ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ประกาศยกย่องสุดยอดผู้นำท้องถิ่น 140 คน และ 75 สุดยอดชุมชนท้องถิ่น สร้างเสริมสุขภาวะชุมชน หวังให้เป็นผู้นำทั้งความคิดและปัญญา เป็นตัวอย่างที่ดีในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะ เชื่อหากได้ผู้นำดี ชุมชนย่อมเข้มแข็ง ทำให้ประเทศเกิดความมั่นคง

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ประกาศรายชื่อ “สุดยอดชุมชนท้องถิ่น” และ “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น” สร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ซึ่งคัดเลือกผู้นำชุมชนจากชุมชนต่างๆ จากทั่วประเทศ ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พร้อมทั้งประกาศสัตยาบัน “ผู้นำชุมชนท้องถิ่น” นำโดยนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 145 แห่ง กับศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) ศูนย์ประสานงานเฉพาะประเด็น (ศปง.) และสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือ

นายสมพร กล่าวว่า การพัฒนาสุขภาวะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานของประเทศ ดั่งแนวคิดองค์เจดีย์ หากฐานของเจดีย์มีความเข้มแข็ง องค์เจดีย์ก็มีความมั่นคงแข็งแรง เช่นเดียวกับประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้กระจายอำนาจบริหารสู่ท้องถิ่นนำมาซึ่งการเกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า 7,000 แห่ง หากทำให้ท้องถิ่นทุกแห่ง มีความเข้มแข็งย่อม ทำให้ประเทศเกิดความมั่นคง

ทั้งนี้แนวคิดในการพัฒนาสุขภาวะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มุ่งให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้กันเองในเชิงลึกมากกว่าการไปพาไปศึกษาดูงาน ซึ่งไม่เกิดผลเท่าไหร่ ขณะเดียวกันท้องถิ่นที่มีความพร้อมจะต้องยกระดับสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้

“สิ่งสำคัญของการพัฒนาสุขภาวะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คือต้องสร้างผู้นำในชุมชน เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้นำ ซึ่งจะต้องนำทั้งความคิดและปัญญา ชาวบ้านให้การยอมรับ ศรัทธา และเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติจนเกิดผล การขับเคลื่อนภาระกิจด้านสุขภาวะจึงจะประสบผลสำเร็จ” นายสมพร กล่าว

ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากการทำงานของเครือข่ายมาระยะหนึ่งแล้ว เราได้คัดเลือกชุมชนและท้องถิ่นที่มีผลงานโดดเด่นสำเร็จเป็นรูปธรรม จาก 2,000 ตำบล คัดกรองจาก 789 ตำบล ในครั้งแรกนี้ ได้“สุดยอดชุมชนท้องถิ่น” จำนวน 75 ตำบล และ “สุดยอดผู้นำท้องถิ่น” จำนวน 140 คน ซึ่งทั้งหมดมีความเป็นผู้นำทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ โดยทุกคนได้ทำงานในบทบาทต่างๆ มาแล้วจนทุกคนยอมรับ พร้อมเป็นตัวอย่างให้คนในชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้ ทางเครือข่ายฯ เชื่อมั่นว่าเมื่อสุดยอดผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากสังคมแล้ว ก็จะเกิดความภูมิใจ มีกำลังใจและความกระตือรือร้นในการขับเคลื่อนงานชุมชนมากขึ้น

สำหรับคุณลักษณะของสุดยอดผู้นำ มีดังนี้ 1.คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน2.มีความตั้งใจ เอาใจใส่ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ 3.มีความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ 4.มีคุณธรรม (ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ขัดต่อศีลธรรม ประเพณี กติกา ข้อตกลง) มีจริยธรรม (ครองตน ครองคน ครองงาน) 5.ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม 6.มีการเรียนรู้และพัฒนางานด้วยข้อมูลที่เป็นความจริง และมีการนำใช้ข้อมูลในการพัฒนางาน

7.มีความคิดริเริม สร้างสรรค์ หาทางออก (มีอุดมการณ์ มีจินตนาการ วิเคราะห์) เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาไม่หยุดนิ่ง 8.มีการสร้างผู้นำรุ่นใหม่โดยการปลูกฝังจิตสำนึก การถ่ายทอดความรู้ 9.มีเครือข่าย (การสนับสนุนทั้งจากภายในและภายนอกพื้นที่) และ 10.มีรูปธรรม (เครื่องมือ เทคนิค วิธีการ รูปแบบ แนวทาง และแนวปฏิบัติ) หรือแบบอย่างของการทำงานและกิจกรรมที่เป็นผลดีต่อชุมชนและสังคม

ส่วนคุณลักษณะของ “สุดยอดชุมชนท้องถิ่น” เป็นการคัดเลือกจากชุมชนที่มีศักยภาพหลากหลายด้านรวมกัน เช่น ศักยภาพในด้านคน ด้านการบริหารจัดการ ด้านการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งคุณลักษณะอันหลากหลายนี้ ส่งผลให้เกิดพลังการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน