ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยชี้มติคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เป็นตัวเพิ่มแรงกดดัน สธ. หลังจากภาพรวมการถ่ายโอน รพ.สต.หยุดชะงักไปนาน แนะ “มท.-สธ.” เร่งช่วยพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นที่ยังขาดความพร้อมให้มีผลเป็นรูปธรรมก่อนรับถ่ายโอนภารกิจ พร้อมปรับบทบาทกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยติดตามกำกับดูแลในระยะยาว

นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ ในฐานะนักวิจัยที่ได้ทำการศึกษาการประเมินการถ่ายโอนหน่วยบริการปฐมภูมิไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ความเห็นถึงการที่คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น (กกถ.) มีมติเห็นชอบในหลักการเรื่องการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้แก่ อปท.ว่า การมีมติเช่นนี้ออกมาคงไม่ได้หมายความว่าจะบังคับให้เกิดการถ่ายโอน รพ.สต.ทีเดียว 9,000 กว่าแห่ง ส่วนตัวมองว่าเป็นการเพิ่มแรงกดดันแก่ สธ. เพราะที่ผ่านมาความคืบหน้าในการถ่ายโอนได้หยุดไปนาน ในช่วงปีหลังๆ มานี้มีการถ่ายโอนน้อยมาก มติเช่นนี้จึงเป็นเหมือนแรงกดดันแต่ไม่เชิงว่าบังคับเสียทั้งหมดเพราะไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนเวลาไว้ว่าต้องถ่ายโอนให้เสร็จภายในกี่ปี

นพ.อานนท์ กล่าวอีกว่า จากการวิจัยประเมินผลการถ่ายโอน รพ.สต. 51 แห่งในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่ามีทั้งหน่วยบริการที่โดดเด่นขึ้นและหน่วยบริการที่แย่ลง แต่โดยรวมแล้วถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ สามารถคงการทำงานของ รพ.สต.ได้เหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ หากท้องถิ่นไหนมีทรัพยากรและงบประมาณก็สามารถให้บริการได้ดีขึ้น แต่บางแห่งก็อาจมีข้อจำกัดในการจ้างคน เช่น ติดระเบียบเรื่องกรอบค่าจ้างไม่เกิน 40% ทำให้ขาดแคลนคนทำงาน บางแห่งต้องปรับวิธีการจ้างใหม่ เช่น จ้างเป็นรายวัน

ทั้งนี้ จากการตอบแบบสอบถามของบุคลากรที่ถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่น พบว่าประมาณ 76% คิดว่าสามารถให้บริการได้ดีขึ้นและตอบสนองต่อประชาชนได้มากขึ้น การประเมินความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่ส่วนมากก็พอใจกับการทำงานในปัจจุบัน โดยเฉลี่ยได้คะแนนความพึงพอใจ 4 จากเต็ม 5 ขณะที่ประเด็นที่กังวลก็คือเรื่องการเมืองท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับการปรับตัวของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย เพราะฝั่งท้องถิ่นและฝั่งสาธารณสุขมีวัฒนธรรมการทำงานแตกต่างกัน ถ้าสามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานในบริบทท้องถิ่นได้ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ดี

นพ.อานนท์ กล่าวถึงแนวโน้มหลังจากนี้ว่าการถ่ายโอน รพ.สต. คงเป็นไปตามข้อตกลงที่ สธ. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก กล่าวคือถ้าท้องถิ่นพร้อมและ รพ.สต. อยากไปก็ค่อยๆ ทยอยถ่ายโอนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าในส่วนของท้องถิ่นนั้น มีทั้งส่วนที่พร้อมและไม่พร้อม มีทั้งท้องถิ่นที่ทรัพยากรเพียงพอและไม่เพียงพอ ผู้บริหารที่มีความเข้าใจและไม่ค่อยเข้าใจงานสาธารณสุข ในกลุ่มที่มีความพร้อมก็สามารถรับถ่ายโอนได้ แต่ในกลุ่มที่ยังไม่พร้อม อาจต้องมีการพัฒนาศักยภาพก่อน เช่น เรื่องงบประมาณ หรือแนวคิดผู้บริหารท้องถิ่น ดังนั้นจึงควรเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ก่อนแล้วค่อยให้รับ รพ.สต.ไปดูแล

“คนเตรียมตัวไม่ใช่แค่ท้องถิ่น ทาง มท.และ สธ.ก็ควรมีส่วนร่วมสนับสนุน ไม่ใช่ให้ท้องถิ่นไปดิ้นรนเอาเอง ในภาพของประเทศก็ควรแนะแนวว่าควรทำอย่างไร ต้องเตรียมพร้อมระดับไหน ท้องถิ่นที่จะรับ รพ.สต.ไปดูแลควรพัฒนาอย่างไร ควรมีเรื่องเหล่านี้ออกมาเป็นรูปธรรม” นพ.อานนท์ กล่าว

นพ.อานนท์ กล่าวอีกว่า การถ่ายโอน รพ.สต. เป็นแค่มุมเล็กๆ ไม่ได้ตั้งมาโดดๆ แต่ต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องอื่นๆ เช่น การกระจายอำนาจในภาพรวมของประเทศ การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข และสิ่งที่ สธ.ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือการปรับบทบาทของตนเองเพราะต่อไปถ้าถ่ายโอน รพ.สต.ไปหมด สธ.ก็จะไม่ได้มีหน้าที่ให้บริการ จึงต้องปรับบทบาทการกำกับ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง