ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในปัจจุบันพบว่ามีหนุ่ม ๆ สาว ๆ หลายคน มักจะประสบปัญหาในเรื่องของผิวหนังขาดน้ำ สาเหตุนั้นมาจากการสูญเสียน้ำออกจากผิวหนัง ซึ่งเกิดจากกลไกสำคัญ 3 ประการได้แก่

1.ผิวลอกเป็นขุยจากความผิดปกติในการสร้างทำให้เสียความสามารถในการรักษาน้ำไว้ที่ผิวหนัง

2.ชั้นหนังกำพร้ามีการหมุนเวียนเร็วกว่าปกติ ทำให้ไม่มีเวลาพอในการสร้างผิวหนังชั้นนอกสุดหรือชั้นขี้ไคลที่สมบูรณ์ได้ (โดยหนังกำพร้าชั้นนอกสุดมีส่วนประกอบเป็นชั้นไขมันแทรกอยู่ระหว่างเซลล์ผิวหนังชั้นขี้ไคล เมื่อผิวหนังที่มีการหมุนเวียนรวดเร็วจะไม่สามารถสร้างชั้นไขมันได้ทัน จึงเสียความสามารถในการรักษาน้ำให้คงอยู่ในผิวหนัง มักพบในผู้ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลัดผิวในความเข้มข้นสูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ผิวก็จะมีลักษณะบางแดงง่าย)

และ 3. มีการทำลายของผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจากสารเคมี เช่น detergents ทำให้สูญเสียไขมันชั้นหนังกำพร้าไปเป็นผลทำให้ผิวหนังสูญเสียน้ำออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ 10 อาการสัญญาณเตือนที่เป็นสาเหตุว่าตัวเองเริ่มมีอาการผิวหนังขาดน้ำเกิดขึ้นแล้วประกอบด้วย

1.ดื่มน้ำน้อยเกินไป

2.อยู่ในห้องแอร์เป็นส่วนใหญ่

3.ชอบอาบน้ำอุ่นเป็นประจำ

4.ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิวเป็นประจำ (ซึ่งมักพบใน ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยทำให้ผิวขาว)

5.หลังจากล้างหน้าแล้วไม่รีบทา moisturizer ทันที

6.ไม่ค่อยใส่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ทำให้ผิวหน้าชุ่มชื้นได้หรือเปล่า

7.ทาครีมบำรุงแล้วยังรูสึกว่าผิวสาก กร้าน (อาจมีขุยหรือไม่มีขุย) แต่ก็ยังมีน้ำมันออกมาเคลือบผิว

8. ไม่ค่อยชอบทาครีมกันแดดหรือชอบลืมทาครีมกันแดด

9. ใช้ผลิตภณฑ์ล้างหน้าที่มีฤทธิ์ในการชะล้างรุนแรง

และ 10. อายุมากกว่า 25 ปีขึ่นไป

นอกจากนี้ยังมีวิธีการสังเกตผิวหนังของตัวเองอย่างง่าย ๆ เริ่มตั้งแต่

1. สังเกตผิวหนังภายนอกเหมือนมีน้ำมันออกมาเคลือบ

2. เมื่อดูผิวหนังใกล้ ๆ จะเห็นริ้ว ๆ หรือกร้าน ๆ (ลองนึกภาพเวลาที่เราอยู่ใกล้ความร้อนนาน ๆ เช่น เวลาอยู่หน้าเตาตอนทำกับข้าว)

3. ลูบผิวดูแล้วจะรู้สึกว่าผิวไม่นุ่มเนียน ไม่เรียบ ถ้าเป็นมากอาจรู้สึกว่าผิวสาก ๆ

4. อาการจะเป็นมากประมาณสาย ๆ หรือช่วงบ่าย ๆ ของวัน พอซับมันแล้วเติมแป้งจะไม่เรียบเนียนเหมือนแต่งตอนเช้า

ส่วนผิวขาดน้ำเกี่ยวกับผิวมันอย่างไรนั้น เมื่อผิวขาดน้ำก็เสมือนว่าผิวขาดความชุ่มชื้น ผิวจะพยายามผลิตน้ำมันออกมาเพื่อชดเชยความชุ่มชื้นที่เสียไป (ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ) จึงทำให้ผิวมีความมันมากกว่าปกติ ทั้งๆ ที่อาการขาดน้ำยังไม่ได้รับการแก้ไข หากปล่อยไว้นานจะทำให้ผิวหนังสูญเสียการทำงาน ขาดความกระชับ ยืดหยุ่น และนำไปสู่ผิวอ่อนแอในที่สุด

ผิวหนังนั้น ประกอบไปด้วย

1.เซลล์ชั้นนอกสุด หรือที่เรียกว่าชั้นขี้ไคล เป็นเซลล์ที่ไม่มีชีวิต มีไขมันหุ้มภายนอก ถัดไปเป็นชั้นโปรตีนเป็นปลอกหุ้มเซลล์ผิวหนังชั้นนี้อีกชั้น และมีโปรตีนที่เรียกว่า เคอราติน เป็นส่วนประกอบภายในเซลล์ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำทะลุผ่านเซลล์ผิวหนังออกสู่ภายนอก

2.ชั้นไขมันแทรกอยู่ระหว่างเซลล์ผิวหนังชั้นขี้ไคล ทำหน้าที่ปิดกั้นไม่ให้น้ำในร่างกายซึมผ่านช่องระหว่างเซลล์ผิวหนังออกสู่ภายนอก

และ 3. ไขมันจากต่อมไขมัน ที่หลั่งสารไขมันออกตามรูขุมขน สารไขมันจะแผ่ออกเคลือบผิวของชั้นหนังกำพร้า ป้องกันไม่ให้น้ำซึมผ่านเซลล์และช่องว่างระหว่างเซลล์ออกสู่ภายนอก

ซึ่งการรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของเซลล์ผิวหนังชั้นนอกหรือเซลล์ชั้นขี้ไคล ช่วยทำให้ผิวหนังสามารถเก็บรักษาน้ำไว้ได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันเชื้อโรค สารพิษทั้งจากธรรมชาติและที่มนุษย์ผลิตขึ้นแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการรักษาความชุ่มชื้น คือการเก็บน้ำไว้ในและนอกเซลล์

ความชุ่มชื้นของผิวหนังที่พอเหมาะ คือ สภาวะที่ผิวหนังสามารถรักษาระดับน้ำให้คงอยู่ในเซลล์ผิวหนัง และระหว่างเซลล์ผิวหนังกำพร้าได้อย่างสมดุล ผิวหนังจะชุ่มชื้น เรียบ นุ่มเนียน เต่งตึงและไม่เป็นขุย นอกจากนี้ระดับน้ำในชั้นหนังกำพร้ายังสัมพันธ์กับระดับน้ำในชั้นหนังแท้ด้วย

การดูแลรักษาสภาวะผิวหนังขาดน้ำหรือสูญเสียน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดผิวแห้ง อาการแรกที่พบ คือผิวจะมีลักษณะหยาบ อาการต่อมา คือ เริ่มเป็นขุย (เมื่อขาดน้ำมากอย่างต่อเนื่อง) และเกิดอาการผิวแตก เมื่อขาดน้ำมากที่สุด

ผิวหนังจะดูสวยงามและไม่เกิดโรคถ้าหมั่นรักษาสมดุลของน้ำในผิวหนังกับสภาพแวดล้อมได้ ดังนั้นปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการดูแลป้องกันและรักษาผิวหนังมีหลักอยู่ 4 ประการ ได้แก่

1.เรื่องของสภาวะแวดล้อมรอบตัวเรามีอิทธิพลต่อการเกิดผิวแห้งอย่างมาก

2.ลักษณะผิวหนังของแต่ละบุคคลว่าแห้งมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับพันธุกรรมของแต่ละคนว่าลักษณะของผิวเป็นอย่างไร หากผิวหนังแห้งไม่มากก็จัดเป็นคนผิวแห้งอย่างไม่เป็นโรค ถ้าลักษณะทางพันธุกรรมมีความผิดปกติมาก ก็อาจเกิดโรคผิวแห้งได้ เช่น เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ / โรค Ichthyosis

3.เรื่องของอายุ เมื่ออายุย่างเข้าวัยทองต่อมไขมันและเซลล์ผิวหนังจะสร้างสารไขมันลดลง ทำให้เกิดลักษณะผิวแห้ง จึงจำเป็นต้องใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์เคลือบผิว

4.พฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล บุคคลใดที่ชอบล้างมือบ่อย ๆ ฟอกตัวด้วยสบู่ที่เป็นด่างนาน หรือออกแดดเป็นประจำหรือทำงานอยู่กลางแจ้ง

เรื่องของผิวหนังนั้นแนะนำให้ดูแลรักษาตนเองให้ดี หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ดูแลรักษาผิวพรรณ ดูแลไม่ให้ผิวไปกระทบกับสารหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น แสงแดด สารพิษต่าง ๆ รักษาธรรมชาติ เพราะธรรมชาติดี ผิวหนังของเราก็จะดีตามไปด้วย

ผู้เขียน : รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม