ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ผนึก สปสช.ตั้งเป้ากวาดล้าง “ตาบอดจากต้อกระจก” ให้หมดประเทศไทย รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้ ประเทศพัฒนาแล้วมองสายตาเอียงเป็นโรคที่ต้องมีสิทธิประโยชน์รองรับ จ่อผลักดัน “เลนส์แก้วตาแก้สายตาเอียง” เข้าสู่ระบบบัตรทอง หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยตาต้อกระจก ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชัดเจนว่าสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยตาต้อกระจกที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ดีขึ้นตามลำดับ โดยเป้าหมายในปัจจุบันคือต้องการขจัดปัญหาตาบอดจากต้อกระจกให้หมดไปจากประเทศไทย

นพ.ปานเนตร กล่าวว่า ในอดีตพบปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการและการให้บริการก็ไม่มีความแน่นอน เพราะต้องอาศัยเงินบริจาคจากมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างๆ จึงจะสามารถออกหน่วยให้บริการประชาชนได้ อย่างไรก็ตามภายหลังมีระบบบัตรทองและได้ทำโครงการแก้วตาดวงใจเทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ใช้งบประมาณจากภาครัฐในการส่งเสริมให้เกิดการผ่าตัดทั่วประเทศได้ 1 แสนดวงตา จากนั้นทาง สปสช.ก็เข้ามารับช่วงต่อในการดูแล กำหนดสิทธิประโยชน์ และเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

นพ.ปานเนตร กล่าวว่า ในอดีตจะใช้เลนส์ขนาด 6 มิลลิเมตร ผ่าตัดแผลใหญ่และต้องเย็บแผลหลายเข็ม แต่ในระยะหลังมีการศึกษาวิจัยจนพบว่าสามารถใช้คลื่นอัลตร้าซาวน์ผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็กได้ แต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบเคียงความคุ้มค่าที่ผู้ปวยจะฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปทำงานหารายได้ได้ สปสช.จึงได้อนุมัติให้มีการเบิกจ่ายการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแผลเล็ก โดยใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดนิ่มที่พับได้ ซึ่งนับว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“แต่ก่อนเราบอกว่าของฟรีคงไม่ค่อยดี แต่ที่จริงไม่ใช่แล้ว เพราะมีมาตรฐานดี มีคณะกรรมการดูแลและพิจารณาอย่างละเอียด” นพ.ปานเนตร กล่าว

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาบุคลากรด้านจักษุ รวมถึงพยาบาลในท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อรองรับการดำเนินโครงการมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่เพียงพอแต่ก็นับว่าดีขึ้นและให้บริการได้อย่างครอบคลุม โดยปัจจุบัน สธ.ได้ร่วมมือกับราชวิทยาลัยเพื่อให้โควต้าจักษุแพทย์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 100 คน ซึ่งหากเป็นไปตามอัตรานี้อีก 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าบุคลากรจะเพียงพอ จากนั้นก็จะมีการบริหารจัดการระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ขณะเดียวกันมีการทำระบบสารสนเทศเพื่อให้ส่วนกลางสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดตามตัวชี้วัดหรือไม่ เช่น ป่วยชนิดบอดต้องผ่าตัดภายใน 30 วัน หรือถ้าไม่ถึงกับบอดต้องได้รับการผ่าตัดภายใน 90 วัน

“การมอร์นิเตอร์นี้ถือเป็นการประกันคุณภาพการรักษา และเพิ่มศักยภาพในการผ่าตัดได้มากขึ้น โดยสถิติพบว่าผู้ป่วยต้อกระจกเกิดใหม่เฉลี่ยปีละ 6 หมื่นราย และมีผู้ป่วยตกค้างที่ยังไม่ได้รับการรักษาอีกราวๆ แสนกว่าราย ขณะที่การให้การรักษาในปัจจุบันนื้เคยทำได้สูงสุดถึงปีละ 1.8 แสนราย นั่นหมายความว่าผู้ป่วยก็จะลดลงเรื่อยๆ ปัญหาใหม่ก็จะไม่มี ปัญหาเก่าๆ ก็จะค่อยๆ เคลียร์” นพ.ปานเนตร กล่าว

นพ.ปานเนตร กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ก็มีแพทย์ด้านตาหมดแล้ว ส่วนในพื้นที่ที่ยังขาดแคลนจริงๆ ก็มีการออกหน่วยเคลื่อนที่ โดยใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานในการผ่าตัด

“หลังจากเราเคลียร์ผู้ป่วยต้อกระจกชนิดบอดได้แล้วก็จะเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าระดับคุณภาพชีวิต คือจริงๆ แล้วตาของเราจะมีสายตาเอียงอยู่ด้วย ซึ่งต้องแก้ด้วยการใส่แว่น แต่พัฒนาการในปัจจุบันพบว่ามีเลนส์แก้วตาเทียมที่แก้สายตาเอียงได้ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย เขาให้เบิกเลนส์แก้วตาเทียมเพื่อแก้สายตาเอียงได้ด้วย ซึ่งจะจบทีเดียวเลยโดยที่ไม่ต้องไปตัดแว่นอีก ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยด้วย”

นพ.ปานเนตร กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมองว่าสายตาเอียงเป็นโรค ต้องมีสิทธิประโยชน์ในการดูแล ซึ่งขณะนี้เราพยายามเสนอให้พิจารณานำเลนส์แก้วตาเทียมชนิดแก้เอียงเข้ามาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วราคาของเลนส์เกือบ 1 หมื่นบาท แต่ถ้าเราซื้อมากๆ และมีการต่อรองราคา เชื่อว่าราคาก็จะลดลงเป็นอย่างมาก

“สมมุติว่าราคาเลนส์แก้สายตาเอียงอยู่ที่ 8,000 บาท ขณะที่เลนส์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันราคา 2,800 บาท นั่นหมายความว่าราคาแพงขึ้นราวๆ 5,000 บาท โดยเรามีผู้ป่วยที่ต้องใช้เลนส์แก้สายตาเอียงประมาณ 6 หมื่นคน แต่ถ้าเราใช้กระบวนการต่อรองราคาน่าจะทำให้ต่ำลงเหลือไม่ถึง 5,000 บาทได้ ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่า” นพ.ปานเนตร กล่าว

นพ.ปานเนตร กล่าวว่า สธ.มีนโยบายให้หน่วยบริการภาครัฐทั่วประเทศดำเนินการตามไกด์ไลน์ที่อยู่ใน Service Plan ด้านตา ซึ่งมีทั้งการกำหนดพันธกิจและมีตัวชี้วัดอย่างชัดเจน แต่ก็เห็นใจหน่วยบริการเพราะมีโครงการเรื่องสายตาด้านอื่นๆ อีก ซึ่งทำให้ภาระงานของพื้นที่สูงขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาในเชิงระบบต่อไป