ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรม ผอ.รพ.สต. ชู 2 ทางเลือกถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. 1.ถ่ายโอนไปอยู่กับ อบจ. เพราะมีศักยภาพและทรัพยากรที่เพียงพอต่อการจัดระบบบริการสุขภาพ หรือ 2.ตั้งสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพประชาชนแห่งชาติ บริหารจัดการสุขภาพทุกระดับไว้ด้วยกันโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น (กกถ.) มีมติเห็นชอบในหลักการเรื่องการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น ตนมีข้อสังเกตว่ากฎหมายกระจายอำนาจใช้มากว่า 19 ปี แต่มี รพ.สต. หรือสถานีอนามัยถ่ายโอนไปเพียง 52 แห่ง แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมรับโอนของ อปท.ขนาดเล็กและความจริงใจการถ่ายโอนของ สธ. ประกอบกับหลักเกณฑ์การประเมินความพร้อมของผู้รับโอนและผู้ถูกถ่ายโอนมีขั้นตอนและมาตรฐานสูงมาก จึงมี อปท.น้อยมากที่จะผ่านเกณฑ์การประเมิน

อย่างไรก็ดี การที่ กกถ.มีมติเห็นชอบให้ อปท.ที่ประสงค์ขอรับการถ่ายโอนยื่นคำขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการขอรับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. โดยมิต้องประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นตัวเร่งผลักดันให้การถ่ายโอน รพ.สต. เป็นไปได้ง่ายและเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อปท.ขนาดเล็กระดับพื้นที่ตำบล อาจทำให้เกิดความแตกต่างของระบบบริการในแต่ละพื้นที่ เนื่องจาก อปท.ขนาดเล็กฐานะการเงินการคลังที่ไม่มั่นคง มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเกือบ 40% ตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งบุคลากรทางสุขภาพ กลุ่มสหวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ทันตสาธารณสุข เภสัชสาธารณสุข นักกายภาพ แพทย์แผนไทย ฯลฯ ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก็ไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการจัดระบบบริการสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ ชมรม ผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย) จึงเสนอรูปแบบการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อปท. ไว้ 2 รูปแบบคือ 1.การถ่ายโอนเป็นไปตามกฎหมายกระจายอำนาจ ยึดโยงระบบสุขภาพไว้ด้วยกันโดยถ่ายโอน รพ.สต. ไปให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและทรัพยากรที่เพียงพอต่อการจัดระบบบริการสุขภาพ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด

2.การถ่ายโอนเป็นไปตามความต้องการของประชาชน โดยตั้งสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพประชาชนแห่งชาติ (สสปช.) แยกออกจาก สธ. โดยขึ้นตรงกับสํานักนายกรัฐมนตรี รูปแบบนี้เป็นแนวคิดสร้างเสริมสุขภาพภาพประชาชน โดยการที่ภาคประชาชนนำโดย ดร.สาธุ อนุโมทามิ เลขาธิการเครือข่ายพสกนิกรไทยรวมใจสามัคคี (คพ.รส.) ร่วมกับ นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานชมรม อสม.แห่งประเทศไทย และอาสาสมัครสาธารณสุข อีก 76 จังหวัด กำลังขับเคลื่อนสร้างความเข้าใจแนวคิดการสร้างสุขภาพเสริมสุขภาพ โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เพื่อให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพมากกว่าการซ่อมสุขภาพ

“การจัดการสุขภาพทุกระดับไว้ด้วยกันโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่นไว้ด้วยกัน ก็เป็นอีกรูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการระบบสุขภาพด้วยตนเอง ซึ่งหากเมื่อใดพรรคการเมืองและหรือผู้กุมอำนาจกำหนดนโยบายรัฐ ก็จะเป็นอีกทางเลือกของการกระจายอำนาจการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า มีคำถามที่ต้องฝากคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ให้ช่วยคิดว่าการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้ อปท. จะเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ข้าราชการใน รพ.สต.อย่างไร ทั้งเรื่องความก้าวหน้าในระดับชำนาญการพิเศษ การเทียบเคียงตำแหน่งสายบริหารของ ผอ.รพ.สต. กับตำแหน่งนักบริหารสาธารณสุข จะเป็นอย่างไร เงินเดือนเลื่อนไหลเมื่อถึงระดับขั้นสูงของตำแหน่งจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องเงินประจำตำแหน่ง เงินค่าตอบแทน เงิน พตส. จะเป็นอย่างไร ความก้าวหน้าของ ผอ.รพ.สต. (ชำนาญงาน) จะเป็นอย่างไร บุคลากรสายงานทั่วไป ตำแหน่งเจ้าพนักงาน ที่มีวุฒิปริญญาตรี จะปรับเข้าสู่สายงานวิชาการอย่างไร และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่รอการบรรจุเป็นข้าราชการจะทำอย่างไร