ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับการร้องขอจากอาจารย์ และพี่ๆ น้องๆ หลายท่านให้ช่วยแสดงความเห็นต่อเรื่องการแบนหรือไม่แบนพาราควอตในสังคมไทย

หากหลายคนติดตามข่าว จะพบว่าเรื่องนี้เป็นกรณีพิพาทอย่างรุนแรงในระดับชาติ เพราะมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว และแต่ละฝ่ายต่างควักข้อมูลมาสู้กันอย่างเมามันส์ จนประชาชนอ่านแล้ว "งง" ว่าจะเชื่อใครดี เนื่องจากข้อมูลวิชาการและตัวเลขจากงานวิจัยที่นำเสนอออกมานั้นดูน่าเชื่อถือ และต้องอาศัยปัญญาในการวิเคราะห์อย่างมาก

เราจึงเห็นว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะนิ่งเฉยดีกว่า เพราะอ่านแล้วแม้จะอยากรู้ว่าใครจริงใครเท็จ ก็ไม่สามารถไปหาข้อมูลต้นฉบับมาอ่านได้ หรือหากพยายามค้นหามาอ่านก็อยู่ในรูปแบบงานวิจัยที่เข้าใจได้ยากสำหรับปุถุชนคนธรรมดา สู้ฝากใจไว้ให้คนที่เกี่ยวข้องและสนใจสู้กันไปน่าจะดีกว่า

เหตุผลลึกๆ อีกอย่างของประชาชนคนเผ่า "เฉย" คือ ธรรมชาติของคนเรานั้นรักสบาย สนใจประโยชน์ซึ่งหน้ามากกว่าผลในอนาคต ดังนั้นการอยู่เฉยๆ จึงทำให้รู้สึกว่าไม่เปลืองแรงกายแรงใจและเวลาของตนเอง เอาไปทำมาหากินหาเงินของตน เรื่องน่าปวดหัวแบบนี้เป็นเรื่องสาธารณะ หรือแปลง่ายๆ ว่าเรื่องของคนอื่นๆ เรื่องอะไรฉันจะไปยุ่งให้วุ่นวาย เดี๋ยวพวกหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ปกป้องประชาชนก็รับผิดชอบกันไป ชีวิตในสังคมปัจจุบันมีความเสี่ยงมากมายที่ต้องผจญในแต่ละวัน เรื่องนี้จิ๊บๆ ดูไกลตัว แถมคิดว่ามีเงินซะอย่างยังไงก็รอดพ้นผลกระทบ

เอาล่ะ...เราคงพอเข้าใจคนเผ่า "เฉย" กันแล้ว คงไม่ต้องไปโกรธ หรือตีโพยตีพายอะไรเขา เพราะคนเรามีสิทธิที่จะคิด ที่จะทำ

หันมาดูในวงพิพาทกันมั่งว่าเป็นไง?

ดูกันในสังคมโซเชียล จะพบว่ามีการแบ่งฝ่ายกันชัดเจน คือฝ่ายเชียร์ให้แบนพาราควอตและสารเคมีกำจัดวัชพืชอื่นๆ ให้หมดไปจากสังคมไทย กับอีกฝ่ายที่คิดว่ายังไม่ต้องแบน เพราะคิดว่ายังใช้ประโยชน์ได้ แต่ให้ขันน็อตเรื่องการระมัดระวังในการใช้งาน

แต่ละฝ่ายล้วนมีนักวิชาการและเหล่าเกษตรกรสนับสนุน ที่ต่างกันก็เห็นจะเป็นฝ่ายเชียร์ให้แบนจะมีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และหน่วยงานราชการเช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาร่วมด้วยช่วยกันเปล่งเสียงปกป้องประชาชน ในขณะที่ฝ่ายที่คิดว่ายังไม่แบนนั้นดูจะมีผู้เล่นหลักอีกกลุ่มที่มีความสำคัญมากเชิงนโยบายคือ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่เพิ่งออกมติมาว่า ยังไม่แบน แต่ไปเน้นเรื่องการเตือนให้ระมัดระวังการใช้สารเคมีเหล่านี้

เชื่อไหมครับว่ามีการถามตอบให้ความรู้คลายข้อสงสัยในเวทีจริงและในโซเชียลมากมาย ที่ผมตามอ่านจนตาลาย และมีพยายามติดตามค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจนเป็นที่มาของบทสรุปตามความเข้าใจล่าสุดของผมเกี่ยวกับเรื่องพาราควอต ดังต่อไปนี้

