ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทางการอินเดียเปิดตัวโครงการสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ยากไร้โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย ยกเป็นโครงการสุขภาพโดยภาครัฐที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก สำหรับประชาชนราว 500 ล้านคน

The Washington Post รายงานว่า โครงการสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ยากไร้ซึ่งสื่อท้องถิ่นพากันขนานนามว่า ‘โมดิแคร์’ นี้ จะครอบคลุมการรักษาพยาบาลสำหรับประชาชนราว 500 ล้านคน ซึ่งนายจากัต ประกาช นัดดา รมว.สาธารณสุขอินเดียชี้ว่าโครงการอะยุชมันภารัต (ชื่อทางการ) (Ayushman Bharat) ถือเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของระบบสุขภาพอินเดีย

เป็นที่คาดว่าการมาถึงของโครงการเมดิแคร์จะได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามเนื่องจากปัจจุบันคนยากไร้ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของประชากรอินเดียยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐาน ซึ่งในอีกทางหนึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเป็นการเพิ่มภาระให้แก่สาธารณูปโภคด้านการรักษาพยาบาลของอินเดียซึ่งทุกวันนี้ก็มีผู้ป่วยล้นมืออยู่แล้ว

โครงการโมดิแคร์อุดหนุนค่ารักษาในโรงพยาบาลเป็นวงเงินสูงสุด 6,950 ดอลลาร์ (ราว 230,000 บาท) ซึ่งในอินเดียถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก นอกจากนี้ทางการอินเดียยังมีแผนเปิดศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะอีก 150,000 แห่งทั่วประเทศภายในอีก 2 ปีข้างหน้าโดยการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมตามหลักการแพทย์แผนโบราณ เช่น ส่งเสริมการเล่นโยคะเป็นประจำทุกวัน

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี

นพ.วิน็อด เค พอล ผู้ริเริ่มโครงการเผยว่า โครงการเมดิแคร์เป็นโครงการสุขภาพในแบบฉบับของอินเดีย และโครงการได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีซึ่งพร้อมทุ่มงบประมาณชนิดเท่าไหร่เท่ากันเพื่อให้โครงการลุล่วง เบื้องต้นทางการได้สำรองประมาณไว้แล้ว 484 ล้านดอลลาร์ (ราว 15,966 ล้านบาท) โดยที่กระทรวงการคลังพร้อมให้การสนับสนุนเพิ่มเติมหากร้องขอ

การปฏิรูปบริการสุขภาพในอินเดียถือเป็นภารกิจโหดหิน ข้อมูลจากปี 2553 รายงานว่าค่ารักษาพยาบาลทำให้ชาวอินเดียกลายสภาพเป็นคนยากจนถึงปีละกว่า 63 ล้านคน โดยมีสาเหตุจากการที่โรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพขาดแคลนทั้งบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือจนประชาชนต้องหันไปพึ่งบริการราคาแพงจากโรงพยาบาลเอกชน และบ่อยครั้งที่ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อเป็นค่ารักษาของตนเองหรือคนในครอบครัว

ในบ่ายวันหนึ่งเมื่อเดือนก่อนที่โรงพยาบาลซาฟดาร์จุงซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐในกรุงนิวเดลี มีชาวบ้านหลายสิบคนพากันปูเสื่อและผ้าพลาสติกนอนรออยู่ริมถนนนอกโรงพยาบาลระหว่างรอญาติรับการรักษาอยู่ด้านในโรงพยาบาล

โรงพยาลซาฟดาร์จุงกำลังประสบปัญหาขาดแคลนเตียง ทั้งแพทย์เองก็ต้องแบกภาระงานหนัก ทำให้บ่อยครั้งที่ต้องเลื่อนการผ่าตัดผู้ป่วยจากกำหนดเดิม

