ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กฎหมายไทยบังคับให้เด็กข้ามชาติทุกคนต้องได้รับการแจ้งเกิด นักกฎหมาย ระบุ รัฐต้องออกเอกสารแสดงตัวให้ในฐานะที่เป็นคน ส่งผลให้เข้าถึงสิทธิ-สวัสดิการพื้นฐาน ยืนยันเจ้าหน้าที่ทะเบียนไม่มีอำนาจจับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวในงานแถลงข่าว ภายใต้งานประชุมสัมมนานานาชาติ เรื่อง “การจดทะเบียนเกิด ประเด็นทางสุขภาพ และประเด็นทางสังคมของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ในประเทศไทย” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า พบประเด็นใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ อยู่ 2 ประเด็น ได้แก่ 1. การรับรองสิทธิเด็ก โดยที่ผ่านมามีลูกของแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่เกิดในประเทศไทยแต่กลับไม่มีการรับรองความเป็นคนให้กับเขา สิ่งที่เราทำตอนนี้คือจะต้องมีการรับรองความเป็นคนให้กับเขา ซึ่งนอกจากการเป็นคนโดยหน้าตาแล้ว ยังต้องเป็นคนโดยกฎหมายด้วย

“การเป็นคนโดยกฎหมายก็คือรัฐต้องใส่ระบบทะเบียนราษฎร์ที่จะรองรับคนกลุ่มนี้ ให้เขาเหล่านั้นได้มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร์ ให้เขามีเลข13 หลัก ให้เขามีบัตร ให้เขามีเอกสารแสดงตัวในฐานะที่เขาเป็นคน” นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การที่เขาเป็นคนก็จะได้รับสิทธิอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเด็ก สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิทางการศึกษา ฯลฯ แต่ถ้าเขาไม่ได้รับการรับรองสิทธิความเป็นคน หรือไม่มีเอกสารใดๆ รับรองว่าเขาเป็นคน นั่นเท่ากับว่าสิทธิอื่นๆ ก็จะไม่ได้

“แม้กระทั่งช้าง ม้า หรือสัตว์ต่างๆ เราก็ยังมีตั๋วรูปพรรณให้เขา ดังนั้นคนซึ่งเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่สำคัญมาก ก็ต้องมีเอกสารในการรับรองให้เขาด้วยเช่นกัน” ว่าที่กรรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเด็นที่ 2 คือรัฐเองมีหน้าที่ที่จะทำข้อมูลคนทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ทะเบียนราษฏร รัฐมีหน้าที่เก็บข้อมูลคนที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดไว้ในระบบ เพื่อที่จะแยกได้ว่าใครเป็นคนไทย ใครไม่ใช่คนไทย เพราะถ้าเรามีข้อมูลของคนในประเทศไทยสมบูรณ์และถูกต้องมากเท่าใด การบริหารจัดการบ้านเมืองก็จะสามารถดำเนินการได้ดีเท่านั้น

“จาก 2 ประเด็นข้างต้นนี้ ทำให้ในปี 2551 ประเทศไทยได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การทะเบี่ยนราษฎร ฉบับที่ 2 ที่จะให้คนทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงระบบทะเบียนราษฎรได้ ไม่ใช่แค่สามารถ แต่ต้องเข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎร เพื่อที่จะมีข้อมูลที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ที่เกิดมาในบ้านเมืองของเรา เราให้เด็กทุกคนต้องได้รับการแจ้งเกิด” นายสุรพงษ์ กล่าว

ว่าที่ กสม.รายนี้ กล่าวอีกว่า หลังจากปี 2551 ประเทศไทยได้ออกกฎหมายมาให้เด็กทุกคนต้องได้รับการแจ้งเกิด และในปี 2553 เราได้ยกเลิกข้อสงวนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 7 ซึ่งไทยตั้งข้อสงวนเอาไว้นานแล้ว โดยอนุสัญญาข้อที่ 7 ระบุว่า เด็กทุกคนต้องได้รับการแจ้งเกิด มีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ และได้รับการดูแลจากพ่อแม่ นั่นหมายความว่าตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เด็กทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทยจะต้องได้รับการแจ้งเกิด

“แต่เราพบว่ายังมีช่องว่างในกรณีของตัวของแรงงาน ตัวของชาวบ้าน ที่จะไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ ขณะเดียวกันตัวเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้เท่าใดนัก บางคนอาจมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องกับคนเหล่านี้ด้วย เราจึงยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐไม่รับแจ้งเกิด หรือแม้แต่การเรียกเอกสารเพิ่มเติมเกินกว่าที่จดหมายกำหนด อาทิ ขอเอกสารของนายจ้าง ขอให้เอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านนายจ้าง ฯลฯ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในความเป็นจริง” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าแรงงานข้ามชาติมีความหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ และมักถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ว่าถ้าเจอตัวจะถูกจับกุม ส่งผลให้แรงงานเหล่านั้นไม่กล้าไปแจ้งเกิดบุตร ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วต้องเข้าใจว่า แม้แรงงานเหล่านั้นจะเข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย แต่เขามีสิทธิคลอดลูกในประเทศไทย และประเทศไทยจะให้การดูแล

“มากไปกว่านั้นก็คือแม้จะเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย แต่กฎหมายก็ให้เขาเหล่านั้นมาแจ้งเกิดลูกได้ ที่สำคัญคือเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่รับแจ้งเกิดนั้นเป็นเจ้าพนักงานของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งเจ้าหน้าที่มหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหน้าที่ในการจับ มีหน้าที่ในการจดทะเบียนให้เท่านั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกลับไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านและตัวของเจ้าหน้าที่ด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว

อนึ่ง นายสุรพงษ์ คาดการณ์ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนต่างด้าวประมาณ 4.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 1 ล้านคนที่เข้าสู่ระบบทะเบียน และคาดว่าแต่ละปีจะมีเด็กเกิดใหม่ราวๆ 5-6 หมื่นราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ไม่ได้รับการแจ้งเกิดประมาณ 1 หมื่นราย