ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เดินหน้าขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนเกิด Health Literacy หรือความรอบรู้ด้านสุขภาพ ลุยจัดบริการปฐมภูมิภาพรวมของประเทศ ผ่านกลไก “พชอ.-รพ.สต.” ยัน คนไทยต้องไม่ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวทีอภิปราย “ความร่วมมือกับการพัฒนาระบบ UC” ภายใต้งานประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2561 ตอนหนึ่งว่า บทบาทของ สธ.ก็คือทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข และเกิดระบบสุขภาพที่ยั่งยืน โดยในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี มีการพูดถึงการปฏิรูประบบ สร้างความเข้มแข็ง สู่ความยั่งยืน เป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย

นพ.สุขุม กล่าวว่า การพัฒนาสุขภาพที่ดีของประชาชนเราต้องเน้นความตระหนักรู้ หรือความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) โดยสิ่งที่ สธ.ทำตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันโรค ระบบหมอครอบครัว ฯลฯ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบบริการที่ครบวงจรจากระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ไปจนถึงศูนย์ความเป็นเลิศต่างๆ ในระดับภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรม ผ่านการดำเนินงานของเขตสุขภาพ

นอกจากนี้ สธ.ยังได้มุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้และมีศักยภาพ มีสมรรถนะให้พอเพียง และสุดท้ายก็คือการธำรงให้อยู่ในระบบ โดยเหล่านี้คือยุทธศาสตร์สำคัญที่ สธ.ยึดมาโดยตลอด

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า จากการทำงานผ่านยุทธศาสตร์ในระยะ 20 ปีนี้ จุดเน้นในปี 2562 คือการจัดบริการปฐมภูมิโดยพิจารณาในภาพรวมระดับประเทศ ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หมอครอบครัว และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (พชอ.) ซึ่งจะทำงานเชื่อมโยงกัน เพื่อให้ประชาชนมีหมอที่อยู่ใกล้บ้านใกล้ใจ สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

นอกจากนี้ สธ.ยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบยา การใช้ยาที่สมเหตุสมผล แก้ไขปัญหาโรควัณโรค และการสร้างระบบฐานข้อมูลดิจิตัลในระดับประเทศผ่านการร่วมมือของ สธ. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อมูล องค์ความรู้ และการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ เช่น การผลิตกำลังคน การวิเคราะห์โรคที่กำลังเป็นปัญหา การพัฒนาระบบในอนาคต เช่น บล็อคเชน AI เพื่อให้การดูแลประชาชน

พร้อมกันนี้ สธ.ยังจะนำระบบดิจิตัลมาใช้ในการให้บริการ เช่น การลดเวลาการรอคอยผ่านระบบคิวต่างๆ ไปจนถึงการพัฒนา Green & Clean Hospital การมีนโยบายใช้ผักปลอดสารพิษในโรงพยาบาลทุกแห่ง ระบบฟาสแท็กในโรคสำคัญๆ ที่ยังเป็นปัญหา และการรับรองมาตรฐานคุณภาพของสถานพยาบาล เพื่อการันตีว่าประชาชนจะได้รับบริการในโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า ระบบการเงินการคลังเป็นอีกสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา เพื่อให้เกิดการบริการจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพประสิทธิผล โดยการบริหารจัดการนั้นได้ร่วมกับ สปสช.ในการดำเนินการ และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. เป็นเหตุให้โรงพยาบาลที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินมีจำนวนลดลง จากร้อยละ 6 เหลือเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

“เราได้คุยกับ สปสช.มาโดยตลอดเพื่อให้ได้จำนวน งบประมาณสนับสนุนโรงพยาบาลที่เหมาะสมและเพียงพอ แต่การเงินการคลังคงไม่ได้มองที่โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่เราต้องมองไปที่ประชาชนผู้ได้รับบริการต่างๆ ที่ต้องรอดพันจากภาวะล้มละลายได้ และต้องไม่ทำให้โรงพยาบาลล้มละลายแทน ดังนั้นเราต้องช่วยกันในการหาแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ” นพ.สุขุม กล่าว