ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ร่วมกับ ม.มหิดล มอบรางวัล “ครอบครัวมีสุข” ให้ 20 องค์กรภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ เอสเอ็มอี ส่งต่อเครื่องมือวัด “ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ” ผุดหลักสูตร “สร้างนักสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่น” เกิดรูปธรรมต้นแบบครอบครัวมีสุข หวังเพิ่มดัชนีครอบครัวอบอุ่น ร้อยละ 70 ในปี 2563 หนุนนโยบาย “การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต” ของรัฐบาล เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานสัมมนาและมอบรางวัลองค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข ประจำปี 2561 (Happy Family Award 2018) “ครอบครัวอบอุ่น องค์กรมั่นคง ชีวิตมั่งคั่ง” โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าร่วมงาน 20 องค์กร แบ่งรางวัลออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ รัฐบาล เอกชน รัฐวิสาหกิจ วิสาหกิจชุมชน และเอ็สเอ็มอี ประกอบด้วยรางวัลองค์กรดีเด่น ดีมาก และดี

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ทำงานด้านสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ตามนโยบาย “การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต” ของรัฐบาล เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง โดยกลยุทธสำคัญประการหนึ่งคือการสนับสนุนให้คนวัยทำงาน สามารถสร้างสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว เพื่อลดปัญหาต่างๆในครอบครัวและเพิ่มพูนผลิตภาพของผลงาน ในขณะเดียวกัน สสส.ตระหนักดีว่าหากองค์กรมีนโยบายที่เอื้อให้เกิด “ครอบครัวมีสุข” สังคมโดยรวมจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ จากรายงานของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ดัชนีครอบครัวอบอุ่นลดลงจากร้อยละ 68.51 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 65.34 ในปี 2558 ต่อมาได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 67.98 ในปี 2559 ดังนั้น สสส. จึงมีเป้าหมายที่จะช่วยเพิ่มดัชนีครอบครัวอบอุ่นให้อยู่ในระดับดีขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในปี 2563

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนากระบวนการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นให้แก่คนทำงานองค์กรในประเทศไทยโดยยึดตามแนวคิดสังคมที่ดีควรเริ่มต้นจากครอบครัวอบอุ่นและเข้มแข็ง ซึ่งผลการดำเนินงานหนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้เกิดต้นแบบองค์กรสร้างสุขภาวะครอบครัวจำนวน 20 แห่ง ที่มีรูปธรรมผลสำเร็จชัดเจน และเครื่องมือวัด “ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ” ที่มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ สัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีบทบาทหน้าที่ที่ดีต่อกัน และครอบครัวมีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิด หลักสูตร “การสร้างนักสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่น: Happy Family Agent” ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการระยะสั้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกทักษะแบบพี่เลี้ยง ให้แก่ บุคลากรที่องค์กรเลือกสรรมา

ด้าน รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการเพื่อสังคมและหัวหน้าโครงการ “การสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นไปสู่ครอบครัวสุขภาวะของคนทำงานองค์กรในประเทศไทย”สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ครอบครัวถือเป็นฐานรากสำคัญฐานหนึ่งที่ทำให้คนทำงานด้วยความมุ่งมั่น เพื่อเติมเต็มอนาคตของทั้งตนเองและครอบครัวไปพร้อมๆ กัน เพราะครอบครัวเป็นชีวิตส่วนหนึ่งของคนทำงาน ถ้าครอบครัวคนทำงานแวดล้อมด้วยความอบอุ่น เข้มแข็ง และสงบสุข จะส่งผลให้องค์กรมั่นคง และชีวิตมั่งคั่ง ซึ่งจากการประเมินครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ: คนทำงาน 100 องค์กร พบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่ร้อยละ 63 อาศัยอยู่ร่วมกันทุกวัน/เกือบทุกวัน ในกลุ่มนี้พบว่า มีเวลาเพียงพอมากถึงมากที่สุดในการอยู่กับครอบครัว โดยดัชนีครอบครัวอบอุ่น (ต้นแบบ) ได้คะแนนรวม 72.83 คะแนน ซึ่งคณะทำงานได้คัดเลือก 20 องค์กร ที่มีความโดดเด่น และได้คะแนนค่อนข้างสูง เพื่อต่อยอดนำไปสู่การเป็นครอบครัวมีสุขขยายผลสู่องค์กรต่างๆ ต่อไป

สำหรับองค์กรที่ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 โครงการครอบครัวเข้มแข็งอยู่ดีมีสุข ประเภทหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โครงการลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ในช่วงเข้าพรรษา ประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) โครงการออมวันนี้ รวยวันนี้ ประเภทหน่วยงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แก่ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ โครงการขยะทองคำ ประเภทหน่วยงานวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนไฟว์สตาร์ เขตมีนบุรี โครงการมอบทุนการศึกษาแก่สมาชิกในครอบครัว และวิสาหกิจชุมชนบ้านฉัตรหลวง (ข้าวแตนเมืองมีน) โครงการปันความสุข แจกเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่สมาชิก

โดยองค์กรที่เข้าร่วม ได้แก่ โรงพยาบาลตะกั่วป่า โครงการ Happy Time to Happy Family, โรงพยาบาลวัดสิงห์ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว,สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการออมทรัพย์เพิ่มพูน, บริษัท พีเจ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด โครงการเสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็ง เพื่ออนาคตที่มั่นคง, บริษัท ควิกลิสซิ่ง จำกัด โครงการดูแลครอบครัวยามเจ็บป่วย, บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบไทย จำกัด โครงการวินัยดี มีเงิน, บริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด โครงการอาชีพเสริม เพิ่มพลังชีวิต

บริษัท อีเกิลส์ แอร์แอนด์ซี (ประเทศไทย) จำกัด โครงการHAPPY BRAIN + HAPPY MONNEY = HAPPY FAMILY : มาตรฐานวิชาชีพ, ห้างหุ้นส่วนจำกัด อำนาจเจริญ โอ เอ แอนด์ เทเลคอม (1995) โครงการสร้างความเข้มแข็งครอบครัววัยทีน, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศูนย์รถยนต์อุบล เซอร์วิส 1997 โครงการเสริมสร้างการพึ่งพาตนเอง, บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด โครงการ UDG ตีท้ายครัว, บริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โครงการคน GEN Y ครอบครัวอบอุ่นได้ด้วย คลอลิตี้พลัส, บริษัท สารัช มาร์เก็ตติ้ง จำกัด โครงการรายได้เสริมสุข และสหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด โครงการจูเนียร์ฟาร์มเมอร์