“เรานอนอยู่ตรงนี้มา 8 วันแล้วค่ะ” มามาตา เทวี คุณแม่ยังสาวซึ่งโดยสารรถไฟมากว่า 24 ชั่วโมงเพื่อพาลูกสาววัย 6 ขวบซึ่งดื่มน้ำยาทำความสะอาดมารักษายังโรงพยาบาล ถึงเด็กจะได้รับการรักษาแล้วแต่ก็ยังคงต้องได้รับการตรวจติดตามต่อ

“ตอนฝนตกเราก็หนีไปนอนตรงนั้น” เทวีกล่าวพลางชี้ไปที่ประตูด้านข้างซึ่งพอมีหลังคาคลุม

เทวีจ่ายเงินค่าเดินทางจากหมู่บ้านราว 60 ดอลลาร์ (ราว 1,950 บาท) บวกกับค่าอาหารอีกวันละ 3 ดอลลาร์ (ราว 97 บาท) ขณะที่สามีของเธอหาเงินได้เพียงวันละ 4 ดอลลาร์เท่านั้น (ราว 130 บาท)

“เราคงต้องทำงานใช้หนี้ไปอีกปีหรือสองปีล่ะค่ะ” เทวีกล่าว

โครงการโมดิแคร์จะเปิดโอกาสให้ลูกสาวของเทวีได้รับการรักษาฟรียังโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน นอกจากนี้โรงพยาบาลรัฐ (เช่นโรงพยาลซาฟดาร์จุง) ก็จะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมตามจำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรับเข้ารักษาภายใต้โครงการโมดิแคร์ ซึ่งหมายความว่าโรงพยาบาลจะมีเงินพอสำหรับปรับปรุงสาธารณูปโภคของตนเอง

แม้ผู้เชี่ยวชาญติงว่าโครงการโมดิแคร์เน้นไปที่การอุดหนุนค่ารักษาจากการนอนโรงพยาบาลมากเกินไปโดยที่มองข้ามบริการสุขภาพปฐมภูมิอันเป็นรากฐานของระบบสุขภาพ แต่ นพ.พอลยืนยันว่าทางการอินเดียให้ความสำคัญต่อบริการปฐมภูมิ โดยจะส่งเสริมให้พยาบาลและแพทย์แผนโบราณได้รับการฝึกอบรมเพื่อยกระดับความสามารถซึ่งรวมถึงการวินิจฉัยโรคภายใต้การให้คำปรึกษาจากแพทย์ นอกจากนี้ทางการจะส่งเสริมการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพในประเด็นต่างๆ เช่น โภชนาการ

นพ.พอลยอมรับว่าโครงการนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่เชื่อว่าจะสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และย้ำว่า บริการสุขภาพเพื่อผู้ยากไร้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วนทำให้ไม่สามารถรอจนกว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์

อีกด้านหนึ่งมีเสียงท้วงว่าแม้ทางการอุดหนุนบริการรักษาพยาบาลทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการแล้วราว 15,000 แห่ง แต่เงินอุดหนุนดังกล่าวต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายตามจริงของโรงพยาบาลเอกชน ขณะที่โรงพยาบาลซึ่งสามารถรองรับการผ่าตัดซับซ้อนก็ยังเข้าร่วมโครงการน้อยมาก และที่โรงพยาบาลเอกชนยอมเข้าร่วมโครงการก็เพราะทางการอินเดียให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนและปรับอัตราเงินอุดหนุนในปีหน้า

นพ.พอลทิ้งท้ายว่าโครงการนี้เป็นเพียงก้าวแรกของการขยายบริการสุขภาพที่เข้าถึงได้สำหรับประชากรอินเดียกว่า 1,300 ล้านคน และทางการอินเดียพร้อมเผชิญความยากลำบากเพื่อที่ผู้ป่วยรากหญ้าจะสามารถเข้าถึงการรักษาโดยถ้วนหน้า

ขอบคุณที่มา India launches ‘Modicare,’ the world’s biggest government health program: The Washington Post