบกวนต่อวงจรการนอน และส่งผลเสียต่อสุขภาพ

จากปัญหาการนอนหลับนี้ ที่ผ่านมาได้มีการทำการวิจัย “การนอนหลับ” ในประเทศฮ่องกงที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากล โดยศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากภาวะการนอนที่ไม่เพียงพอ ติดตามพฤติกรรมและผลที่เกิดขึ้นในกลุ่มประชากรจำนวนมากถึง 160,000 คน อายุตั้งแต่อายุ 20-80 ปี ต่อเนื่องเป็นเวลา 18 ปี เปรียบเทียบในกลุ่มที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง/วัน กลุ่มที่นอนปกติ 6-8 ชั่วโมง/วัน และกลุ่มที่นอนยาวกว่าปกติ มากกว่า 8 ชั่วโมง/วัน

ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้นชัดเจน เกิดภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) หรืออ้วนลงพุงเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 7-12 ซึ่งปัญหาความผิดปกติต่างๆ ดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง เรียกว่าหากนอนไม่พอจะมีโรคเรื้อรังตามมาชัดเจน เพราะความผิดปกติของการนอนได้ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย

ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีโรคเรื้อรังแล้ว หรือภาวะเมตาบอลิกซินโดรม เบาหวาน ความดัน เป็นต้น พบว่า หากนอนไม่พอยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงเป็น 2 เท่า ดังนั้นจากงานศึกษาวิจัยทั้งสองชิ้นนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า การนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลกระทบต่อสุขภาพแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีสุขภาพดี หรือคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วก็ตาม

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้แสดงความกังวลผ่านสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องถึงค่ารักษาพยาบาลประเทศที่เป็นภาระต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ และชวนให้คิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายกองทุนรักษาพยาบาลภาครัฐลดลง หากลองพิจารณาให้ดีจะพบว่า นอกเหนือไปจากการไปปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสุขภาพของกองทุนต่างๆ แล้ว รัฐบาลควรพัฒนานโยบายที่รอบด้านโดยอิงข้อมูลวิชาการ ดังที่เราเห็นจากผลงานวิจัยที่เล่ามาข้างต้นว่า ต้นเหตุของความเจ็บป่วยของประชาชนส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการนอนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนตามการใช้ชิวิตตามระบบทุนนิยมและสัมพันธ์กับนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันถือเป็นบทพิสูจน์ว่าหากจะแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะในด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน มิใช่แก้ที่ปลายเหตุแต่เพียงอย่างเดียว

สำหรับในระบบสาธารณสุขนั้น เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าภาครัฐมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร ทั้งแพทย์ และพยาบาล ต้องมีการควบเวรหรือทำงานต่อเนื่องแม้จะเพิ่งลงเวร ทำให้พักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ และส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ตามมาในระยะยาว หรือหากมีโรคประจำตัวอยู่เป็นทุนเดิม ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากขึ้น

ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ผู้บริหารระบบต้องตื่นตัว และมีมาตรการในการปกป้องสุขภาพบุคลากรของตนเอง นอกจากนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะในระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่รวมถึงระบบธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรมก็สมควรที่จะต้องรับรู้ และแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อคนทำงานเช่นกัน เพราะหากยังคงปล่อยให้ระบบงานของตนเกิดปัญหาดังกล่าว นั่นหมายถึงการกำลังทำร้ายบุคลากรของตนเองให้เกิดภาวะความเจ็บป่วย และเสียชีวิตที่มาจากสาเหตุการนอนไม่เพียงพอ นอกจากสูญเสียทรัพยากรมนุษย์แล้ว และส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมที่ลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามหากปรับเปลี่ยนระบบงานไม่ได้ ก็ควรที่จะต้องมีนโยบายทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนอนไม่พอของบุคลากร

“การที่หยิบยกปัญหาการนอนของบุคลากรสาธารณสุข เพราะรู้กันว่ามีปัญหามาก แม้ว่าหลายคนไม่อยากอยู่เวรก็ต้องอยู่เพราะเหตุผลด้านจริยธรรมวิชาชีพ และปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่เรื้อรังมานานก็ทำให้การอยู่ควบเวรกลายเป็นธรรมชาติของงานนี้ของไทยไปแล้ว ขณะที่ต่างประเทศมีความพยายามที่จะปกป้องบุคลากรสุขภาพ เพราะมองว่าเป็นประชากรที่มีคุณค่า ต้องใช้ทรัพยากรและเวลานานกว่าจะผลิตได้ จึงต้องดูแลไม่ให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้นจึงมีมาตรการกำหนดระยะเวลาการทำงาน เมื่อพ้นการทำงานกะหรืออยู่เวรแล้ว ต้องได้รับการพักผ่อนในเวลาที่เพียงพอ”

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมาเห็นความพยายามขององค์กรหรือหน่วยงานในระบบสุขภาพเพื่อการแก้ไขปัญหาการทำงานที่ส่งผลกระทบต่อการพักผ่อนหรือไม่ ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังและผูกโยงพะรุงพะรังจนแกะไม่ออก ผู้บริหารส่วนใหญ่ต่างทราบปัญหาดี หากจะออกประกาศห้ามควบกะ แต่เมื่อแพทย์ พยาบาลยังขาดแคลนตรงนี้จะทำอย่างไร ใครจะมารักษาดูแลคนไข้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ภาวะขาดแคลนบุคลากรหนักขึ้น

ที่ผ่านมา แพทยสภาได้ออกประกาศแพทยสภา “การกำหนดกรอบเวลาในการทำงานของแพทย์ภาครัฐ” ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2560 โดยมีสาระสำคัญคือ

1.แพทย์เพิ่มพูนทักษะ มีเวลาการทำงานนอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน

2.แพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี เป็นต้นไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ

แต่ประกาศฉบับดังกล่าวเข้าใจว่ามิได้มีผลเชิงบังคับว่าจะต้องปฏิบัติตาม โดยแพทย์ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงว่าจะไม่ทำงานอยู่เวรเกินกว่าที่ประกาศนั้นกำหนด แต่ต้องขึ้นอยู่กับทางสถานที่ทำงานพิจารณา โดยเคยมีข่าวเสนอว่าแพทยสภามองถึงประโยชน์จากประกาศฉบับดังกล่าวว่าจะไว้สำหรับใช้อ้างอิงสำหรับการร้องขอ/จัดสรรกำลังคนในระบบสาธารณสุขต่อไป

ดังนั้นท่ามกลางสถานการณ์ขาดแคลนบุคลากรคงต้องช่วยกันคิดว่า จะช่วยคนหน้างานอย่างไร เช่น การปลดล็อกระเบียบราชการ ให้สามารถจ้างบุคลากรจากแหล่งอื่นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานได้ หรือต้องมีมาตรการชดเชยในรูปแบบต่างๆ สำหรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อบุคลากรของเราจากระบบการทำงานที่ยังมีปัญหา

“ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยเราคงต้องคุยกันเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตบุคลากรในระบบสุขภาพที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินดีขึ้น ไม่ต้องเผชิญชะตากรรมและความเสี่ยงผลกระทบจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งการฟ้องร้อง และโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งนี้หากสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยจากภาวะการนอนไม่พอนี้ได้ ในระยะยาวก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่นายกฯ บอกว่าเป็นภาระงบประมาณขณะนี้ได้ด้วยครับ” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว