ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นาทีนี้เชื่อว่าเราคนไทยจำนวนมากล้วนช่วยกันส่งกำลังใจไปยังทีมงานที่ช่วยน้องๆ ทีมหมูป่าทั้ง 13 คน และภาวนาให้ทุกคนปลอดภัย พ้นจากภยันตรายโดยเร็ว

ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดมาหลายวัน ทำให้ผมนึกถึงชั่วโมงที่สอนนิสิตในมหาวิทยาลัย เรื่องภาวะผู้นำและการบริหารจัดการในสถานการณ์ต่างๆ และอยากลองเอามาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับนโยบายต่างๆ ใกล้ตัวเราให้ฟัง

Daniel Goleman เป็นนักวิชาการที่เฝ้าทำการศึกษาเรื่องภาวะผู้นำ และเคยเขียนเล่าในวารสารวิชาการเมื่อสักสิบกว่าปีก่อนว่า ผลวิจัยของเค้าที่ไปทำการประเมินลักษณะของผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 15,000 แห่งทั่วโลก พบว่าสามารถแบ่งผู้นำออกเป็น 6 ลักษณะใหญ่ๆ ได้แก่

หนึ่ง ประเภทเผด็จการ สั่งซ้ายหันขวาหัน หากไม่ทำตาม เชือดดดดด เรียกว่า Dictator type

สอง แบบนโปเลียน โดยมักจะเป็นคนที่ทำให้เห็นและชวนให้ลูกน้องทำตาม แบบนี้เรียกว่า Authoritative type

สาม ผู้นำที่ช่างสังเกตสังกา รู้ว่าลูกน้องแต่ละคนนิสัยใจคอเป็นอย่างไร ถนัดและไม่ถนัดอะไร ชอบไม่ชอบอะไร แล้วบริหารคนให้เหมาะกับงาน บริหารงานให้เหมาะกับคน อย่างนี้เรียกว่า Affiliative type

สี่ คนที่บริหารโดยมักอาศัยการหาฉันทามติจากทีมงาน และไม่ค่อยจะฟันธงด้วยตนเอง เรียกว่า Democratic type

ห้า แบบการกำหนดย่างก้าว กำหนดจุดหมายหรือเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลาให้กับทีมงาน อย่างนี้คือ Pace-setting type

และสุดท้ายคือ คนที่นำองค์กรโดยพยายามเกื้อหนุน ฝึกฝนสิ่งต่างๆ ให้แก่ลูกน้องในทีม แบบนี้เรียกว่า Coaching type

Goleman เค้าเล่าสัจธรรม 2 เรื่องที่สำคัญคือ ผู้นำแต่ละคนมักไม่ใช่แบบใดแบบหนึ่งแต่เพียงแบบเดียว แต่ผู้นำส่วนใหญ่นั้นมักมีลักษณะแบบผสม โดยอาจมีบางแบบที่โดดเด่นเป็นบุคลิกหลักของผู้นำคนนั้นๆ นอกจากนี้ลักษณะการนำทั้ง 6 แบบนั้นมีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์จากการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ

แบบเผด็จการ และแบบการกำหนดย่างก้าวนั้น พึงต้องระวังอย่างยิ่งในการใช้งาน เพราะจะทำให้ผลลัพธ์จากการดำเนินงานโดยรวมแย่ลง จะยกเว้นก็เพียงเวลาที่เกิดภาวะวิกฤติเท่านั้น ไม่ว่าจะวิกฤติการเงิน หรือสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ผู้นำที่อยู่ใน 2 ลักษณะนี้จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ในขณะที่หากเป็นสถานการณ์ปกติทั่วไป ควรใช้ผู้นำที่เป็น 4 แบบที่เหลือแทน

ผมเล่าให้ทุกคนฟังมาเช่นนี้ ก็อยากชี้ชวนให้ลองดูเหตุการณ์ในบ้านเมืองเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง เหตุการณ์ที่น้องๆ ทีมหมูป่าสูญหายไปในถ้ำขุนน้ำนางนอนนั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าเป็นวิกฤติ และในช่วงแรกของการวางแผนกู้ภัยนั้นจะเห็นว่าหลายต่อหลายฝ่ายกรูกันเข้าไปช่วยเหลือ แต่อาจยังเป็นไปในลักษณะกระจัดกระจาย ไม่เป็นกระบวนทัพ จากนั้นจึงเริ่มมีการปรับการบริหารจัดการ โดยทุกฝ่ายร่วมใจกัน มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในการสั่งการทุกองคาพายพ เพื่อให้กระบวนการช่วยเหลือน้องๆ หมูป่าเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกเหนือจากการแสดงถึงการเลือกใช้บทบาทและภาวะผู้นำแล้ว เรื่องนี้ยังชี้ให้เราเห็นอีก 2 จุดคือ

หนึ่ง การดำเนินการร่วมกันโดยทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และนอกพื้นที่ หน่วยงานเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพ ล้วนพยายามระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังกาย กำลังทรัพยากร กำลังปัญญา เพื่อช่วยกันทุกวิถีทาง โดยผู้นำมิได้ปิดกั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้นำทั้งผู้ว่าฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ และนายกฯ ที่ดูแลภาพรวมนั้น บริหารจัดการโดยรวมศูนย์อำนาจอย่างมีชั้นเชิง โดยมิได้ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และน่าชื่นชมจริงๆ

สอง การดำเนินงานของแต่ละภาคส่วนนั้น หากติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดจะพบว่า แต่ละก้าวที่ดำเนินไปนั้นมีการใช้ปัญญา ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาประมวลอย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะตัดสินใจวางแผนแต่ละขั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรู้ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากกรมทรัพยากรธรณี สถาบันการศึกษา ไปจนถึงผู้ที่ชำนาญเส้นทางในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่เคยมีประสบการณ์ตรงจากการเดินทางไปสำรวจถ้ำมาก่อน

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งกูเกิ้ลแม็พ โดรน ฯลฯ มาช่วยในการเสาะหาข้อมูลที่จำเป็น ทำให้เราเห็นการทำงานอย่างเป็นระบบ อธิบายที่มาที่ไปของสถานการณ์ต่างๆ ได้

มาถึงเวลานี้ เราทุกคนคงต้องเอาใจช่วยอย่างเต็มที่ และรอติดตามกันต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

เห็นสถานการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผมอดนึกเปรียบเทียบกับนโยบายหลายๆ เรื่องในระบบสาธารณสุขตอนนี้ไม่ได้ นึกในใจ แต่ขอระบายออกมาดังๆ ว่า หากนโยบายระบบสาธารณสุขนั้นพิจารณาเรื่องลักษณะของผู้นำในระดับต่างๆ รวมถึงการพยายามใช้ข้อมูลมาเป็นหลักในการสร้างนโยบายและอธิบายที่มาที่ไปของสาระนโยบาย และรักษาสมดุลการใช้อำนาจอย่างระมัดระวังไม่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม โดยเอาใจเขามาใส่ใจเราก่อนที่จะคิดนโยบายอะไรออกมา ก็คงจะดีมากๆ

ถ้าทำเช่นนั้นได้ ระบบสาธารณสุขก็จะไม่มีปัญหาขาดแคลนคนทำงาน ขาดแคลนทรัพยากรที่ต้องการจำเป็น คนทำงานก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขไปพร้อมๆ กับประชาชน

ถ้าทำเช่นนั้นได้ โอกาสที่เราจะเห็นนโยบายที่แปลกๆ เช่น นโยบายห้ามชาร์จมือถือ นโยบายติดดาวสถานบริการปฐมภูมิ นโยบายและยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบโดยคนระดับปฏิบัติการหน้างานและประชาชนไม่ค่อยได้มีโอกาสร่วมร่าง ตลอดจนนโยบายบังคับหมอให้อยู่ในระบบโดยจะเพิ่มค่าใช้ทุนจากสี่แสนเป็นห้าล้าน ฯลฯ คงจะลดน้อยถอยลงไป

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มักได้ยินเสียงรำพึงรำพันต่อกันเสมอว่า นโยบายออกมาได้ไงเนี่ย ถามไปก็มักไม่ทราบที่มา อธิบายกันอ้อมแอ้ม และสั่งการจากบนลงล่างให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนั้นก้มหน้าทำก้มหน้ารับกันไปอย่างขมขื่นในหัวใจ

ผมอยากเล่าเรื่องให้เหล่านักบริหารได้ทราบ ได้ตระหนัก และได้มาช่วยกันบริหารให้คนในองค์กร คนในระบบ และคนในสังคม ได้มีส่วนร่วมรับรู้ รับผิดชอบ รู้สึกเป็นเจ้าของกันและกัน ดูแลกันและกัน แบบที่เราเห็นจากปรากฏการณ์การช่วยเหลือน้องๆ ทีมหมูป่าครับ

ด้วยรักต่อทุกคน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์