ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยคนไทยสูบบุหรี่ลดลงเหลือ 10.7 ล้านคน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง คร่าคนไทยปีละ 1 แสนคน 1 ใน 5 เกิดจากสูบบุหรี่ ชี้หากเลิกสูบจะลดความเสี่ยงเกิดโรคได้ 30-55% สธ.-สสส.มุ่งป้องกันนักสูบหน้าใหม่อายุ 15-24 ปี รณรงค์เลิกสูบ ลดควันบุหรี่มือสองในบ้าน-ที่สาธารณะ

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย, รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายโรคไม่ติดต่อแห่งประเทศไทย และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังพิธีเปิดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 เรื่อง “บุหรี่ทำร้ายหัวใจและหลอดเลือดสมอง” จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ สนับสนุนโดย สสส.

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานผลการสำรวจการบริโภคยาสูบของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อพิจารณาแนวโน้มการบริโภคยาสูบของประชากรไทยในรอบกว่า 25 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534 - 2560) พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2534 มีจำนวนผู้ที่บริโภคยาสูบ 12.26 ล้านคน (ร้อยละ 32) ลดลงเป็น 10.7 ล้านคน (ร้อยละ 19.1) ในปี 2560 ดังนั้นเป้าหมายสำคัญในการทำงานควบคุมยาสูบ จึงมุ่งเน้นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี และทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่เดิมเลิกสูบ ซึ่งการไม่สูบบุหรี่จะลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องได้โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แม้สถานการณ์การสูบบุหรี่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า ยังมีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองทั่วประเทศถึงร้อยละ 33.2 มีการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ โดยพบเห็นการสูบบุหรี่ที่ตลาดสดสูงที่สุด ร้อยละ 61.8 รองลงมาคือ ร้านอาหาร ร้อยละ 37.7 และสถานีขนส่ง ร้อยละ 25.5 โดย 2 ใน 5 ของผู้สูบบุหรี่ มีการสูบบุหรี่ในบ้าน ทำให้มีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านสูงถึง 17.3 ล้านคน เมื่อพ่อ แม่สูบบุหรี่ จะทำให้ลูก หลาน หรือสมาชิกในบ้านมีพฤติกรรมเลียนแบบสูบบุหรี่ตาม

ดังนั้น เป้าหมายหนึ่งของ สสส. จึงเน้นย้ำการทำงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงการลด ละ เลิกพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพอันเกิดจากการสูบบุหรี่ อาทิ โครงการพัฒนาต้นแบบบ้านปลอดบุหรี่ โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม. ช่วยเลิกบุหรี่ โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน และโครงการจังหวัดควบคุมยาสูบ-สุรา เป็นต้น

ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบตัน สูงถึงปีละประมาณ 1 แสนคน และ 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตเหล่านี้ มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ซึ่งบุหรี่มีสารนิโคตินและสารพิษอื่นๆ ที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดหัวใจวายกะทันหันหลอดเลือดสมองตีบตัน และทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ โดยการสูบบุหรี่เพียงวันละ 1-2 มวน ก็เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ และผู้ได้รับควันมือสองก็มีความเสี่ยงเพิ่มด้วยเช่นกัน ซึ่งคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้ จะลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ถึง ร้อยละ 30-55

รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายโรคไม่ติดต่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสูบบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดหลอดเลือดสมองโป่งพองถ้าเกิดการแตกจะทำให้มีการเสียชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วนได้ มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองอุดกั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า และในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองจะสูงถึง 7.2 เท่า ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยก่อโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญแต่สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ โดยการหยุดสูบบุหรี่ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถลดอัตราการกลับเป็นโรคซ้ำ นอกจากนี้งานวิจัยล่าสุดจากประเทศจีนระบุว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว หากยังไม่หยุดสูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดหลอดเลือดสมองโป่งพองซ้ำมากกว่าผู้ป่วยที่หยุดสูบบุหรี่