ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคเท้าช้าง หรือที่เรียกว่า “ฟิลาเรีย” (Filaria) เป็นโรคติดต่อที่เก่าแก่มากโรคหนึ่ง เชื่อว่าเกิดขึ้นมากกว่า 2-3 พันปีก่อนคริสกาล โดยสันนิษฐานจากภาพที่สุสานในประเทศอียิปต์ คำว่า “ฟิลาเรีย” แปลว่า พยาธิเส้นด้าย

ในประเทศไทยโรคฟิลาเรีย รู้จักกันในชื่อ “โรคเท้าช้าง” จากคำบอกเล่าของนายแพทย์ฉันทกรณ์ ชุติดำรง อดีตผู้อำนวยการกองโรคเท้าช้าง คนที่ 4 ได้เล่าที่มาของคำว่า “โรคเท้าช้าง” ให้นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ซึ่งขณะนั้น นายแพทย์สุวิช เพิ่งเข้ารับราชการ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา) ว่า ในปี พ.ศ. 2492 จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านมาตรวจราชการภาคใต้ ระหว่างเติมน้ำ เติมไม้ฟืนรถไฟ ที่สถานีชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านเห็นแม่ค้าอ้อยควั่นขาโตมาก จึงถามกรมการเมืองที่มาต้อนรับว่า “เขาเป็นอะไร” กรมการเมืองนึกไม่ทัน จึงตอบไปว่า “โรคเท้าช้างขอรับ” จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคเท้าช้าง” นับแต่นั้นมา

เพื่อมิให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศ จอมพล ป.พิบูลสงครามจึงสั่งการให้กรมการสาธารณสุข (ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย) สำรวจว่ามีใครขาโตบ้าง ซึ่งพบมากในแถบภาคใต้ จึงได้ประสานกับองค์การอนามัยโลกดำเนินการสำรวจโรคเท้าช้างแบบสากล ใน 8 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง ตรัง ระนอง ยะลา สุราษฎร์ธานี และปัตตานี นับว่าเป็นการสำรวจโรคเท้าช้างครั้งแรกในประเทศไทย พบผู้ป่วยที่มีเชื้อ Brugia malayi มากถึง 2,712 ราย

ปัจจุบัน ปัญหาโรคเท้าช้างลดลงมาก จนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข แต่ยังคงพบได้บ้างในเขตจังหวัดชายแดนใต้ องค์การอนามัยโลกได้ยกย่องประเทศไทยว่าดำเนินการควบคุมโรคเท้าช้างได้สำเร็จดีมาก ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะกวาดล้างโรคเท้าช้างให้หมดไปจากประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2563

เก็บความจาก

สถาบันวิจัยจัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค. (2560). ก้าวสู่ 1 ศตวรรษงานป้องกันควบคุมโรค. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, หน้า 80-85.

เจาะเลือดหาพยาธิโรคเท้าช้างในเวลากลางคืน

ให้ความรู้โรคเท้าช้างแก่เด็กนักเรียนและประชาชน