หนึ่ง พาราควอตนั้นเป็นสารเคมีที่มีแม้จะมีประโยชน์ในการกำจัดวัชพืช และเป็นที่คุ้นชินในการใช้มานาน แต่ก็ได้รับการพิสูจน์ชัดเจนอย่างไม่ต้องสงสัยแล้วว่ามีอันตรายต่อร่างกายมนุษย์และทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ด้วยความที่พาราควอตนั้นซื้อหาได้ง่าย จึงมักถูกนำมาใช้ในการฆ่าตัวตายด้วยการกิน และมีอัตราตายที่สูงมาก

สอง เกือบ 50 ประเทศทั่วโลกได้มีการยกเลิกการใช้ไปแล้ว เพราะเหตุผลหลักๆ เรื่องพิษเฉียบพลันที่รุนแรง และอาจเป็นสาเหตุของโรคพาร์คินสัน

สาม มีงานวิจัยในประเทศไทยหลายชิ้น บ่งชี้ให้เห็นว่าการใช้พาราควอตในการทำการเกษตรในปัจจุบันนั้นมีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์การเกษตรต่างๆ และทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องผลกระทบระยะยาวจากการสัมผัสสารดังกล่าวผ่านช่องทางต่างๆ แต่การจะหวังที่จะรองานวิจัยที่จะพิสูจน์เรื่องความเป็นเหตุและผลที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสสารเคมีนี้ระยะยาวแบบฟันธงนั้นดูจะเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เวลาติดตามอย่างยาวนาน และค่าใช้จ่ายในการทำการศึกษาสูง

สี่ มีงานวิจัยทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ที่พยายามชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกทดแทนการใช้พาราควอต เช่น การใช้แรงงาน/เครื่องจักรไถกลบ การใช้สารเคมีชนิดอื่น หรือแม้แต่การใช้น้ำเกลือ เป็นต้น แต่ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการรวบรวมและเรียบเรียงอย่างเป็นระบบให้ครอบคลุมทุกชนิดพืชไร่ ระยะเวลาติดตามประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแต่ละวิธียังมีความแตกต่างกันมาก และบางทางเลือกก็ยังไม่ได้ประเมินความคุ้มค่าอย่างรอบด้าน

จากข้อมูลที่อ่านผ่านตามาทั้งหมดนั้น จึงเห็นว่าสารเคมีนี้มีอันตรายต่อสุขภาพชัดเจน หากเลี่ยงได้ควรเลี่ยง ไปหาทางอื่นที่ปลอดภัยน่าจะดีกว่า

พอเราอ่านกันมาถึงตอนนี้ก็เริ่มสงสัยกันล่ะสิว่า ไม่เห็นจะยากเลย แบนไปเลยสิ ลุยเลย!!!

แต่ชีวิตจริงอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด...

การที่รัฐจะประกาศนโยบายอะไรออกไปสู่สาธารณะนั้น จำเป็นต้องตรวจสอบให้ดีว่าขัดต่อตัวบทกฎหมายหรือระเบียบอะไรบ้างไหม นอกจากนี้ต้องประเมินให้ดีว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ใครได้ใครเสีย และชั่งใจกันอย่างรอบคอบว่า นโยบายที่จะประกาศไปนั้นทุกคนในสังคมยอมรับได้ ไม่งั้นจะเกิดปรากฏการณ์ม็อบชนม็อบอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

มา...มาเปิดดูรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้กันอยู่ว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกันบ้าง?

หนึ่ง มาตรา 61 ระบุว่า รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

มาตรานี้หากอ่านทุกถ้อยคำ ประชาชนอย่างเราคงเข้าใจได้ว่า รัฐต้องมีมาตรการปกป้องประชาชน ให้รู้ข้อเท็จจริง และพยายามคุ้มครองให้ปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดสิทธิ

แต่ช้าก่อน...ลองมาดูอีกมาตรา

สอง มาตรา 73 ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด

อ่านแล้วเราคงเข้าใจได้ว่า รัฐก็ต้องดูแลเกษตรกรให้ได้ตามที่บอกมา

หากประมวลทั้ง 2 มาตรา รัฐจึงมีความรับผิดชอบต่อทั้งประชาชน และเกษตรกร โดยเน้นคำสำคัญคือ รู้ข้อมูลที่ถูกต้อง คุ้มครองสิทธิ สนับสนุนให้มีการทำเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตดี ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ และแข่งขันในตลาดได้

ส่วนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้น มีการระบุไว้ในข้อ 12 ว่า

1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้

2. ขั้นตอนการดำเนินการของรัฐภาคีแห่งกติกานี้ เพื่อบรรลุผลในการทำให้สิทธินี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์จะต้องรวมถึงสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อ

(ก) การหาหนทางลดอัตราการตายของทารกก่อนคลอดและของเด็กแรกเกิดและการพัฒนาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก

(ข) การปรับปรุงในทุกด้านของสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม

ดังนั้นกติการะหว่างประเทศที่กล่าวมา ก็ตอกย้ำถึงการที่รัฐต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน และมุ่งให้เกิดสุขภาพที่ดี

พอยำใหญ่ใส่สารพัด วางจานจัดหลายมาตราแล้ว ทิศทางลมที่ฝ่ายนโยบายของรัฐควรพิจารณาอย่างยิ่งคือ "การปกป้องมิให้ประชาชนนั้นเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดจากพาราควอต" นั่นเอง

คราวนี้จะทำอย่างไรล่ะ...จะแบน หรือไม่แบน

ในทัศนะของผมนั้น สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้พาราควอตในประเทศไทยครับ

แต่ก่อนที่จะประกาศนโยบายนี้ออกไป รัฐบาลควรที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้

หนึ่ง ดำเนินการกำหนดทางเลือกที่จะแนะนำให้เกษตรกรใช้แทนพาราควอต โดยรวบรวมหลักฐานวิชาการอย่างเป็นระบบ และสรุปข้อมูลทางเลือกในรูปแบบที่เข้าใจง่ายสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่แต่ละชนิดอย่างชัดเจน พร้อมอธิบายประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หรือหากมีผลเสียที่อาจเกิดขึ้นระยะยาวจากทางเลือกเหล่านั้นก็จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนและบอกวิธีจัดการ

สอง สร้างระบบห่วงโซ่อุปทานของสินค้า/ผลิตภัณฑ์ทางเลือก ที่ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศสามารถเข้าถึงทางเลือกที่ใช้แทนพาราควอตได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง หากต้องมีการใช้ทักษะหรือความรู้เพิ่มเติม ก็ต้องเตรียมองคาพายพเพื่อช่วยเหลือเตรียมการก่อนประกาศนโยบายออกไป

สาม หากเป็นกรณีที่เกษตรกรจำเป็นจะต้องลงทุนอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อนำมาดำเนินการแทนการใช้พาราควอต คงจะเป็นการดี หากรัฐจัดงบประมาณช่วยสนับสนุน เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องควักเนื้อ และเป็นการจูงใจให้ลดละเลิกพาราควอต

สี่ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐควรเสริมความเข้มแข็งให้เกิดระบบเฝ้าระวังการนำเข้า การซื้อขาย และการใช้พาราควอต เพื่อให้ทราบได้ชัดเจนแม่นยำว่า ตอนนี้มีที่ใดที่ใช้อยู่ โดยใคร และปริมาณมากน้อยเพียงใด พร้อมกับการเฝ้าระวังผลกระทบต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

ห้า ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้พาราควอต มิใช่ปล่อยให้เกิดการแพร่ข้อมูลหลายทางจนทำให้เกิดความงุนงงแก่ประชาชน

หก รณรงค์ และสนับสนุนสินค้าการเกษตรปลอดสารเคมี ทั้งในแง่ของแหล่งผลิต และผู้บริโภค และสร้างมาตรการในการลดโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยใช้มาตรการต่างๆ เต็มที่เท่าที่สามารถทำได้ เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการสนับสนุนช่องทางการกระจายสินค้าผ่านแนวคิดประชารัฐ ตลอดจนการใช้กลไกชุมชนในการดำเนินการควบคู่ไปด้วย

เจ็ด พัฒนานโยบายที่มุ่งเน้นมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรที่ครอบคลุมถึงกระบวนการผลิตที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อยกระดับให้เกิดผู้ประกอบกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคม และผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าจากคุณค่าความปลอดภัยที่นำส่งแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

ถ้าไม่รักคนของเรา...จะไปรักใครที่ไหนครับ?

ด้วยรักต่อทุกคน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์