ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากอยากให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลปลอดภัย ต้องยกเครื่องระบบรับรองคุณภาพใหม่ การวัดมาตรฐาน ไม่ควรให้ไม้บรรทัดเดียวกัน

ระบบรับรองคุณภาพสถานพยาบาลหรือที่รู้จักกันว่า Hospital Accreditation[1] (ในบทความต่อจากนี้จะกล่าวถึงโดยใช้ตัวย่อ HA จากทับศัพท์ภาษาอังกฤษ) คือ กลไกเพื่อประเมินระบบงาน รับรองคุณภาพของสถานพยาบาล รวมถึงกำหนดมาตรฐานของสถานพยาบาลเพื่อใช้เป็นแนวทางการประเมินและรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล เป็นการประเมินทั้งจากองค์กรของตัวเอง และจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในบทความเรื่อง “หากอยากให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลปลอดภัย ต้องยกเครื่องระบบรับรองคุณภาพใหม่ (To keep patients safe in hospitals, the accreditation system needs an overhaul)” โดย สตีเฟน ดักเคนท์ (Stephen Duckett) ผู้อำนวยการแผนกสุขภาพจากสถาบันแกรทัน (Grattan Institute) ประเทศออสเตรีย เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ The Conversation เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่า ระบบ HA ในประเทศออสเตรเลียกำลังมีปัญหาและจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลง

การวัดมาตรฐาน ไม่ควรให้ไม้บรรทัดเดียวกัน

เหตุสำคัญที่ทำให้ดั๊กเคนท์ออกมากล่าวเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเขามองว่า การวัดมาตรฐานสถานพยาบาลที่มีความหลากหลายไม่ควรมาจากแบบประเมินจากส่วนกลางเพียงแบบเดียว กล่าวคือการนำนโยบายหรือมาตรการในลักษณะ 'one-size-fits-all' เกณฑ์ประเมินเดียวจากส่วนกลางก็ไม่อาจใช้ได้กับสถานพยาบาลทั้งประเทศเช่นกัน แต่ควรมาจากการระบุและประเมินจากจุดอ่อนและจุดแข็งเฉพาะของแต่ละโรงพยาบาลมากกว่า โดยดั๊กเคนท์อธิบายระบบการประเมิน HA ในออสเตรเลียว่า

“40 ปีที่แล้ว ทุกโรงพยาบาลถูกคาดหวังว่าจะต้องถึงค่าเฉลี่ยมาตรฐานของ HA ที่กำหนดขึ้นจากองค์กรอิสระ เจ้าหน้าที่จะเข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาลเพื่อประเมินผล จากนั้นทำรายงานซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นความลับ และส่วนใหญ่ทุกโรงพยาบาลจะผ่าน ‘การรับรอง’

“ทุกวันนี้ กระบวนการประเมินมาตรฐาน HA ต่างๆ ยังคงเป็นวิธีการแบบเดียวกัน แม้จะเซ็ตมาตรฐานให้ดีขึ้นกว่าเดิมและมีการรายงานที่ดีขึ้น แต่โรงพยาบาลออสเตรเลียยังไม่มีส่วนใดเปลี่ยนแปลงไปจาก 40 ปีที่แล้วเลย”

น่าสนใจกว่านั้น ดั๊กเคนท์มองว่ากระบวนการตรวจสอบและประเมินผลของ HA ด้วยวิธีการดังกล่าวไม่ควรนำมาใช้กับทุกการตรวจประเมิน กล่าวคือกระบวนการ HA ในลักษณะที่ปกปิดเป็นความลับเช่นนี้อาจกลายเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยและไม่เกิดประโยชน์ต่อสถานพยาบาลที่ถูกประเมินว่า ‘ต่ำกว่ามาตรฐาน’ กล่าวคือ พวกเขาจะไม่มีทางได้รับรู้ ปรับปรุงและแก้ไขเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ก้าวมาอยู่ใน ‘ระดับมาตรฐาน’ ได้เลยหากข้อมูลต่างๆ ยังถูกปกปิด ซ้ำยังไม่ได้รับคำแนะนำว่าหากไม่ผ่านแล้วต้องทำเช่นไร เช่น การควบคุมการติดเชื้อ (infection control) ซึ่งการติดเชื้อเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้มีการสูญเสียงบประมาณมากถึง 1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปี

“เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบระหว่างโรงพยาบาลที่มีอัตราการติดเชื้อสูงกับอัตราการติดเชื้อต่ำโดยมีกระบวนการทำงานเหมือนกัน เข้ามาอ่านข้อมูลเอกสารต่างๆ สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง จากนั้นทั้ง 2 โรงพยาบาลถูกประเมินว่าได้รับการรับรองหรือไม่ ซึ่งวิธีการนี้ โรงพยาบาลที่มีการติดเชื้อสูง จะไม่ได้เรียนรู้จากโรงพยาบาลที่บริหารจัดการการติดเชื้อในโรงพยาบาลดีๆ เลย” ดั๊กเคนท์กล่าว

แล้วควรทำเช่นไร?

ในบทความดังกล่าว ดั๊กเคนท์เสนอแนวทางแก้ไขพร้อมอธิบายอย่างชัดเจนว่า ควรออกแบบมาตรฐานและกระบวนการทำงานของ HA เสียใหม่เพื่อตอบสนองสถานพยาบาลต่างๆ อย่างทั่วถึง ลงลึก ถูกจุดและครอบคลุมจุดอ่อนของแต่ละแห่งให้มากกว่าเดิม

โดยเขาเสนอให้ทุกโรงพยาบาลไม่ว่าจะอยู่ในสังกัดภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม จำเป็นต้องส่งมอบข้อมูล (data) ของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นอัตราผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน (Complication rates) หรือ ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลของพวกเขาเอง พร้อมกันนั้น ยังเสนอต่อว่าข้อมูลต่างๆ จำเป็นต้องลงรายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อให้โรงพยาบาล คลินิกหรือหน่วยต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ร่วมกันพัฒนาแผนและออกแบบไปสู่มาตรฐานร่วมกันที่ดีกว่าเดิม

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ดั๊กเคนท์อธิบายกระบวนการดังกล่าวออกมาเป็นแผนวงจรดังต่อไปนี้:

เริ่มจาก จัดหาข้อมูลให้โรงพยาบาล – โรงพยาบาลร่วมกันวางแผนการดำเนินงาน – ผู้พิจารณา (reviewer) จากภายนอกหารือร่วมกับฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่อาวุโสเกี่ยวกับแผนการดำเนินงาน – เผยแพร่รายงานและเอกสาร

ดั๊กเคนท์อธิบายว่าขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องประหยัดค่าเสียเวลา ทั้งยังเป็นการกระจายข้อมูลเพื่อลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยให้กับสถานพยาบาลเพิ่มขึ้น กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ HA ไม่จำเป็นต้องจัดตารางเวียนเพื่อตรวจสอบทุกสถานพยาบาลใหม่ทุกรอบ แต่สถานพยาบาลต่างๆ จะทำการตรวจสอบด้วยตัวเองผ่านแผนดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างกระบวนการมาตรฐานความปลอดภัยได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนั้น ดั๊กเคนท์ยังเสนออีกว่า ในการรายงานสำรวจแต่ละครั้งต้องเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวพวกเขาสามารถพิจารณาเลือกสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อการรักษาพวกเขาด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วเขาเน้นย้ำว่า วิธีการดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืนและจำเป็นต้องได้รับการทดสอบและประเมินผลถึงความสำเร็จของกระบวนการดังกล่าว ก่อนลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้งเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรม ทำความเข้าใจร่วมกันทั้งทางสถิติและการวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

“ยิ่งพวกเราเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าไร ชาวออสเตรเลียก็จะได้รับการบริการรักษาพยาบาลที่ดีและเร็วมากขึ้น” ดั๊กเคนท์ทิ้งทาย

ที่มา: To keep patients safe in hospitals, the accreditation system needs an overhaul