ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข เผยแนวโน้มคน รพ.สต. เห็นด้วยกับการถ่ายโอนภารกิจไปอยู่กับ อปท.มากขึ้น เสนอ 3 โมเดล ถ่ายโอนแบบพวงบริการขึ้นตรง อบจ.สำหรับหน่วยบริการที่สมัครใจ – ตั้งหน่วยงานดูแลหน่วยบริการปฐมภูมิสำหรับกลุ่มที่เลือกอยู่กับ สธ.ต่อ หรือปฏิรูปทั้งระบบออกจากการกำกับดูแลของ ก.พ.ไปเลย

นายริซกี สาร๊ะ

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส. เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจมีมติเห็นชอบในหลักการ เรื่องการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตนได้จัดทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นบุคลากร รพ.สต. ทาง Facebook ว่าเห็นด้วยกับการถ่ายโอนในช่วงเวลานี้หรือไม่ ซึ่งจากแนวโน้มในขณะนี้พบว่าประมาณ 60% เห็นด้วยกับการถ่ายโอน และอีก 40% ไม่เห็นด้วย

นายริซกีกล่าวว่า แนวโน้มดังกล่าวต่างจาก 4-5 ปีก่อนซึ่งชาว รพ.สต.ส่วนใหญ่จะคัดค้านการถ่ายโอน แต่ตอนนี้เริ่มเห็นด้วยกับการไม่อยู่กับกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำต่างๆ ขณะที่คนที่ไม่เห็นด้วยกับการถ่ายโอนนั้น ส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องความพร้อมตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของการเมืองท้องถิ่น

นายริซกี กล่าวอีกว่า ตนได้จัดทำข้อเสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจในการประชุมทบทวนบทบาท ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อปท. วันที่ 4 มิ.ย 2561 นี้ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยประมวลผลจากโพลล์และความคิดเห็นของสมาชิกบางส่วน ประกอบกับการประมวลผลจากข้อมูลและแนวคิดที่ได้ศึกษามา โดยมีทั้งหมด 3 แนวทางคือ

1. ให้มีการถ่ายโอนไป อปท.แบบพวงบริการสำหรับหน่วยงานที่มีความสมัครใจ โดยให้หน่วยงานที่ถ่ายโอนอยู่ภายใต้สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือ อปท.ที่มีความพร้อม หากสำรวจแล้วพบว่า รพ.สต.ในอำเภอหรือจังหวัดใดมีคุณสมบัติครบและมีความพร้อมในการถ่ายโอนก็ควรให้ไปโดยสมัครใจ ไม่ควรมีเงื่อนไขที่ซ้ำซ้อนยุ่งยากให้การถ่ายโอนล่าช้าอีกต่อไปเพราะปัจจุบันประชาชนและท้องถิ่นเริ่มมีความพร้อมในการดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ

นายริซกี กล่าวว่า ข้อดีของโมเดลนี้คือมีสายบังคับบัญชาสั้น แก้ปัญหาได้เร็ว ตัวชี้วัดไม่มากจนกระทบงานแก้ปัญหาสุขภาพ และปัจจุบัน อปท.ที่มีความพร้อมมักมีการสนับสนุน คน เงิน ของเต็มที่ แก้ปัญหาสุขภาพตรงกับความต้องการประชาชนมีมากขึ้น ส่วนข้อเสียคือมีระบบการเมืองไม่เสถียร มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารทุก 4 ปี

2.สำหรับหน่วยงานที่สมัครใจอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขเช่นเดิม ก็ควรปรับปรุงโดยการตั้งหน่วยงานที่ดูแล รพ.สต.และวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน เช่น กรมปฐมภูมิหรือสำนักงานพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิและวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน. เพื่อดูแลปฐมภูมิทั้งระบบและเชื่อมโยงกับวิชาชีพสาธารณสุข โดยเน้นการทำงานสาธารณสุขปฐมภูมิที่มีนโยบายและตัวชี้วัดที่ไม่ซ้ำซ้อน ควรเน้นนโยบายและตัวชี้วัดหลักๆ ที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ ไม่แบ่งแยกชนชั้น วิชาชีพหลัก รอง ทั่วไป ควรมีสิทธิ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ที่เหมาะสมเป็นธรรมทัดเทียมกันทุกวิชาชีพ

สำหรับโมเดลนี้มีข้อดีคือมีการทำงานเชื่อมโยงภายใต้กระทรวงเดียวกัน แต่ข้อเสียคืออาจเกิดการคัดค้านจากวิชาชีพหลักๆ ที่เคยได้ประโยชน์จากเงื่อนไขเดิมๆ ของกระทรวงสาธารณสุข

3. ดำเนินการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขทั้งระบบ เช่น การออกจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) การตั้งหน่วยงานใหม่ที่ดำเนินการแบบเดียวกับคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยคำนึงถึงความทัดเทียมของทุกวิชาชีพและดูแลระบบสาธารณสุข ทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิให้ประชาชนได้บริการสุขภาพที่มีมีมาตรฐาน คนเงินของพร้อม ไม่ติดเงื่อนไขเก่าๆ แนวคิดเดิมๆของๆ ของ ก.พ. ที่ดูแลหลายหน่วยงานมากเกินไปและไม่เข้าใจระบบสาธารณสุขดีพอ

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวคิดว่าโมเดลนี้มีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็เป็นตัวเลือกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อดีคือกระทรวงสาธารณสุขมีการบริหารเป็นเอกเทศ แต่ข้อเสียคือต้องใช้ระยะเวลานานในการปฏิรูป

นายริซกี กล่าวว่า ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใดก็ควรที่จะคำนึงถึงว่าแนวทางใดประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด เจ้าหน้าที่มีความก้าวหน้าและส่งเสริมพัฒนาให้หน่วยงานปฐมภูมิมีความพร้อมในการบริการประชาชนมากขึ้น ทั้งในเรื่อง บุคลากร งบประมาณ และการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงาน (คน เงิน ของ)