ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อ 70 กว่าปีก่อน (ค.ศ.1947) Julian Huxley นักคิดนักพัฒนาชาวอังกฤษ ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.องค์การยูเนสโก้ (UNESCO) ได้ขอร้องมหาตมะ คานธี ให้ช่วยเขียนแสดงทัศนะเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อที่จะเรียบเรียงเป็นหนังสือ แต่คานธีปฏิเสธ และกล่าวว่า เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายจากแม่ของเขา ซึ่งอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่เขารู้เพียงว่าแม่เป็นคนที่ฉลาดมาก สิ่งหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้และเข้าใจคือ "สิทธิต่างๆ ของใครก็ตาม จะสมควรได้ และสมควรได้รับการปกป้อง ก็ต้องเมื่อใครคนนั้นได้กระทำหน้าที่ของตนเองอันพึงกระทำเป็นอย่างดีแล้ว"...... ดังนั้นการเรียกร้องสิทธิใดๆ จึงจำเป็นต้องตอบให้ได้ว่าได้กระทำหน้าที่ของตนอย่างดีแล้วหรือไม่

เรื่องสุขภาพก็เช่นกัน "เรื่องสุขภาพไม่ใช่แค่การเรียกร้องสิทธิที่พึงได้ของประชาชน แต่ประชาชนต้องมีหน้าที่ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ด้วย จึงพึงจะได้รับสิทธินั้น" "Health is not only your rights, but also your duties"

หมดยุคกันเสียที กับการที่ต้องหาทางรณรงค์ กราบกราน ร้องขอ ให้แต่ละคนไปรับวัคซีนป้องกันโรค ไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือระมัดระวังการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องการกินการดื่มการสูบ การขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ

แต่ประชาชนจำเป็นต้องรู้ว่า มันคือหน้าที่ที่ต้องทำ มิฉะนั้นการไม่ปฏิบัติหน้าที่นั้นจะทำให้สิทธิที่พึงมีพึงได้นั้นหมดความชอบธรรมลงไปเช่นกัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะต้องร่วมรับผิดชอบในสัดส่วนที่เหมาะสมควบคู่ไปกับรัฐในกรณีที่มีหน้าที่ที่รับผิดชอบร่วมกัน

หากไม่ปฏิรูปสังคมเช่นนี้ ประเทศชาติจะลงทุนเม็ดเงินและทรัพยากรต่างๆ เท่าไหร่ก็ไม่มีทางเพียงพอที่จะดูแลปกป้องประชาชนครับ

อดีตจนถึงปัจจุบันมีแต่นโยบายที่ออกมากระหน่ำให้คนทำงานในระบบสุขภาพสะบักสะบอม คุณภาพชีวิตถดถอย ความเสี่ยงเพิ่มพูน แถมยังจะตอกย้ำให้ต้องชดใช้ทุนด้วยเงินสูงลิ่วเพื่อบังคับให้อยู่ในพื้นที่กันดาร

คำถามที่ควรคิดกันในหมู่นักบริหารคือ ถ้าระบบและพื้นที่ดี ปลอดภัย ใครล่ะจะไม่อยากอยู่ ใครล่ะจะออกไป? เหตุใดไม่คิดเชิงบวก หามาตรการเพื่อทำแต่ละที่ให้ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น ดูแลคุณภาพชีวิตทุกคนให้ดีขึ้นไปพร้อมกันทั้งหมอ พยาบาล จนท.สาสุข พร้อมๆ ไปกับประชาชน

ไม่ใช่เอาแต่อ้างว่าขาดแคลนเพราะผลิตไปคนก็ออกหมด เลยต้องบังคับด้วยนโยบายเจ้าขุนมูลนายยุคดึกดำบรรพ์อย่างที่เห็น อีกหน่อยจะลำบากครับ เพราะหาคนที่เก่งและดีมาเรียนได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

ประเทศเราจะพัฒนาไปได้ หากเลิกคิดนโยบายเชิงลบ และหันมาใส่ใจสิทธิและหน้าที่ของทุกฝ่าย ทั้งประชาชน บุคลากรที่ทำงาน และเหล่านักบริหารด้วย

ลานสายตา...หากกว้าง ก็จะสร้างสรรค์อะไรไปในทางที่ดี

ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อทุกคนครับ

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์