ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.ไฟเขียว “ประกาศหลักเกณฑ์ดำเนินงานกองทุนบัตรทอง ปี 62” รุกดูแลสุขภาพคนไทยกว่า 48 ล้านคนต่อเนื่อง เน้นปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการรักษาและบริการสาธารณสุขยิ่งขึ้น

ที่โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ -นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ประชุมได้เห็นชอบ “ประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562” นำเสนอโดยคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน สปสช.

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2562 จำนวน 181,584,093,700 บาท เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน ซึ่งมี นางชุมศรี พจนปรีชา เป็นประธาน ได้รับมอบและจัดทำข้อเสนองบประมาณเพื่อดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้

1.บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว จำนวน 166,445.22 ล้านบาท เพื่อดูแลประชากร 48.57 ล้านคน หรือเฉลี่ย 3,426.56 บาท/ประชากร โดยเป็นงบประมาณหลังหักเงินเดือนภาครัฐ จำนวน 119,130.26 ล้านบาท

2.บริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,046.31 ล้านบาท

3.บริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 8,281.79 ล้านบาท

4.บริการสาธาณสุขเพื่อควบคุม ป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง จำนวน 1,135.02 ล้านบาท

5.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.28 ล้านบาท

6.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 916.80 ล้านบาท

และ 7.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 268.64 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการผู้ป่วยนอกทั้งในและนอกเขตกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมจำนวน 652,173 ครั้ง

ทั้งนี้การจัดทำหลักเกณฑ์ดำเนินงานกองทุนปี 2562 ดำเนินตามกรอบและแนวคิด ทั้งจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12, แผนปฏิรูปแห่งชาติด้านสาธารณสุข, นโยบายรัฐบาล, นโยบายความมั่นคง, ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณของประเทศปี 2562, แผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ, พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545, ผลรับฟังความคิดเห็นฯ ตามมาตรา 18 (13) ปี 2560, ประกาศกระทรวงสาธารณสุขตามคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 ม.44, มติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง ผลการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบต่างๆ, นโยบาย รมว.สาธารณสุขและบอร์ด สปสช., แนวคิดพื้นฐานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560-2564

สำหรับในปี 2562 ได้ปรับปรุงการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ บริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเป้าหมายคัดกรองแต่ละพื้นที่ให้ผ่านความเห็นชอบ อปสข. การบริการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ปรับให้เบิกจ่ายตามผลงานจริง (Fee schedule), การปรับแนวทางการจ่ายผู้ป่วยในเพื่อให้หน่วยบริการมีความมั่นใจในการบริการเพิ่มขึ้น ได้แก่ การกันวงเงินระดับประเทศจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อปรับเกลี่ยค่าน้ำหนักสัมพันธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (AdjRW) และการกำหนดอัตราจ่ายคงตลอดทั้งปีจำนวน 8,050 บาทต่อ AdjRW เป็นต้น

การปรับปรุงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค ประกอบด้วยคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไวรัสตับอักเสบบี, เพิ่มการจ่ายค่าบริการตามผลงานจริงในรายการที่ต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการ และการปรับประสิทธิภาพบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่จะมีการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่ เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนบริการเฉพาะได้เพิ่มวัคซีนพิษสุนัขบ้าในกลุ่มยาจำเป็น โดยย้ายงบจากค่าบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 10.67 ต่อผู้มีสิทธิเพื่อดำเนินการจัดซื้อ, เพิ่มรายการยาตามบัญชียา จ.(2) จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ยาราลเท็คกราเวียร์ (Raltegravir) เพื่อขยายการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และ ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดตาในจอตาอุดตัน และเพิ่มรายการถุงอุจจาระโคลอสโตมี่ (Colostomy Bag) เป็นอุปกรณ์และอวัยวะเทียมเพื่อเบิกจ่ายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงให้กับผู้ป่วย

นอกจากนี้ปี 2562 ยังได้มีการพัฒนาเพื่อดูแลผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้นำร่องโครงการความร่วมมือการจัดบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ การดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันสูง โดยปรับปรุงบริการเน้นการควบคุมป้องกันภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ขณะเดียวกันยังได้ปรับสัดส่วนการจ่ายชดเชยบริการปฐมภูมิเพื่อสนับสนุนคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster: PCC) เพื่อสนองต่อนโยบายรัฐบาล