ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติหรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพชาติแล้ว ให้ส่งกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่ง สนช.พิจารณาต่อไป ข้อสังเกตจากบางหน่วยงานระบุ ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อมีกฎหมายนี้แล้วประชาชนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการเสนอกฎหมายนี้อย่างไร

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ครม.มีมติอนุมัติและรับทราบเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ดังนี้

1.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตื สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2.รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายหลักด้านสุขภาพของประเทศและประชาชน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีเอกภาพและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งกำกับดูแลหน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ ที่มีการดำเนินการในระบบสุขภาพ ตลอดจนทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญาหาระบบสุขภาพในระดับประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างเอกภาพในทางนโยบายและยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมุ่งเน้นการกระจายการให้บริการภาครัฐ ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการที่มีคุณภาพให้ครอบคลุมและทั่วถึง ตลอดจนเป้นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการสาธารณสุขซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้มีการอภิบาลระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ระบบสุขภาพของประเทศมีเอกภาพการดำเนินงานด้านสุขภาพของทุกภาคส่วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติมี 45 คน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานคนที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานคนที่ 2 ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการและเลขานุการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นสำนักงานเลขานุการ กรรมการอื่นแบ่งตามสัดส่วน ดังนี้

โดยตำแหน่งจากหน่วยงานของรัฐ 12 คน, โดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่มีกฎหมายจัดตั้งเฉพาะด้านสุขภาพ 6 คน, จากสภาวิชาชีพ 9 คน, ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 คน, ผู้แทนภาคประชาสังคมและเอกชน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน

มีรายงานว่า ในการรับฟังความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานต่างๆ พบว่ามีหลายหน่วยงานที่มีความเห็นท้วงติง เช่น กระ ทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการมีจำนวนมากเกินไปอาจส่งผลต่อการปฏิบัติงานและสร้างภาระเบี้ยประชุม ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า การกำหนดให้คณะกรรมการเสนอแนะต่อ ครม.เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการทางการเงินหรือการคลังที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสุขภาพนั้น อาจกระทบต่อการบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินและเงินกองทุนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.แร่, พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือไม่ นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรียังเห็นว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีความคล้ายคลึงกัน ขณะที่สำนักงาน ก.พ.ร.มีความเห็นว่า ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อมีกฎหมายนี้แล้วประชาชนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการเสนอกฎหมายนี้อย่างไร