ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐผลักดันโครงการ “หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ” ใช้เบอร์ 191 เบอร์เดียวทุกกรณี แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย-เรียกรถพยาบาล “กอบศักดิ์” เผย จ่อประสาน กสทช.ลงทุนโครงสร้าง 2 เฟส รวม 3,140 ล้านบาท

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล

ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2561 ซึ่งมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณา 3 นโยบายสำคัญ โดยหนึ่งในนั้นคือการจัดให้มีบริการหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติหมายเลขเดียว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มา เนื่องจากทุกวันนี้ประเทศไทยมีเลขหมายฉุกเฉินจำนวนมากนำไปสู่ความสับสนและโทรไม่ตรงกับหน่วยงานที่ถูกต้อง ซึ่งแตกต่างกับตัวอย่างในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่จะใช้เลขหมายเดียวคือ 911 หรือในอังกฤษที่ใช้เลขหมาย 999 เท่านั้น

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีการเสนอให้ใช้เลขหมาย 191 เลขหมายเดียวเพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินทุกอย่าง ทั้งการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ประสานติดต่อโรงพยาบาลในเครือของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ฯลฯ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาด้วยการใส่ระบบที่เรียกว่า Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ ลงไปด้วย

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า จะดำเนินการหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดหางบประมาณมาลงทุนในระยะที่ 1 และ 2 คาดว่าระยะที่ 1 จะใช้เงินประมาณ 1,380 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 จะใช้อีกประมาณ 1,760 ล้านบาท ซึ่งหาก กสทช.ขาดเหลืออย่างไร รัฐบาลก็จะจัดสรรงบประมาณที่เหลือให้ โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั่วประเทศ ก็จะสามารถปรับระบบทุกระบบให้เข้าสู่ระบบเดียวได้ทันที

“เรื่องเบอร์ 191 มีการเตรียมการมาอย่างยาวนานแล้ว ผมคิดว่าภายใน 1-2 เดือนจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ และเมื่อมีการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมแล้ว ก็จะสามารถเริ่มดำเนินการวางระบบได้ทันที” นายกอบศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง โครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ 191 เข้าถึงทุกเรื่อง เป็นการบูรณาการหมายเลขฉุกเฉินให้เหลือหมายเลขเดียว และยังจะรองรับระบบการเชื่อมต่อกล้องวงจรปิด CCTV ได้ทุกภาคและทุกจังหวัด รวมทั้งบูรณาการสารสนเทศระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ทราบพิกัดผู้โทรอย่างแน่ชัด สามารถสั่งการได้รวดเร็ว

ทั้งนี้ ในอนาคตประชาชนจะสามารถแย้งเหตุได้หลายช่องทาง เช่น VDO Call, Social Media, Mobile App., SMS, MMSและยังรองรับผู้แจ้งเหตุจากผู้พิการทางการได้ยินด้วย