ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทยสภา-สปสช.รุกดูงาน “ทันตกรรม รพ.น่าน” พัฒนาศักยภาพผ่าตัดและดูแล “ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่” ต่อเนื่อง เผย 10 ปี ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา แก้ไขความพิการ ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานตลอดชีวิต พร้อมพัฒนางานทันตกรรมเชิงรุก จัดทีมบริการที่ รพ.สต. ใส่ฟันเทียมผู้สูงอายุ ลดปัญหาหมอฟันเถื่อนในพื้นที่

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงพยาบาลน่าน - ทันตแพทยสภาโดย ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้นำคณะทันตแพทยสภาและผู้บริหาร สปสช.เยี่ยมชมการให้บริการ “ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่” โรงพยาบาลน่านเพื่อดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในพื้นที่ โดยมี นพ.ภราดร มงคลจาตุรงค์ ผอ.รพ.น่าน และ ทพญ.ดวงนภา คูอาริยะกุล ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ.น่าน ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล พร้อมเยี่ยมชมบริการทันตกรรม รพ.นาน้อย

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ภาวะ “ปากแหว่งเพดานโหว่” เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของการเจริญของใบหน้าระหว่างการตั้งครรภ์ โดยอุบัติการณ์ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ปัจจุบันและในอดีตไม่แตกต่างกันมาก ภาพรวมทั้งประเทศของแต่ละปีจะอยู่ที่ 1.8-2 รายต่อทารกพันรายของการเกิดมีชีพ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการรักษาโดยเร็วตั้งแต่อายุ 3 เดือนและไม่ควรเกินอายุ 3 ปี ทั้งต้องได้รับการผ่าตัดต่อเนื่องที่เป็นไปตามเกณฑ์อายุเพื่อแก้ไขและลดความพิการให้กลับเป็นปกติได้ ในอดีตผู้ป่วยกลุ่มนี้มีปัญหาการเข้าถึงการรักษา นอกจากค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรคแล้ว ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ เพราะด้วยความห่างไกลจากหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการให้บริการ

ทั้งนี้พื้นที่ จ.น่าน เมื่อช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่จะต้องเดินทางไปรับการผ่าตัดและรักษาต่อเนื่องที่ รพ.ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ด้วยระยะทางห่างไกล มีภูมิประเทศลักษณะเป็นภูเขา ประกอบกับผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวเขา มีฐานะยากจน ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาเพื่อแก้ไขจนทำเกิดความพิการไปตลอดชีวิต

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ แม้ว่าจะเป็นความพิการตั้งแต่แรกเกิด แต่สามารถแก้ไขเพื่อผู้ป่วยให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติได้ ยิ่งได้รับการผ่าตัดโดยเร็วตั้งแต่แรกเกิดจะยิ่งมีประสิทธิผลในการรักษา ดังนั้น บอร์ด สปสช.จึงได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ “การแก้ไขปัญหาความพิการจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่” ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่การผ่าตัดรักษา การฟื้นฟูและแก้ไขการพูด บริการทันตกรรมจัดฟันสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการที่มีศักยภาพบริการ และองค์กรวิชาชีพด้านทันตกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ทั่วประเทศได้รับการผ่าตัดรักษา

จากข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2558- 30 เมษายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,311 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับบริการจัดฟัน (ในรายที่จำเป็น) จำนวน 1,667 ราย รับการฝึกพูดจำนวน 2,965 ราย และยืดถ่างขยายกระดูกใบหน้าและกระโหลกศรีษะ (Maxillary Distractor) จำนวน 21 ราย

ด้าน ทพญ.ดวงนภา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ รพ.น่าน มาจากการเห็นผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้าไปถึงบริการ เนื่องจากติดข้อจำกัดไม่สามารถไปรับการรักษาที่ รพ.ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ ต้องกลายเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิต ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถแก้ไขโดยการผ่าตัด หากได้รับการรักษาทันท่วงที ทีมผู้บริหารโรงพยาบาลน่าน ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว ได้พัฒนาศักยภาพทีมงาน ถึงแม้โรงพยาบาลน่านจะไม่มีแพทย์เฉพาะทางสาขา Plastic surgery แต่ด้วยความสามารถของ ทพญ.วิภาวรรณ พึ่งวารี ทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยกรรมช่องปากและแมกซิลโลเฟเชียลได้ร่วมกับ ทีมสหสาขาวิชาชีพ อาทิ แพทย์สาขา ENT พยาบาล นักกายภาพบำบัด เป็นต้น ได้ร่วมกันเพื่อดูแลเด็กปากแหว่งเพดานโหว่เหล่านี้อย่างต่อเนื่องครบวงจร ทั้งการผ่าตัดปิดรอยโหว่ การจัดฟัน การฟื้นฟู และการฝึกพูด ให้สามารถเติบโตในสังคมได้ และได้จัดตั้งกองทุน เติมยิ้ม อิ่มใจ โดยความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนเป็นค่าเดินทางในการมาโรงพยาบาลสำหรับครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดรักษาต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันนี้มียอดผู้ป่วยประมาณ 130 กว่าราย

“ในการรักษากรณีที่เด็กแรกคลอดมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ หากเด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงพอ ทางแพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดทันทีเพื่อช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามารถดูดนมแม่ได้และไม่สำลัก พร้อมให้การดูแลและรักษาต่อเนื่อง ซึ่งการที่ รพ.น่านสามารถผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ได้ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกล ช่วยลดค่าใช้จ่ายเดินทางได้มาก จนปัจจุบันในพื้นที่ไม่มีเด็กที่อยู่ในสภาพปากแหว่งเพดานโหว่แล้ว เนื่องจากได้รับการรักษาแล้วทั้งหมด”

ทั้งนี้ คณะทันตแพทยสภาและผู้บริหาร สปสช. ยังได้เยี่ยมชมงานบริการทันตกรรม รพ.นาน้อย และ รพ.สต.ขุนสถาน จ.น่าน ที่จัดบริการเชิงรุกใส่ฟันเทียมให้กับชาวบ้านที่เส่วนใหญ่เป็นชาวเขา และเป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้เข้าถึงบริการ มีฟันบดเคี้ยวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น