ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สืบเนื่องมาจาสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาสได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะการเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มีระยะทางเกือบ 20 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่สะดวกในการมาพบแพทย์ จึงเป็นที่มาของการทำให้อำเภอยี่งอมีโรงพยาบาลในพื้นที่ของตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพมากขึ้น

“ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอทุกท่านที่มีเป้าหมายตรงกันว่า โรงพยาบาลยี่งอจะไม่ได้เป็นแค่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่โรงพยาบาลยี่งอจะเป็น Hospitel คือ การผสมผสานระหว่างคำว่า Hospital และ Hotel คือ เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล”

นพ.อดุลย์ เร็งมา

นพ.อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พูดถึงการเข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยเกิดจากความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และภาคเอกชน เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อปี 2550

นพ.อดุลย์ กล่าวว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่าโรงพยาบาลคนจะนึกถึงและมาเมื่อเจ็บป่วยหรือมาเยี่ยมไข้เท่านั้น และในปัจจุบันกลับพบว่า ประชาชนป่วยด้วยโรค NCDs มากขึ้น และที่อำเภอยี่งอเป็นสังคมที่มีความแตกต่างกับพื้นที่อื่น สิ่งที่ตนเองพบเห็นและมองว่าเป็นจุดสำคัญคือ เวลาที่บ้านไหนมีคนป่วยที่ต้องมานอนโรงพยาบาล ชาวบ้านเขาจะแห่กันมาเยี่ยมกันทั้งหมู่บ้าน โรงพยาบาลจะเต็มไปด้วยญาติผู้ป่วย บวกกับวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านก่อนๆ ที่ต้องการให้โรงพยาบาลยี่งอเป็นมากกว่าโรงพยาบาลดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

เมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ โดยมี บริษัทตาแสง สตูดิโอ รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบและสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขว่า เขาต้องการให้โรงพยาบาลของพวกเขาเป็นอย่างไร ซึ่งทางตาแสง สตูดิโอได้ทำการสำรวจความต้องการของทุกฝ่ายได้ละเอียดมาก ผลที่ได้คือ พื้นที่ที่ทุกคนไม่ว่าใครก็ตามสามารถใช้สอยร่วมกัน คือ สวนกระฉับกระเฉง พื้นที่ออกกกิจกรรมทางกายที่ประชาชนใช้ได้ และยังแผนพื้นที่ทำกายภาพบำบัดให้กับผู้ป่วย และสนามกีฬาที่ใครๆ ก็สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งการใช้พื้นที่จะมีความยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ครั้ง

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยี่งอยังมีสนามเด็กเล่น ที่ตั้งอยู่ในเขตโรงพยาบาล เพื่อดึงดูดให้เด็กและผู้ปกครองเข้ามาใช้ในพื้นที่ในโรงพยาบาล เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและชาวบ้าน

นพ.อดุลย์ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ คือ การให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความคิดเห็น ดังนี้

1.การที่ทีมงานสำรวจการมีความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้ามามันทำให้เราเข้าใจมากขึ้นจากเดิมที่เราคิดว่าเรารู้จริงๆ คือเราอาจจะรู้ไม่มากหรืออาจจะยังไม่ใช่ เพราะฉะนั้นได้รวมหัวจริงๆ มันได้มากกว่านั้น

2.การที่ทีมงานช่วยกันออกแบบผมต้องบอกว่า การช่วยกันออกแบบทุกพื้นที่ทุกตารางนิ้วในโรงพยาบาลไม่ใช่แค่อาคารเพราะฉะนั้นทำให้เรามีความคมชัดมากขึ้นว่า สรุปแล้วที่ทางทุกพื้นที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์และตอบสนองต่อชุมชนยังไงบ้าง และชุมชนร่วมกันออกแบบไม่ว่าจะเป็นตรงไหนที่จะปลูกผัก จริงๆ ที่โรงพยาบาลทำตอนนี้ก็ตอบสนองเขาระดับหนึ่ง ก็มีหลายอย่างที่เราต้องตอบสนองในอนาคตอย่างเช่น ศูนย์ออกกำลังกาย จากเดิมบริเวณที่ออกกำลังกายตามชุมชนเสี่ยงอยู่แล้ว ก็มองว่าอาจจะไม่ปลอดภัย โรงพยาบาลเราอาจจะต้องดีไซน์ว่าการออกกำลังกายภายในรั้วโรงพยาบาลสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ มีศูนย์การเรียนรู้ มีปลูกผักและมีอะไรที่ชาวบ้านร่วมกันมาปลูกร่วมกันกิน เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ในพื้นที่ตรงนั้น

และสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้อง คืออาคารผู้ป่วยนอก (OPD) ใหม่ แต่ให้เป็นสถาปัตยกรรมของพื้นที่เข้ามาและคงความเป็นเฉลิมพระเกียรติ เพราะว่าเวลาเดินเข้าไปก็จะมีความรู้สึกว่าเรากำลังเดินเข้าหาสิ่งที่พ่อหลวงทำให้เราเห็นอยู่

นพ.อดุลย์ กล่าวว่า เราร่วมเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติเ พราะมีโครงการนี้เกิดขึ้นมันเป็นการร่วมมือกับ สสส. ทางด้านสถาปัตยกรรมแล้วก็มาทำกับกระทรวงสาธารณสุข แล้วก็นักออกแบบมาร่วมกัน พอเราได้อยู่ในโรงพยาบาลหนึ่งในชุมชน อาจารย์ทางทีมงานก็เลยส่งทีมงานเข้ามาร่วมวิจัยทำพื้นที่ของบ้านเราด้วย ส่วนความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โรงพยาบาลยี่งอกำลังก้าวเข้าปีที่ 8 วิสัยทัศน์เราไม่เคยเปลี่ยน เราจะทำโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลของชุมชนที่ดีที่สุด ภาษาอังกฤษเราใช้คำว่า The Best Community Zone ชุมชนเป็นเจ้าของ และคำว่า Hospitel ให้สมกับคำว่า เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

เวลาเดินเข้ามาในโรงพยาบาลให้รู้สึกว่า มันเป็นโรงพยาบาลที่สมชื่อกับเฉลิมพระเกียรติ การบริการต้องเหมาะสม สอดคล้องทั้งระบบ สิ่งแวดล้อมและอะไรหลายๆ อย่างต้องสมกับชื่อเฉลิมพระเกียรติ ตรงนี้เราตั้งมาตั้งแต่แรกเพียงแต่ว่าเราอาจจะคลุมเครือในแง่ของฐานข้อมูลที่มาความต้องการของชุมชนที่แท้จริงพออาจารย์เข้ามาช่วยดึงตรงนี้เข้ามา focus มันชัดอีกหลายปีผมว่ามันไม่หลงทางแน่ ถ้าเราไปโรพยางบาลอย่างนี้โรงพยาบาลที่พยายามจะตอบสนองตรงกับบริบทที่ชุมชนอยากได้แน่ๆ สถาปัตยกรรมเราเปลี่ยนไปตามบริบท ตามยุค ตามการรักษาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราไม่เปลี่ยนคือเราต้องเป็นโรงพยาบาลของชุมชนที่อยากได้ตรงนี้ เราไม่เปลี่ยน

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา กล่าวว่า สิ่งที่ได้ในวันนี้คือ พื้นที่ที่เกิดขึ้นรอบโรงพยาบาล การปรับปรุงภูมิทัศน์แทบจะไม่ได้ใช้เงิน เราได้ความร่วมมือร่วมใจและการเป็นจิตอาสาของชาวบ้าน ช่วยกันคนละไม้ละมือ หาสีมาทา เป็นอาคารที่หลากสีสัน พื้นที่ที่ปรับปรุงแล้วทุกคนไม่ว่าประชาชนหรือบุคลากรในโรงพยาบาล หรือแม้แต่ผู้ป่วยสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้โดยเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ดังวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลที่ว่า โรงพยาบาลยี่งอเป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล