ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดโมเดลการจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ พร้อมเปิดให้โรงพยาบาลที่สนใจร่วมทดลองระบบ เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน

การเจ็บป่วยฉุกเฉิน เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และบางโรคหากรักษาไม่ทันการณ์ ก็จะส่งผลต่อชีวิต ถ้าไม่ถึงขั้นคร่าชีวิต ก็ต้องทนใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน ดังนั้น กุญแจสำคัญที่สุด คือ การรักษาอย่างมีระบบ การบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ หรือ AOC (Ambulance Operation Center) จึงถูกพัฒนา และนำมาใช้ เพื่อช่วยให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินทำงานง่ายขึ้น

นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล

นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ระบบ AOC มีศูนย์กลางการทำงานอยู่ที่ศูนย์สั่งการ และจะเชื่อมต่อกับระบบบนรถพยาบาล ดังนั้นเมื่อประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถเรียกรถพยาบาลได้ทันที ผ่านแอปพลิเคชัน A-LIVE ซึ่งหากโรงพยาบาลในพื้นที่มีระบบ AOC สัญญาณจะเข้ามาที่ศูนย์สั่งการโดยอัตโนมัติ (แต่หากยังไม่ได้ติดตั้ง การเรียกผ่านแอปพลิเคชัน A-LIVE จะส่งสัญญาณไปที่ 1669) จากนั้นศูนย์สั่งการจะสามารถระบุตำแหน่งของผู้ป่วยได้ชัดเจน โดยไม่ต้องอาศัยการบอกกล่าวเส้นทาง ที่อาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน และสามารถส่งรถพยาบาลที่เหมาะสมและใกล้ที่สุดไปช่วยเหลือ ซึ่งผู้ป่วยก็จะสามารถรู้ได้เลยว่ารถพยาบาลจะมาถึงภายในกี่นาที ลดความกังวลว่าต้องรออีกนานเท่าไหร่ และที่สำคัญเจ้าหน้าที่บนรถสามารถส่งสัญญาณชีพ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และปรึกษาอาการผู้ป่วยกับแพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทางได้ ทำให้เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที

ปัจจุบันระบบนี้เริ่มใช้ในหลายพื้นที่แล้ว ทั้ง จ.เชียงราย จ.ขอนแก่น จ.พระนครศรีอยุธยา และภาคใต้ที่แรก คือ จ.ภูเก็ต โดยมีการติดตั้งระบบแบบเต็มรูปแบบครบทุกโมดูล ซึ่งตั้งแต่เริ่มใช้ระบบนี้ เห็นได้ชัดว่าเข้ามาปิดช่องว่างเดิมของการแพทย์ฉุกเฉินได้ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และยังตอบโจทย์เรื่องบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอ

นายกิจกมน ไมตรี

ส่วนการติดตั้งระบบดังกล่าว ก็ไม่ได้ยุ่งยาก หรือใช้งบประมาณมากอย่างที่คิด นายกิจกมน ไมตรี Founder & CEO บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด ผู้พัฒนาระบบ ระบุว่า โรงพยาบาลที่สนใจติดตั้งระบบการบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ หรือ AOC สามารถให้ทางเทลลี่ 360 เข้าไปแนะนำระบบได้ และจะติดตั้งระบบเพื่อให้ทดลองใช้จริง (Demo) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะหัวใจสำคัญของการใช้เทคโนโลยีหรือสิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ คือผู้ใช้ต้องได้สัมผัส และทดลองใช้จริง จึงจะเกิดความเข้าใจ ให้คุ้มค่ากับการลงทุน ขณะเดียวกันทางโรงพยาบาลจะได้ประเมินได้ว่า เทคโนโลยีนี้ดีพอหรือไม่ หากใช้ในระยะยาวโดยจะติดตั้งระบบให้ทดลองใช้ 3-6 เดือน ติดตั้งให้รถพยาบาลมากกว่า 1 คัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็นภาพ และเข้าใจการทำงาน ของระบบรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ ซึ่งกรณีของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ติดตั้งให้ใช้เพียง 3 เดือน ทางโรงพยาบาลก็ซื้อระบบ เพราะเห็นว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริง ปัจจุบันมีจังหวัดที่ติดตั้งระบบ Demo 7 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลของรัฐ ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน เริ่มมีการติดตั้งที่โรงพยาบาลสมิติเวช

สำหรับระบบ AOC มีอยู่ทั้งหมด 3 ระบบ คือ

1. Safety Ambulance Module ระบบการติดตามและระบุตำแหน่งรถพยาบาล

2. Patient Monitoring Module ระบบสัญญาณชีพ ที่สามารถแสดงสัญญาณชีพจากบนรถพยาบาล ไปสู่แพทย์ที่ศูนย์สั่งการ

และ 3. Communication Module ระบบการสื่อสารที่ แพทย์ เจ้าหน้าที่ และศูนย์สั่งการ สามารถทำการโต้ตอบการปฎิบัติการบนรถพยาบาลได้แบบเรียลไทม์

ทั้งนี้แต่ละโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องติดตั้งทั้ง 3 ระบบ ในคราวเดียว สามารถพิจารณาตามความจำเป็น และกำลังงบประมาณของแต่ละโรงพยาบาล และที่สำคัญระบบนี้คิดค้นโดยคนไทยโดยได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินไทยหลายท่าน ทำให้ตอบโจทย์และรู้ถึงธรรมชาติของระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ Call Center 063-196-5360 และ http://tely360.com/aoc/